xs
xsm
sm
md
lg

6 เดือนแรก ครัวเรือนทั่วไทยรายได้สูงกว่ารายจ่าย หนี้ยังเพิ่ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สำนักงานสถิติฯ เผยช่วง 6 เดือนแรกปี 2552 ครัวเรือนทั่วประเทศมีรายได้สูงกว่ารายจ่าย รายได้มาจากการทำงานมากสุด ขณะที่รายจ่ายส่วนใหญ่เป็นค่าอาหารเครื่องดื่มและค่าที่อยู่อาศัย ด้านหนี้สินเพิ่มขึ้น แต่ส่วนใหญ่เป็นหนี้ในระบบ

สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) รายงานผลสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2552 (ม.ค.-มิ.ย.) ว่า ด้านรายได้ครัวเรือนทั่วประเทศมีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 21,135 บาท ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 72.2 เป็นรายได้จากการทำงาน ได้แก่ ค่าจ้างเงินเดือน ร้อยละ 40.2 ทำธุรกิจร้อยละ 20 และทำการเกษตร ร้อยละ 12 และรายได้ที่ไม่ได้เกิดจากการทำงาน เช่น เงินช่วยเหลือจากรัฐ/บุคคลนอกครัวเรือน ร้อยละ 10.3 ดอกเบี้ย ร้อยละ 1.5 ขณะที่ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือนละ 16,255 บาท ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 33.5 เป็นค่าอาหารและเครื่องดื่ม ร้อยละ 20 เป็นค่าที่อยู่อาศัย ร้อยละ 17.5 เป็นค่าเดินทางและยานพาหนะ ร้อยละ 5.5 ใช้ส่วนบุคคล ร้อยละ 3.2 ค่าการสื่อสาร เป็นต้น

ด้านหนี้สิน พบว่าครัวเรือนที่เป็นหนี้สินมีร้อยละ 61.8 เฉลี่ย 133,293 บาทต่อครัวเรือน ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 68.8 เป็นการก่อหนี้เพื่อใช้ในครัวเรือน คือซื้อบ้าน/ที่ดิน ร้อยละ 36.3 อุปโภคบริโภค ร้อยละ 29.7 และหนี้เพื่อการศึกษาร้อยละ 2.8 ส่วนหนี้เพื่อทำการเกษตรและธุรกิจใกล้เคียงกันประมาณร้อยละ 14.8 ส่วนใหญ่เป็นหนี้ในระบบอย่างเดียวร้อยละ 82.9 หนี้นอกระบบอย่างเดียว ร้อยละ 7.4 และเป็นหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบร้อยละ 9.7 และพบว่าจำนวนเงินเฉลี่ยที่เป็นหนี้ในระบบสูงกว่านอกระบบถึง 21 เท่า (127,152 และ 6,140 บาท ตามลำดับ)

เมื่อเทียบรายได้ ค่าใช้จ่าย และหนี้สินต่อรายได้ปี 2543-2552 พบว่า ครัวเรือนทั่วประเทศรายได้เฉลี่ยมากกว่าค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการยังชีพ และพบว่ารายได้และค่าใช้จ่ายฯ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คือ รายได้เพิ่มจาก 12,150 เป็น 21,135 บาท และค่าใช้จ่ายฯ เพิ่มจาก 9,848 เป็น 16,255 บาท ตามลำดับ และเมื่อพิจารณาผลต่างของรายได้และค่าใช้จ่ายฯ ในปี 2552 พบว่ารายได้สูงกว่าค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการยังชีพ 4,880 บาทต่อครัวเรือน หรือประมาณ 1,479 บาทต่อคน ส่วนใหญ่ใช้ในการชำระหนี้ เช่น ค่าเช่าซื้อบ้าน/ที่ดิน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ภาพรวมครัวเรือนที่มีหนี้ มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นตามลำดับตั้งแต่ปี 2543-2547 จากร้อยละ 56.3 เป็น 66.4 แต่เริ่มมีแนวโน้มลดลงตั้งแต่ปี 2549 -2552 จากร้อยละ 64.4 เป็น 61.8 แต่จำนวนเงินที่เป็นหนี้มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่ปี 2543-2552 คือ จาก 68,405 เป็น 133,293 บาท

กำลังโหลดความคิดเห็น