ท่ามกลางความวุ่นวายของสังคม ปัญหาต่างๆ นานา หลายสิ่งที่ต้องกังวลอยู่ตลอดเวลาและต้องแบกรับอยู่ทุกวัน ทำให้รู้สึกว่าชีวิตไม่มีความสุข มีแต่ความวุ่นวายใจ เกิดความเครียดและความทุกข์ตามมา ในวันนี้ M-Lite ขอเสนอวิธีง่ายๆ ที่หลายคนอาจมองข้าม
คุณพิทยากร ลีลาภัทร์ หรือ Aston 27 เจ้าของบล็อก http://aston27.bloggang.com และผลงานหนังสือชื่อ “ธนาคารแห่งความสุข” ทั้งสองเล่ม ซึ่งมีเนื้อหาแนวธรรมะร่วมสมัย นำเสนอแนวคิด มุมมองการมองโลกอย่างเป็นกลาง เพื่อเป็นแรงบันดาลใจ และให้หลักการใช้ชีวิตในโลกที่ยุ่งเหยิงด้วยการสอดแทรกการปฏิบัติธรรมในกิจวัตรประจำวันอย่างง่ายๆ
ปกติคุณพิทยากรเองก็ไม่ค่อยมีเวลาที่จะไปเข้าวัดหรือภาวนาให้จิตใจสงบเท่าใดนัก จึงมีหลักการที่ว่าอยู่บ้านก็ภาวนาได้ แม้แต่ในขณะขับรถไปทำงาน หรือขณะอยู่ในออฟฟิศเวลาที่ไม่ได้ใช้ความคิดในการทำงานหรือเวลาว่างก็สามารถใช้เวลาสั้นๆ นั้นภาวนา เช่น เมื่อรถติดไฟแดงที่มีระบบตัวเลขนับถอยหลัง ระหว่างรอก็สามารถกะเวลานั้นให้เกิดประโยชน์ หรืออย่างการเดินไปกินข้าวหรือชงกาแฟก็ยังสามารถทำสมาธิฝึกจิตได้เช่นกัน
“ในสังคมทุกวันนี้รู้สึกว่าธรรมะใกล้คนเราขึ้นเหตุจากธรรมชาติของมนุษย์แล้ว ในเวลาที่เรามีความสุขเราจะลืมธรรมะ เพราะรู้สึกว่าชีวิตมีความสุขอยู่แล้ว แต่ทุกวันนี้คนมีความทุกข์มากขึ้น กระแสจึงผวนกลับมาว่าทุกคนจะพยายามย้อนกลับไปหาทางที่เคยเชื่อกันว่าให้ความสุขได้นั่นก็คือ “ธรรมะ” ซึ่งสังเกตได้ว่าหนังสือที่ขายดีในช่วงนี้จะมีหนังสือธรรมะติดอันดับขายดีต้นๆ อยู่เยอะ ในขณะที่เมื่อก่อนจะมีพวกนิยายอยู่เยอะ หรือที่แย่กว่านั้นคือคนไม่ค่อยอ่านหนังสือเลย”
ตนเองที่อยู่กับครูบาอาจารย์คือหลวงพ่อปราโมทย์ มาก็เห็นความเปลี่ยนแปลงของจำนวนคนที่ไปฟังธรรม อย่างเมื่อก่อนจะมีคนไปฟังธรรมเพียง 5-10 คน แต่ในวันนี้มีเป็นร้อยเป็นพัน เห็นได้ชัดถึงความแตกต่าง เนื่องจากจริงๆ แล้วธรรมะไม่ได้อยู่ห่างหรือใกล้ตัวเราอย่างไร แต่ธรรมะอยู่รอบๆ ตัวเพราะธรรมะคือธรรมชาติ
“อยู่ที่ว่าเมื่อใดที่เรามองย้อนกลับมาดูตัวเอง ก็จะรู้ว่าธรรมะอยู่กับเราตลอดมา แต่เรามองข้ามไปมากกว่า ในเมื่อวันหนึ่งเราใช้ชีวิตไหลไปในทางโลกเรื่อยๆ เราจะยิ่งทุกข์ลง ทุกข์มากขึ้น”
ทุกวันนี้มีหลายคนที่ยังไม่เคยศึกษาหรือสนใจในธรรมะ ซึ่งกว่าจะเริ่มได้นั้นจำเป็นต้องมี “ศรัทธา” ต้องเห็นประโยชน์ก่อน คนเราต้องถึงที่จริงๆ เหมือนกับบอกว่า คนเราจะเห็นคุณค่าของยาอะไรสักอย่างก็ต่อเมื่อป่วย หากเกิดมาไม่เคยป่วยเลย ก็จะรู้สึกว่าโลกนี้ไม่จำเป็นต้องมียารักษาโรค หรือมองว่าไม่จำเป็นต้องดูแลสุขภาพเพื่ออะไร แล้วก็ใช้ชีวิตอย่างเดิมต่อไป
ส่วนการที่จะทำให้ธรรมะเข้าถึงบุคคลแต่ละวัยก็จะแตกต่างกัน อย่างเด็กๆ ซึ่งไม่ค่อยมีทุกข์ เพราะฉะนั้นธรรมะสำหรับวัยนี้จะเป็นแค่การปูพื้นฐานไว้สำหรับรองรับอนาคตอีกทีหนึ่ง ด้วยการพาไปวัดบ่อยๆ เกิดความคุ้นเคยกับพระสงฆ์องคเจ้า ได้ฟังธรรม สวดมนต์ไหว้พระ ทำบุญปล่อยนกปล่อยปลา สิ่งเหล่านี้จะสอนให้รู้จักการให้ มีจิตใจที่ดี เมื่อวันหนึ่งเด็กโตขึ้นเจอโลกที่ใหญ่ขึ้น ยุ่งยาก มีความทุกข์มากขึ้นก็จะมีความต้องการธรรมะที่มากขึ้นในอีกระดับหนึ่ง
รวมถึงหลักที่ว่า ของทุกอย่างมีเรื่องบุญเก่ามาเกี่ยวข้องด้วยส่วนหนึ่ง โดยลองสังเกตว่าทำไมคนหลายคนที่มีความทุกข์เท่าๆ กัน แต่บางคนให้หันหน้ามาหาธรรมะ บางคนหันหน้าไปหาทางโลก ไปดื่มเหล้าเมามาย หรือเสพยาโดยคิดว่านี่คือวิธีที่จะหาความสุข
“พวกนี้จะเกี่ยวข้องกับบุญเก่าส่วนหนึ่ง อย่างพี่ทำงานเผยแผ่ธรรมะ สมมุติชาตินี้พี่ยังไม่บรรลุอรหันต์ ยังต้องไปเกิดอยู่และหากเกิดมาเป็นคนอีกครั้งหนึ่ง แล้วก็จะทำให้รู้สึกอยากฟังธรรม อยากปฏิบัติธรรม ไปวัดหรือสนใจเรื่องธรรมะ”
นอกจากนี้ยังบอกด้วยว่า ธรรมะนั้นแก้ปัญหาเรื่องทุกข์ทางใจได้ทุกอย่าง แต่ธรรมะแก้ปัญหาทางโลกไม่ได้ทุกอย่าง เมื่อเจอปัญหาความขัดแย้งในสังคม ธรรมะจะช่วยให้คนเรามีความเมตตามากขึ้นได้ ให้อภัยได้ แต่ปัญหาทางโลกก็อาจต้องใช้การเจรจา แต่อย่างน้อยคนคน นั้นจะทุกข์น้อยลงและสามารถรับมือกับปัญหาต่างๆ ได้อย่างมีสติมากขึ้น