xs
xsm
sm
md
lg

ข้อบังคับแพทยสภาคุมวิจัยสเต็มเซลล์ใกล้คลอดใช้ปีหน้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
 “หมอสมศักดิ์” เผย ข้อบังคับแพทยสภาคุมวิจัยสเต็มเซลล์ใกล้คลอด เตรียมประกาศในราชกิจจานุเบกษาก่อนสิ้นปีนี้ มีผล 120 วันถัดไป หลังนักวิจัยโวยเหตุขัดขวางงานวิจัยทำให้ข้อบังคับล่าช้า ขณะที่สาระสำคัญให้วิจัยในคนได้ต้องผ่าน กก.วิจัยทั้งของสถานพยาบาลตัวเองและ กก.กลางของแพทยสภา

นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาร่างข้อบังคับเกี่ยวกับการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด กล่าวว่า ขณะนี้ร่างข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม ฉบับที่... พ.ศ. ... ว่าด้วยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเพื่อการรักษาโรคในคน ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการแพทยสภาชุดใหญ่เสร็จสิ้นแล้ว และได้เสนอให้นายวิทยาทราบแล้ว และเร็วๆ นี้ จะส่งข้อบังคับดังกล่าวลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้อีก 120 วัน 

“ก่อนหน้านี้ ทางภาคเอกชนไม่เข้าใจว่าร่างข้อบังคับดังกล่าวจะเป็นการขัดขวางการวิจัย ความก้าวหน้าด้านสเต็มเซลล์ในประเทศ เพราะมีคณะกรรมการกลางที่แพทยสภาตั้งขึ้นตรวจสอบงานวิจัยในคนที่เสนอเข้ามา เหมือนกับคณะกรรมการวัคซีนเอดส์แห่งชาติ ซึ่งถือว่าเป็นหลักเกณฑ์และมาตรฐานสากลที่ต้องดำเนินการ ต่างประเทศจะได้ไม่สามารถมาโจมตีเรื่องการรักษาสเต็มเซลล์ในไทยได้” นพ.สมศักดิ์ กล่าว


ศ.นพ.สุรพล อิสรไกรศีล
หัวหน้าสาขาวิชาโลหิตวิทยา ภาควิชาอายุศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า  คาดว่าข้อบังคับฉบับนี้ จะสามารถลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาภายในสิ้นปี 2552 และมีผลบังคับใช้ในต้นปี 2553 สำหรับเนื้อหาในร่างข้อบังคับดังกล่าว คือ ก่อนการวิจัยทดลองโดยมีการฉีดสเต็มเซลล์เข้าไปยังร่างกายคนไข้ จะต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการวิจัยในมนุษย์ของสถานพยาบาลนั้นๆ พร้อมกับต้องส่งเรื่องดังกล่าวมาให้คณะกรรมการกลางของแพทยสภาดำเนินการพิจารณาด้วย

ศ.นพ.สุรพล กล่าวว่า เหตุที่ล่าช้าเนื่องจากก่อนหน้านี้มีกระแสคัดค้านในเรื่องดังกล่าวว่าร่างข้อบังคับแพทยสภาที่จะมีผลบังคับใช้เป็นการขัดขวางความก้าวหน้าทางงานวิจัยเรื่องสเต็มเซลล์เพราะจะต้องผ่านคณะกรรมการหลายขั้นตอน แต่แท้จริงแล้วเป็นการดำเนินการเพื่อให้เกิดหลักเกณฑ์ระเบียบมาตรฐาน อีกทั้งไม่ได้ห้ามการวิจัย หากเป็นนักวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่แพทย์ และไม่มีการฉีดสเต็มเซลล์เข้าไปยังตัวคนไข้ ก็ไม่เข้าข่ายที่ร่างข้อบังคับดังกล่าวครอบคลุม แต่หากเป็นนักวิทยาศาสตร์วิจัยและฉีดในตัวคนไข้ แม้จะไม่เกี่ยวกับร่างข้อบังคับดังกล่าว แต่ถือว่าละเมิดต่อการประกอบวิชาชีพเวชกรรม ก็มีความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบวิชาชีพเวชกรรม

“ความจริงการออกข้อบังคับดังกล่าว ช่วยป้องกันไม่ให้ประเทศไทยเสียชื่อไปกว่านี้ ซึ่งหากเป็นการวิจัยก็ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับ แต่หากเป็นการรักษาข้อบังคับดังกล่าวก็ไม่ครอบคลุม แต่การนำสเต็มเซลล์มาใช้ในการรักษาที่ได้การยอมรับจากทั่วโลกแล้วมีเพียงโรคทางโลหิตวิทยาเท่านั้น นอกจากนี้ไม่ว่าจะเป็นการนำมารักษาโรคหัวใจ อัลไซเมอร์ ที่กำลังเป็นที่นิยมอยู่ในขณะนี้ ยังอยู่ในการวิจัยทั้งสิ้น” ศ.นพ.สุรพล กล่าว

ศ.แสวง บุญเฉลิมวิภาส ผู้อำนวยการศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคน คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า ขณะนี้สถานพยาบาลเอกชนไม่มีสิทธิในการวิจัยเรื่องใดๆ ในมนุษย์ทั้งสิ้น เนื่องจากสถานพยาบาลเอกชนมีหน้าที่ในการรักษา ไม่ใช่หน้าที่ในด้านวิชาการ อีกทั้งไม่มีกฎหมายใดๆ รองรับ

“สถานพยาบาลที่เป็นโรงเรียนแพทย์ยังมี พ.ร.บ.มหาวิทยาลัย โรงพยาบาลศูนย์ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ก็มีคณะกรรมการวิจัยในมนุษย์ของ สธ.เป็นผู้
พิจารณา แต่สถานพยาบาลเอกชนไม่มีกฎหมายใดรองรับ แต่กลับมีความพยายามวิจัยและยังเก็บเงินค่ารักษาพยาบาลระหว่างที่วิจัย โดยเฉพาะเรื่องสเต็มเซลล์ที่นำมารักษาโรคอื่นๆที่ไม่ใช่โรคทางโลหิตวิทยา” ศ.แสวง กล่าว

ศ.แสวง กล่าวด้วยว่า แม้ว่าจะร่างข้อบังคับจะมีผลบังคับใช้แล้ว สถานพยาบาลเอกชนจะก็ไม่เหมาะสมที่จะวิจัยในมนุษย์ โดยเฉพาะเรื่องสเต็มเซลล์อยู่ดี เนื่องจากไม่มีกฎหมายรองรับ ดังนั้นทางออกของปัญหานี้ คือ ร่าง พ.ร.บ.การวิจัยในคนที่จะเป็นกฎหมายภาพรวมทั้งประเทศ ซึ่งขณะนี้กรมการแพทย์อยู่ระหว่างการร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ซึ่งมีประเด็นสำคัญ คือ หน่วยงานที่ได้รับการรองรับด้วยกฎหมาย และมีการตั้งคณะกรรมการจริยธรรมขึ้นมาเพื่อพิจารณาอนุญาตการทำวิจัยในคน ฯลฯ
กำลังโหลดความคิดเห็น