xs
xsm
sm
md
lg

สธ.ชงร่างประกาศคำเตือนภาพ-ข้อความข้างขวดเหล้า เชื่อภาคธุรกิจต้านหนัก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
สธ. ชงร่างประกาศ ติดภาพคำเตือนบนขวดเหล้า- เบียร์ ให้ "เสธ.หนั่น" เห็นชอบ หลัง "วิทยา" ไฟเขียวหนุนเต็มที่ ด้านเครือข่ายประชาชน เชื่อภาคธุรกิจต่อต้านอย่างหนัก

นพ.สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า ขณะนี้คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีนายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน ได้เห็นชอบร่างประกาศคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ว่าด้วย หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ฉลาก พร้อมทั้งข้อความคำเตือนสำหรับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ผลิตหรือนำเข้า พ.ศ. ... โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 26 (1) แห่งพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ซึ่งหากร่างประกาศฉบับนี้มีผลบังคับใช้ ประเทศไทยจะถือเป็นประเทศแรกของโลกที่มีภาพคำเตือนติดบนขวด กล่อง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการเสนอเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ ที่มีพล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ เป็นประธาน

นพ.สมาน กล่าวต่อว่า สำหรับร่างประกาศฯ ฉบับนี้มีสาระสำคัญคือ 1.ควบคุมฉลาก บรรจุภัณฑ์ ทั้งที่ผลิตในประเทศไทยและนำเข้า ต้องไม่มีข้อความลักษณะโฆษณาทั้งทางตรงและอ้อม ต้องไม่มีข้อความที่ทำให้เข้าใจว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีความปลอดภัยหรือมีผลดีต่อผู้บริโภค และกำหนดให้มีข้อความว่า “เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ห้ามจำหน่ายแก่บุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ ฝ่าฝืนมีโทษจำคุก 1 ปี ปรับ 20,000 บาท” โดยพิมพ์อยู่ด้านบนสุดของฉลากบรรจุภัณฑ์ จัดพิมพ์ตัวอักษรไทยสีขาว พื้นหลังเป็นสีดำ ข้อความคำเตือนต้องมีขนาดใหญ่ไม่น้อยกว่า 50% ของพื้นที่ฉลากทั้งหมด

นพ.สมาน กล่าวว่า 2.บนฉลากต้องมีภาพคำเตือนโทษ พิษภัยของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นรูปภาพ 4 สี จำนวน 5 แบบ จัดพิมพ์แบบละ 1,000 บรรจุภัณฑ์ ซึ่งเป็นแพบที่สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จัดให้เท่านั้น ประกอบด้วย ภาพเตือน 1.ดื่มสุราทำให้เป็นโรคตับแข็ง 2.ดื่มสุราแล้วขับขี่ ทำให้พิการ และตายได้ 3.ดื่มสุราทำให้ขาดสติและตายได้ 4.ดื่มสุราทำให้เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ 5.ดื่มสุราทำร้ายตัวเอง ทำลายลูกและครอบครัว และ6.ดื่มสุราเป็นตัวอย่างที่ไม่ได้ต่อเด็กและเยาวชน

“สำหรับบรรจุภัณฑ์ทรงสี่เหลี่ยม ให้มีพื้นที่ภาพคำเตือนไม่น้อยกว่า 50% ของพื้นที่บรรจุภัณฑ์แต่ละด้าน ส่วนบรรจุภัณฑ์ทรงกลม หรือทรงกระบอก หรือทรงอื่นๆ ให้มีพื้นที่ภาพคำเตือนไม่น้อยกว่า 30% ของพื้นที่บรรจุภัณฑ์ทั้งหมด และต้องติดภาพคำเตือนอย่างถาวรไม่ลอกหลุดง่าย และต้องไม่มีวัสดุอื่นใดมาปิดทับภาพคำเตือนด้วย” นพ.สมานกล่าว

นพ.สมาน กล่าวว่า 3.ควบคุมภาชนะ หากเป็นขวด ต้องมีปริมาณบรรจุสุทธิไม่น้อยกว่า 250 มิลลิลิตร หากเป็นกระป๋อง ไห ถุง หรือภาชนนะอื่นๆ ต้องมีปริมาณบรรจุไม่น้อยกว่า 300 มิลลิลิตร ผู้ฝ่าฝืนมีโทษ จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ เชื่อว่าภาพคำเตือนจะช่วยให้คนไทยลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลงได้

นายคำรณ ชูเดชา ผู้ประสานงานเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ กล่าวว่า เครือข่ายภาคประชาชนสนับสนุนนโยบายดังกล่าวอย่างเต็มที่ เพราะจะสามารถช่วยลดปริมาณนักดื่มหน้าใหม่ได้เป็นอย่างดี ส่วนผู้ที่เป็นนักดื่มอยู่แล้วคงไม่สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมได้มากนัก เพราะสาเหตุหนึ่งของการกลายเป็นนักดื่มหน้าใหม่ คือ การอยากลอง ทำให้บริษัทผู้ผลิตมีการคิดบรรจุภัณฑ์ให้สวยงาม น่าลองจูงใจกลุ่มเยาวชน วัยรุ่น การเปลี่ยนรูปแบบฉลากจึงเป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ขึ้น และเชื่อว่าจะสามารถลดปริมาณนักดื่มหน้าใหม่ได้อย่างแน่นอน

“เยาวชน และเครือข่ายป้องกันภัยแอลกอฮอล์ สนับสนุนมาตรการดังกล่าวอย่างเต็มที่ ซึ่งเชื่อว่าเรื่องดังกล่าวจะกระทบต่อบริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างแน่นอน ทำให้อาจจะมีการต่อต้านอย่างมาก เพราะเป็นเรื่องที่กระทบต่อภาพลักษณ์โดยตรง ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทน้ำเมาพยายามสร้างภาพของการดื่มเพื่อความสนุกสนาน สร้างเพื่อน ซึ่งขัดต่อการรณรงค์ที่ชูในเรื่องของพิษภัยจากการดื่ม ซึ่งรัฐบาลต้องมีความจริงใจจึงจะสามารถทำได้สำเร็จ”นายคำรณ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น