“หมอเสรี” ชี้ หลักฐานชัด จัดสรรไม่ตรงความต้องการ-ครุภัณฑ์คุณลักษณะเกินจำเป็น รับไม่มีอำนาจสอบนักการเมือง-ข้าราชการเกษียณ ด้านแพทยชนบทผิดหวังคณะกรรมการ ไม่กล้าเปิดชื่อคนเอี่ยวโกง แต่ไม่เหนือความคาดหมาย เสนอ “หมอบรรลุ ศิริพานิช” เป็นคณะกรรมการคนนอก สอบเอาผิดตัวการใหญ่
นพ.เสรี หงษ์หยก ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การตรวจสอบทั้งจากหน่วยงานภายในและภายนอกกระทรวงสาธารณสุข ที่มีหลักฐานชัดเจนแบ่งเป็น 1.การจัดสรรไม่ตรงกับความต้องการกับพื้นที่ แบ่งเป็น 2 ประเด็น คือ พื้นที่ไม่ได้ขอแต่จัดส่งให้ คือ ยูวีแฟน จำนวน 800 เครื่อง และเครื่องตรวจสารเคมีในเลือด ราคา 3 ล้านบาท จำนวน 40 เครื่อง ซึ่งเครื่องดังกล่าวมีประสิทธิภาพในการตรวจผู้ป่วยได้ 300-400 รายต่อชั่วโมง ขณะที่โรงพยาบาลชุมชน มีขนาดเพียง 30-90 เตียง ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องที่มีคุณภาพสูงขนาดนี้ และได้สอบถามไปยังผู้ขาย ปรากฏว่า สามารถเช่าวางเครื่องได้โดยไม่ต้องซื้อ ซึ่งมีโรงพยาบาลที่ดำเนินในลักษณะนี้อยู่แล้ว เช่น เชียงราย ปัตตานี นราธิวาส เป็นต้น 2.ครุภัณฑ์มีคุณลักษณะสูงไม่เหมาะสมกับศักยภาพของโรงพยาบาล เช่น เครื่องดมยาสลบ ที่มีระบบการบันทึกข้อมูลผู้ป่วยร่วมด้วย ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่มากที่มีการใช้ในประเทศไทยในปีนี้
“แม้ว่าจะมีหลักฐานชัดเจน แต่ความผิดที่เกิดขึ้น อาจทำไปโดยเจตนา หรือไม่รอบคอบ หรือ ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็ได้ ซึ่งคำสั่งตั้งคณะกรรมการชุดนี้ เป็นการสอบข้อเท็จจริงรายการครุภัณฑ์เบื้องต้น มีอำนาจสามารถเรียกเฉพาะข้าราชการและลูกจ้างของสธ.ในปัจจุบันเท่านั้น ไม่มีสิทธิที่เรียกทั้งข้าราชการที่เกษียณแล้ว หรือนักการเมืองที่เคยปรากฏเป็นข่าวหรือถูกพาดพิงบางคนมาให้ข้อมูลหรือตรวจสอบข้อเท็จจริงได้”นพ.เสรี กล่าว
นพ.เสรี กล่าวว่า ส่วนกรณีที่มีการระบุว่า ครุภัณฑ์บางรายการล็อกสเปกนั้น ในความเป็นจริงบางรายการมีทั้งข้อดีและข้อเสีย เช่น เครื่องติดตามการทำงานของหัวใจ หรือเซ็นทรัลมอนิเตอร์ ที่มีการระบุว่าสามารถนำมาเชื่อต่อกับระบบเดิมของโรงพยาบาลได้ อาจแปลความหมายว่า เอื้อประโยชน์ต่อผู้ผลิตยี่ห้อเดิมได้ หรือครุภัณฑ์บางรายมีข้อความต่อท้าย ซึ่งดูเหมือนเอื้อประโยชน์ให้บางบริษัทแต่เมื่อพิจารณารายละเอียดแล้วพบว่ามี 2-3 บริษัทที่สามารถจัดซื้อได้ ซึ่งต้องมีการตรวจสอบในเชิงลึกต่อไป
นพ.เสรี กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ก่อนมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงรายการครุภัณฑ์ได้มีการปลดล็อกสเปกครุภัณฑ์ โดยปลัด สธ.ได้ทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ให้ชะลอการจัดซื้อจัดจ้างรายการครุภัณฑ์และที่ดิน สิ่งก่อสร้าง โครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง ตั้งแต่เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม อย่างไรก็ตาม ในรายการครุภัณฑ์ที่มีการร้องเรียนมาทั้งหมด มีเพียงรถพยาบาลรายการเดียวที่มีการร้องเรียนว่า ตั้งราคาจัดซื้อไว้ที่ 1.8 ล้านบาท ทั้งๆ ที่สามารถซื้อได้ 1.7 ล้านบาท แต่ไม่มีปัญหาเพราะราคาที่แตกต่างกัน 1 แสนบาท เนื่องจากมีองค์ประกอบของเครื่องมือที่แตกต่างกัน 2 ตัว ซึ่งคณะกรรมการได้มีการตรวจสอบราคาแล้ว ไม่สามารถซื้อได้ในราคา 1.7 ล้านบาท อีกทั้งหากกระบวนการจัดซื้อล่วงหน้าเป็นไปตามหลักการ 4 ข้อ คือ จ่ายเร็ว ถูกระเบียบ ได้ของที่มีคุณภาพราคาเหมาะสม นำไปใช้ได้จริง ก็ถือว่าถูกต้อง
ด้าน นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า ตนยังไม่พอใจและรู้สึกผิดหวังกับผลการตรวจสอบของสธ. ที่ไม่กล้าระบุตัวบุคคลซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้อง และนักการเมืองที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตในครั้งนี้ ทั้งที่การเปิดโปงการทุจริตครั้งนี้ มีนักการเมืองเข้ามาเป็นส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งทำให้ลดทอนความสง่างามของคณะกรรมการชุดนี้ลงไปบ้าง ดังนั้น ขอเสนอให้การตรวจสอบหาผู้กระทำผิด มีการตั้งคนนอกเข้ามาตรวจสอบ โดยผู้ที่มีความเหมาะสมที่สุดขณะนี้ คือ นพ.บรรลุ ศิริพานิช อดีตรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และให้อำนาจ นพ.บรรลุ เป็นผู้เลือกคณะกรรมการชุดตรวจสอบด้วยตัวเอง และหากผลสอบ ของ นพ.บรรลุ ออกมา ไม่พบว่ามีนักการเมืองมาเกี่ยวข้อง ตนจึงจะยอมรับผลการตรวจสอบได้
“เห็นใจและเข้าใจ นพ.เสรี ที่มีระยะการตรวจสอบสั้นแค่ 7 วัน และไม่มีอำนาจในการเรียกนักการเมืองที่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้ามาสอบสวนความจริง รวมถึงผู้บริหารระดับสูง เพราะเป็นแค่ข้าราชการชั้นผู้น้อย อาจทำให้เกิดความกดดันที่ต้องสอบสวนข้าราชการระดับสูงกว่า และกังวลว่าอาจเกี่ยวข้องกับการที่ นพ.เสรี ได้รับแต่งตั้งให้เป็นรองปลัดกระทรวงสาธารณสุขก็ได้ แต่ก็ไม่ได้เหนือความคาดหมายนักว่าคงไม่มีการเปิดเผยรายชื่อบุคคลใดๆ โดยส่วนตัวทราบว่า นพ.เสรี ต้องทราบว่า มีใครเกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวบ้างทั้งข้าราชการประจำ และนักการเมืองเพียงแต่ไม่กล้าพูดเท่านั้น” นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าว