xs
xsm
sm
md
lg

ศรีปทุมโพลชี้รัฐบาลสอบตกดูแลคนพิการ จี้ พม.ต้องเร่งแก้ปัญหา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนในพื้นที่ กทม.ของศรีปทุมโพล พบประชาชนส่วนใหญ่อยากให้รัฐบาลเร่งปรับปรุงการให้ความช่วยเหลือคนพิการให้มากกว่านี้โดยเฉพาะบริการด้านสาธารณะต่างๆ จี้ พม.ร่วมรับผิดชอบ

ดร.ปิยากร หวังมหาพร ผู้อำนวยการสำนักวิจัย มหาวิทยาลัยศรีปทุม เปิดเผยว่า จากการสำรวจความคิดเห็นประชาชนในเขตกรุงเทพมหานคร(กทม.)จากกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 3,000 คน ในหัวข้อ “ความคิดเห็นประชาชนที่มีต่อคนพิการในสังคมไทย” เนื่องในโอกาสวันที่ 14 พฤศจิกายนของทุกปีตรงกับวันคนพิการแห่งชาติ ซึ่ง ได้สรุปผลการสำรวจได้ดังนี้

เมื่อถามการดูแลให้ความช่วยเหลือแก่คนพิการในสังคมไทยของรัฐบาลอยู่ในระดับใด ประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่า ยังไม่ดีพอต้องปรับปรุง ร้อยละ 69.63เห็นว่าเหมาะสมดีแล้ว ร้อยละ 30.30 และไม่แสดงความคิดเห็น ร้อยละ 0.07

ส่วนเรื่องความช่วยเหลือคนพิการ ประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่า ต้องช่วยให้เข้าถึงบริการสาธารณะต่างๆ ได้ทัดเทียมกับคนปกติ ร้อยละ 24.87 รองลงมา คือ ช่วยเหลือเรื่องเศรษฐกิจและปากท้องเป็นพิเศษ ร้อยละ 23.93, ช่วยให้ได้รับสิทธิในการรักษาพยาบาลที่ดีกว่าคนปกติจะได้รับ ร้อยละ 18.67, ช่วยให้ได้รับสิทธิที่เท่าเทียมกับคนปกติในทางกฏหมาย ร้อยละ 17.67, ช่วยเหลือเรื่องให้ได้รับการศึกษาที่เท่าเทียมกับคนปกติ ร้อยละ 14.60 และไม่แสดงความคิดเห็น ร้อยละ 0.27
ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
เมื่อนึกถึงคนพิการในสังคมไทยจะนึกถึงสิ่งใดก่อน ประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่าจะนึกถึงความไม่เท่าเทียมกันในการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันกับคนปกติ ร้อยละ 31.90 รองลงมา คือ การจำหน่ายฉลากกินแบ่งรัฐบาล ร้อยละ 28.83, ชื่อเสียงทางด้านการกีฬา ร้อยละ 21.97, ความสามารถในงานด้านศิลปะ ร้อยละ 17.07 และ ไม่แสดงความคิดเห็น ร้อยละ 0.23

สำหรับหน่วยงานของรัฐที่ต้องแสดงบทบาทในการดำเนินการเพื่อคนพิการมากที่สุด ประชาชนส่วนใหญ่ เห็นว่า กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร้อยละ 44.27 รองลงมา คือ กระทรวงสาธารณสุข ร้อยละ 22.73, กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ร้อยละ 21.60, กระทรวงศึกษาธิการ ร้อยละ 5.77, กระทรวงมหาดไทย ร้อยละ 2.80, กระทรวงคมนาคม ร้อยละ 2.23, และไม่แสดงความคิดเห็น ร้อยละ 0.60

ส่วนประเภทสื่อสารมวลชนที่ส่งเสริมสถานะและบทบาทของคนพิการมากที่สุด ประชาชนส่วนใหญ่ เห็นว่า โทรทัศน์ ร้อยละ 63.10 รองลงมา คือ วิทยุกระจายเสียง ร้อยละ 15.30, หนังสือพิมพ์ ร้อยละ 14.00, อินเทอร์เน็ต ร้อยละ 6.83, ไม่แสดงความคิดเห็น ร้อยละ 0.77

ด้านผศ.กิตติภูมิ มีประดิษฐ์ ผู้อำนวยการสำนักวิชาศึกษาทั่วไป มหาวิทยาลัยศรีปทุม ให้ความเห็นเพิ่มเติมในประเด็นนี้ว่า ประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่าการดูแลและให้ความช่วยเหลือแก่คนพิการของรัฐบาลชุดปัจจุบันยังไม่ดีเท่าที่ควร และยังให้ความคิดเห็นอีกว่ารัฐบาลควรเข้าไปช่วยเหลือแก่คนพิการเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะการช่วยให้คนพิการได้เข้าถึงบริการสาธารณะต่างๆ เช่น การใช้บริการระบบขนส่งมวลชนต่างๆ ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และทัดเทียมกับการใช้ชีวิตของคนปกติ รองลงมา ได้แก่ การให้ความช่วยเหลือในเรื่องเศรษฐกิจและปากท้องแก่คนพิการเป็นกรณีพิเศษ นอกจากนั้น การช่วยเหลือให้คนพิการได้รับสิทธิในการรักษาพยาบาลที่ดีกว่าคนปกติและช่วยเหลือให้ได้รับสิทธิที่เท่าเทียมกันในทางกฎหมายยังเป็นสิ่งที่ประชาชนทั่วไปอยากพบเห็น ส่วนประเด็นการช่วยเหลือเรื่องให้คนพิการได้รับการศึกษาที่เท่าเทียมกับคนปกตินั้นเป็นหัวข้อสุดท้ายที่ประชาชนทั่วไปอยากให้รัฐบาลเข้าไปช่วยเหลือ

ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความรู้สึกนึกคิดนั้น ประชาชนทั่วไปเมื่อนึกถึงคนพิการมักจะนึกถึงความไม่เท่าเทียมกันในการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับคนปกติมากที่สุดซึ่งอาจเกิดจากความรู้สึกแบบเดิมๆที่คนไทยยังมองว่าในสังคมปัจจุบันยังเป็นสังคมที่เห็นแก่ตัวและไม่มีความโอบอ้อมอารีแก่คนพิการ ประเด็นรองลงมาได้แก่การจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลซึ่งเรามักจะมองว่าเป็นอาชีพดั้งเดิมและเก่าแก่สำหรับคนพิการทั่วไปซึ่งในปัจจุบันอาชีพดังกล่าวกำลังถูกแย่งชิงโดยกลุ่มนายทุนและคนปกติและก่อให้เกิดปัญหาแก่ระบบโควตาสลากของคนพิการ ดังข่าวที่ปรากฏให้เห็นบนสื่อต่างๆ อย่างต่อเนื่องโดยลำดับ สำหรับชื่อเสียงทางด้านการกีฬาและศิลปะยังเป็นประเด็นรองที่คนไทยคิดถึงความสามารถพิเศษของคนพิการ

หน่วยงานของรัฐที่ประชาชนทั่วไปเห็นว่าควรเข้ามาแสดงบทบาทพิเศษเพิ่มมากขึ้นในการดำเนินงานเพื่อคนพิการ คือ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รองลงมาคือ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ซึ่งแสดงให้เห็นว่าประชาชนทั่วไปยังมองว่าการแก้ปัญหาขั้นพื้นฐานของคนพิการยังไม่ประสบผลสำเร็จดีเท่าที่ควรดังนั้นปัญหาขั้นพื้นฐานหรือคุณภาพชีวิตของคนพิการเช่น การดำเนินชีวิตของคนพิการ การรักษาพยาบาล และการประกอบอาชีพเพื่อหาเลี้ยงปากเลี้ยงท้องยังคงเป็นเรื่องจำเป็นในลำดับต้นๆ ของเจ้ากระทรวงทั้งสาม

สำหรับสื่อสารมวลชนที่ส่งเสริมสถานะและบทบาทของคนพิการมากที่สุดในสายตาของประชาชนทั่วไป คือ โทรทัศน์ รองลงมา คือ วิทยุกระจายเสียง ซึ่งยังเป็นสื่อพื้นฐานในชีวิตของคนไทยเมื่อเป็นเช่นนี้ รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายจึงต้องส่งเสริมและจัดทำสื่อสำหรับผู้พิการให้สามารถเข้าถึงหรือมีบทบาทในการรวมพลังในทางสร้างสรรค์สังคมให้เพิ่มมากขึ้น

สิ่งที่ประชาชนทั่วไปฝากไว้ในการสำรวจครั้งนี้ คือ สังคมไทยยังให้ความสำคัญและต้องการให้รัฐบาลเข้ามาดูแลและช่วยเหลือคนพิการให้มีความทัดเทียมและเสมอภาคกับคนปกติทั่วไป ความพิการทางร่างกายเป็นสิ่งที่ไม่น่ารังเกียจ และสร้างความเดือดร้อนให้แก่ประเทศชาติและประชาชนเลย แต่สังคมที่พิการและผู้บริหารที่ขาดธรรมาภิบาลกลับเป็นสิ่งที่น่ากลัวอย่างยิ่งสำหรับประเทศไทยในปัจจุบัน
กำลังโหลดความคิดเห็น