"ความอ้วน" คือสิ่งที่สาวๆ หลายคนทั้งเกลียดทั้งกลัว แถมยกให้เป็น "ศัตรูหมายเลขหนึ่ง" ของความงามแบบฉบับสากลในยุคนี้ บางคนเลือกที่จะหลีกไกลความอ้วนด้วยการจำกัดปริมาณอาหาร บางคนที่มีวินัยและสนใจดูแลสุขภาพเลือกวิธีพื้นฐานที่สุดแต่ได้ผลดีที่สุดนั่นคือการออกกำลังกาย แต่ก็ยังมีผู้หญิงจำนวนไม่น้อยที่เลือก "กาแฟลดความอ้วน" เป็นคำตอบสุดท้ายเพื่อหุ่นเพรียวสวย
นพ.นรังสันต์ พีรกิจ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้ปรากฎการณ์การแห่บริโภคกาแฟลดความอ้วนของคนไทยว่า กาแฟประเภทนี้มีมานานแล้ว และขึ้นทะเบียนตำรับอาหารในประเภทอาหาร ซึ่งการขอขึ้นทะเบียนอนุมัติประเภทนี้อย.มักจะให้ความสะดวกแก่เจ้าของผลิตภัณฑ์อยู่แล้ว ระเบียบและขั้นตอนการขอไม่ยุ่งยากและมักจะอนุมัติมาตลอด ซึ่งกาแฟก็ถือเป็นสิ่งที่คนไทยนิยมบริโภค ดังนั้นการขอขึ้นทะเบียนกาแฟเหล่านี้จึงเป็นไปอย่างราบรื่นและรวดเร็ว
“ปัญหามันอยู่ที่การโหมโฆษณาและการโหมทำการตลาดของผลิตภัณฑ์เหล่านี้ ที่ต้องการเพิ่มมูลค่าและต้องการเป็นที่สนใจ เตะตาแก่ผู้บริโภค จึงเพิ่มทางเลือกในการจูงใจเปลี่ยนกาแฟธรรมดาๆ ที่ดื่มกันทุกเช้าให้กลายเป็นกาแฟพิเศษที่มีความต่างออกไป”
รองเลขาธิการอย.อธิบายต่อไปว่า เป็นข้อจำกัดของอย.อยู่มากเหมือนกันที่การตรวจหาสารต่างๆ ที่ผสมอยู่ในผงกาแฟที่ถูกโฆษณาว่าเป็นกาแฟลดความอ้วน เนื่องจากอย.ยังไม่มีกฎการตรวจสอบส่วนผสมอย่างละเอียด ทุกวันนี้การตรวจสอบส่วนผสมจึงเป็นไปในลักษณะของการขอร้องผู้ผลิต ให้แจ้งส่วนผสมให้ถูกต้องกับที่ผสมลงไปในผลิตภัณฑ์ แล้วใช้วิธีสุ่มตรวจเป็นชนิดๆ ไป ซึ่งทำให้การตรวจสอบไม่ละเอียดและไม่ทั่วถึง
“ขณะนี้กำลังผลักดันประกาศเพิ่มเติมเกี่ยวกับส่วนผสมของผลิตภัณฑ์และฉลาก ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้เวลาพอสมควรแต่เราจะพยายามให้เร็วที่สุด ช้าไม่ได้ ตั้งใจไว้ว่าจะต้องให้เสร็จและประกาศออกมาไม่เกินปีหน้า”
นพ.นรังสันต์ย้อนกลับมาเล่าเกี่ยวกาแฟลดความอ้วนต่อไปอีกว่า ปัญหาที่อย.ต้องเร่งจัดการและขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างดำเนินคดีอยู่ 40 คดี คือปัญหาการโฆษณาเกินจริงของผลิตภัณฑ์กาแฟประเภทนี้
"มันเป็นเรื่องของการตลาดที่ต้องการจะขายสินค้าให้ได้มากขึ้นและให้ได้ราคาแพงขึ้น ผู้ผลิตจึงจับเทรนด์ความไม่ต้องการแก่ ไม่ต้องการอ้วน ไม่ต้องการให้ผิวและใบหน้าเหี่ยวย่นของสาวๆ ในยุคนี้ จึงได้ใช้จุดนี้เพื่อโฆษณาชักจูงให้เชื่อว่าดื่มแล้วไม่อ้วน ดื่มแล้วจะเต่งตึงเพราะในผลิตภัณฑ์ได้ผสมผงคอลลาเจนลงไปบ้าง หรือทำให้อิ่มเร็วโดยไม่ต้องรับประทานอะไรเพิ่มหลังจากดื่มกาแฟประเภทนี้เนื่องจากมีไฟเบอร์หรือใยอาหารบ้าง ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นการโฆษณาเกินจริงและผิดกฎหมาย”
และเมื่อพูดถึงประเด็นการโฆษณาของกาแฟประเภทนี้ สาวๆ ที่กำลังบริโภคกาแฟชนิดนี้อยู่หรือกำลังสนใจอยากลองดูคงจะสงสัยว่าภายในกาแฟลดความอ้วนนี้มีอะไรบ้าง รองเลขาธิการอย.ให้ความกระจ่างในข้อสงสัยนี้ว่า เท่าที่อย.สุ่มตรวจกาแฟลดความอ้วนในท้องตลาดเมืองไทย ยังไม่พบสารที่อวดอ้างว่าลดความอ้วนได้แต่อย่างใด
“3 ข้อที่เราตรวจเป็นพิเศษในกาแฟเหล่านี้คือสารลดความอ้วน,สารเพิ่มสมรรถภาพทางเพศและสารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ที่เราเจอก็คือสารเพิ่มสมรรถภาพทางเพศที่เป็นข่าวไปเมื่อช่วงต้นปี แต่ในกาแฟลดอ้วนนั้นเรายังไม่พบสารลดความอ้วนตัวใดๆ และพบว่าส่วนใหญ่หลายยี่ห้อเติมสารให้ความหวานตัวอื่นแทนน้ำตาลเท่านั้น ก็เหมือนเราชงกาแฟแล้วเติมน้ำตาลเทียม แต่ราคากาแฟพวกนี้แพงกว่ากาแฟธรรมดามาก ผมว่าดื่มเอารสชาติก็พอได้ แต่มันไม่ได้ลดอ้วนจริงๆ หนทางการลดความอ้วนจริงๆ ชื่อว่าทุกคนทราบในเชิงทฤษฎี คือออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ เลือกกินอาหารมีประโยชน์การใช้ทางลัดมาดื่มกาแฟที่โฆษณาลดความอ้วนนั้น ผมคิดว่าเป็นการสิ้นเปลืองที่ไร้ประโยชน์และไม่ได้ผล”
นพ.นรังสันต์กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า อยากวิงวอนให้ผู้บริโภคทั้งหลายใส่ใจคำเตือนของอย.สักนิดเพื่อผลประโยชน์และความปลอดภัยของตัวท่านเองและหากไม่แน่ใจในสิ่งที่จะรับประทานเข้าไปว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยหรือไม่ สามารถติดต่อสอบถามมายังอย.ได้ ผ่านสายด่วนอย.1556
"อยากฝากผ่านสื่อมวลชนไปยังประชาชนผู้บริโภคทั้งหลายด้วยว่า โปรดระวังสินค้าประเภทที่ไม่รู้ที่มาที่ไป ไม่รู้ชื่อผู้ผลิต ไม่รู้แหล่งผลิต มีการโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณว่าดีมากๆ จนน่าสงสัย สินค้าประเภทไดเร็กเซลหรือขายตรงที่มาจากพ่อค้าขาจรที่บอกว่าเป็นการนำเข้าแบบต่อๆ กันมาซึ่งปัจจุบันมีเยอะขึ้นเรื่อยๆ รวมไปถึงสินค้าที่ลดแลกแจกแถมจนน่าผิดสังเกต ซึ่งหากท่านพบเห็นสินค้าประเภทนี้ หรือต้องการจะซื้อและไม่แน่ใจในสรรพคุณหรือความปลอดภัย อยากให้ติดต่อสอบถามมายังอย. เรายินดีจะให้คำปรึกษา และโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ผมอยากย้ำมากๆ คืออยากให้ผู้บริโภคใส่ใจคำเตือนต่างๆ ที่ออกจากอย. ไม่ว่าจะเป็นการเตือนสินค้าอันตราย สินค้าปนเปื้อน สินค้าที่ประกาศห้ามมิให้ขาย เป็นต้น ทั้งนี้ก็เพื่อผลประโยชน์และความปลอดภัยของท่านเอง"
สำหรับในมุมของคนดื่มกาแฟลดความอ้วนอย่าง “ทิพย์” (นามสมมติ) หนึ่งในผู้บริโภคที่ดื่มกาแฟที่โฆษณาสรรพคุณว่าลดความอ้วนได้ยี่ห้อดังเปิดเผยประสบการณ์การดื่มกาแฟชนิดนี้ว่า รู้จักครั้งแรกราวๆ 6 ปีที่แล้ว สมัยเรียนมหาวิทยาลัย รู้จักเพราะอ่านจากนิตยสาร ประกอบกับเพื่อนๆ พูดคุยกับถึงเรื่องนี้ เนื่องจากกาแฟลดน้ำหนักถือเป็นของใหม่ ซึ่งเป็นธรรมดาที่อยากจะลอง
"กาแฟลดน้ำหนักจะมีลักษณะปรุงสำเร็จมาแล้ว คือฉีกซองแล้วใส่น้ำร้อนได้เลย ไม่ต้องปรุงเพิ่ม ส่วนข้างบรรจุภัณฑ์จะเขียนลักษณะว่ามีไฟเบอร์ มีส่วนผสมของโสม ช่วยดูดซับไขมัน ช่วยให้อิ่มเร็วขึ้น ตามฉลากที่แนะนำก็บอกให้ดื่มวันละ 4 ซอง ก่อนอาหารเช้า กลางวัน เย็น และก่อนนอน แต่บางคนก็ดื่ม 2 มื้อ คือ เช้า กับ เย็น อันนี้เป็นเหตุจากการประหยัดนะเพราะซองนึงตกประมาณ 10-15 บาท แล้วแต่ยี่ห้อ"
ทิพย์เล่าต่อไปอีกว่า หลังจากที่เธอลองดื่มประมาณ 1 เดือน ไม่ปรากฎความเปลี่ยนแปลงใดๆ น้ำหนักไม่ลดลง รอบเอวก็ยังเท่าเดิม แถมไม่ได้รู้สึกว่าอิ่มมากขึ้น ซึ่งไม่เหมือนกับที่โฆษณาเอาไว้ เธอจึงตัดสินใจเลิกบริโภคสินค้าชนิดนี้
เช่นเดียวกับ "โบ" หญิงสาวอีกรายที่มีประสบการณ์การดื่มกาแฟลดความอ้วน ที่ให้ข้อมูลว่า เริ่มดื่มมาตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยที่ไม่มีใครแนะนำ เป็นการซื้อมาดื่มเพราะอยากทดลองว่าได้ผลจริงหรือไม่ เพราะปกติเป็นคนที่ดื่มกาแฟทุกวันอยู่แล้ว
"ปกติดื่มกาแฟอยู่แล้วเป็นนิสัย ติดและต้องดื่มทุกวัน เมื่อไปเห็นโฆษณากาแฟลดความอ้วนแถมยังมีสารเสริมตัวอื่นๆ เช่นคอลลาเจน ทำให้คิดว่าในเมื่อดื่มอยู่แล้วก็น่าจะดื่มชนิดที่มีสารอื่นๆ ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย น่าจะดีกับสุขภาพมากกว่า แถมดื่มแล้วไม่อ้วนด้วย"
แต่ด้วยความที่เธอไม่ใช่คนดื่มกาแฟจัดมากนัก เพียงวันละ 1 ถ้วยต่อวัน ทำให้ไม่สามารถดื่มได้ตามที่ฉลากข้างบรรจุภัณฑ์ของกาแฟลดความอ้วนยี่ห้อที่ใช้อยู่ได้ครบทุกมื้อ เพราะในฉลากให้ดื่มเช้า กลางวัน เย็น เป็น 3 ถ้วยต่อวัน
"ดื่มไปแล้วรู้สึกว่าคาเฟอีนในกาแฟลดความอ้วนจะน้อยกว่ากาแฟปกติ คือดื่มแบบปกติจะค่อนข้างสดชื่นและหายง่วงมากกว่าดื่มแบบลดความอ้วน แต่ก็ยังไม่สามาราถดื่มได้วันละ 3 ถ้วยอยู่ดี ผลที่ได้ตลอด 1 ปีที่ดื่มคือทุกอย่างเท่าเดิม น้ำหนักไม่ลดลง ทุกวันนี้จึงดื่มบ้างไม่ดื่มบ้าง แล้วแต่ความอยากกาแฟ ไม่ได้สนใจว่ามันจะลดหรือไม่ลดอีกต่อไป" โบกล่าว