กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เผยผลศึกษาพิษเฉียบพลันของใบมะรุม ระบุไม่ทำให้เกิดอาการพิษเฉียบพลัน ไม่พบความผิดปกติของอวัยวะภายในและไม่ทำให้หนูตาย ยืนยันการรับประทานผงใบมะรุมสารสกัดใบมะรุม ด้วยน้ำหรือน้ำชา เพื่อเสริมสุขภาพในระยะสั้นๆมีความปลอดภัยแน่นอน อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องเร่งศึกษาด้านมาตรฐานและคุณภาพทางเคมีรวมทั้งพิษเรื้อรังเพิ่มเติมเพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจในการใช้เสริมสุขภาพระยะยาวต่อไป
นพ.มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่าปัจจุบันผู้บริโภคนิยมรับประทานสมุนไพรมะรุมเพื่อบำรุงสุขภาพ โดยในท้องตลาด มีผลิตภัณฑ์ใบมะรุมจำหน่ายอย่างแพร่หลาย เช่น ประเภทแคปซูล ชาชง เป็นต้น สมุนไพรมะรุมนี้เป็นที่รู้จักของคนไทยมาตั้งแต่โบราณ บ้างก็รับประทานเนื้อในฝักและ เมล็ดเป็นอาหารโดยในตำราแผนโบราณของไทยระบุว่า เปลือกต้นใช้เป็นยาขับลมในลำไส้ รักษาแผลในปากและป้องกันอาการเมาสุราได้ บางประเทศใช้เป็นยาครอบจักรวาล
แต่จากรายงานทางวิทยาศาสตร์ พบว่า ใบมะรุมมีฤทธิ์น่าสนใจหลายประการ เช่นลดความดันโลหิตสูง ป้องกันพิษต่อตับที่เกิดจากสารคาร์บอนเตตระคลอไรด์ (carbontetrachloride) และยาต้านอักเสบชนิดไดโคลฟีแนก (diclofenac) ได้ดี ฤทธิ์ต้านการก่อมะเร็งที่เกิดจาก เอปสไตน์บาร์ ไวรัส (Epstein-Barr virus) สารสกัดโปรตีนจากใบมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียและต้านเชื้อรา นอกจากนี้ ผลมะรุมยังมีฤทธิ์ลดคอเลสเตอรอล และไขมันในเลือด
แต่ขณะนี้ยังไม่มีรายงานด้านความปลอดภัยของสมุนไพรมะรุม เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคและแจ้งเตือนภัยในการรับประทานสมุนไพรใบมะรุม เพื่อเสริมสุขภาพ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยสถาบันวิจัยสมุนไพรได้ศึกษาพิษเฉียบพลันของสมุนไพรมะรุมโดยเก็บตัวอย่างใบมะรุมจากสวนสมุนไพรกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จันทบุรี ตรวจสอบชื่อทางวิทยาศาสตร์ คือ Moringa oleifera Lam.นำมาเตรียมให้อยู่ในรูปผงละเอียดและสารสกัดมะรุม
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวต่ออีกว่า ผลการทดสอบพิษเฉียบพลัน ในหนูถีบจักร พบว่า ใบมะรุมที่ขนาด 5 กรัมต่อกิโลกรัม และสารสกัดใบมะรุม ขนาด 20 กรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งสูงกว่าขนาดที่คนรับประทานถึง 125 เท่า และ1300 เท่าตามลำดับ ไม่ทำให้เกิดอาการพิษเฉียบพลัน ไม่มีหนูตัวใดเสียชีวิต และไม่พบความผิดปกติของอวัยวะภายในทางมหพยาธิวิทยา (หรือระดับตาเปล่า)
ดังนั้น เบื้องต้นสรุปได้ว่าการรับประทานใบมะรุมเพื่อเสริมสุขภาพในระยะสั้นๆน่าจะมีความปลอดภัย อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องมีการศึกษาด้านมาตรฐานและคุณภาพทางเคมีรวมทั้งพิษเรื้อรังของใบมะรุมเพิ่มเติมต่อไปเพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจในการใช้เสริมสุขภาพระยะยาวต่อไป
นอกจากนี้ ขอแนะนำผู้บริโภคว่าการรับประทานอาหารหรือสมุนไพร มีทั้งคุณประโยชน์และโทษฉะนั้นไม่ควรรับประทานอาหารหรือสมุนไพรชนิดเดียวกันเป็นเวลานานๆ ซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายและผลข้างเคียงต่อร่างกายได้ โดยในวันหนึ่งๆ ควรเลือกรับประทานอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ และควรรับประทานให้พอเหมาะพอดีและหมุนเวียนไม่ซ้ำซาก เพื่อให้ได้สารอาหารที่ร่างกายต้องการอย่างครบถ้วน