xs
xsm
sm
md
lg

คนว่างงานเดือน ก.ค.ลดลง 7 หมื่นคน กลาง-อีสานว่างงานมากสุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบทางอินเทอร์เน็ต
สำนักงานสถิติฯ เผยตัวเลขคนว่างงานเดือน ก.ค.ลดลงจากเดือน มิ.ย. 70,000 คน ภาคกลาง-อีสานมีผู้ว่างงานมากสุด รองลงมาภาคเหนือ และใต้ ส่วนผู้มีงานทำเดือน ก.ค.เทียบช่วงเดียวกันของปี 2551 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 สาขาโรงแรม ภัตตาคาร ขายส่ง-ขายปลีก ขณะที่สาขาเกษตร-ก่อสร้างลดลง

สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) สำรวจภาวะการทำงานของประชากร ประจำเดือนกรกฎาคม 2552 พบว่า วัยแรงงานที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป มีจำนวน 52.85 ล้านคน เป็นผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน 39.29 ล้านคน ประกอบด้วย ผู้มีงานทำ 38.79 ล้านคน ผู้ว่างงาน 480,000 คน และผู้รอฤดูกาล 20,000 คน ส่วนผู้ที่อยู่นอกกำลังแรงงานมี 13.56 ล้านคน ในจำนวนผู้มีงานทำ 38.79 ล้านคนนี้ เมื่อเทียบกับจำนวนผู้มีงานทำช่วงเดียวกันกับปี 2551 มีงานทำเพิ่มขึ้น 590,000 คน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 โดยภาพรวมแล้วเพิ่มขึ้น แต่ลดลงในสาขาเกษตรกรรม 90,000 คน และสาขาก่อสร้าง 60,000 คน ส่วนสาขาที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ สาขาการโรงแรมและภัตตาคารมากที่สุด 260,000 คน รองลงมาสาขาขายส่งและขายปลีก 180,000 คน สาขาบริหารราชการแผ่นดิน 80,000 คน เป็นต้น

สำหรับจำนวนผู้ว่างงานในเดือนกรกฎาคม มีทั้งสิ้น 480,000 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 1.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีผู้ว่างงานลดลง 10,000 คน หรือลดลงร้อยละ 0.1 เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายนที่ผ่านมามีผู้ว่างงานลดลง 70,000 คน (จาก 550,000 คน เป็น 480,000 คน) หรือลดลงร้อยละ 0.2 ในจำนวนนี้เป็นผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อน 300,000 คน ซึ่งเป็นผู้ว่างงานจากภาคการผลิตมากที่สุด 140,000 คน ภาคบริการและการค้า 130,000 คน และภาคเกษตรกรรม 30,000 คน ส่วนผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อนมี 180,000 คน หากแบ่งเป็นกลุ่มอายุ พบว่ากลุ่มเยาวชนอายุระหว่าง 15-24 ปี เป็นกลุ่มที่มีการว่างงานค่อนข้างสูง ร้อยละ 4.6 กลุ่มวัยทำงานอายุ 25 ปีขึ้นไป ร้อยละ 0.7 ผู้จบระดับอุดมศึกษาว่างงานมากสุดร้อยละ 2.7 ระดับมัธยมต้นร้อยละ 1.9 ระดับมัธยมปลายร้อยละ 1

หากพิจารณาการว่างงานเป็นรายภาค ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นภาคที่มีจำนวนผู้ว่างงานมากที่สุด คือภาคละ 120,000 คน รองลงมาเป็นภาคเหนือ 110,000 คน ภาคใต้ 70,000 คน กรุงเทพฯ 50,000 คน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2551 พบว่าเกือบทุกภาคมีอัตราการว่างงานลดลง โดยภาคใต้ลดลงร้อยละ 0.4 ภาคกลางร้อยละ 0.3 ภาคอีสาน ร้อยละ 0.1 ส่วนกรุงเทพฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 ภาคเหนือร้อยละ 0.1
กำลังโหลดความคิดเห็น