คณะกรรมการตรวจสอบ 6 ครุภัณฑ์ฉาว นัดประชุมวันนี้ (5 ต.ค.) เน้นดูที่มาที่ไป ราคาความเหมาะสม เชื่อรู้ต้นตอที่มาครุภัณฑ์ เตรียมทาบผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านหารือเรื่องสเปก ด้านแพทย์ชนบทให้ดึงคนนอกร่วมเป็นคณะกรรมการตรวจสอบฯ หวั่นตัดตอนการทุจริต ไม่เชื่อคณะกรรมการฯ สาวถึงต้นตองาบงบฯ เสนอล้มกระดานยกเลิกจัดซื้อครุภัณฑ์แล้วจัดสรรงบใหม่ โดยให้แต่วงเงิน ส่วนครุภัณฑ์ทางจังหวัดเลือกตามที่จำเป็นและเหมาะสมเอง
นพ.เสรี หงส์หยก ผู้ตรวจราชการ สธ.ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง ระยะที่ 2 หรือเอสพี 2 ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดซื้อครุภัณฑ์ทางการแพทย์ที่มีปัญหาเรื่องความไม่โปร่งใส ทั้ง 6 รายการประกอบด้วย เครื่องทำลายเชื้อโรคด้วยระบบยูวีหรือยูวีแฟน เครื่องช่วยหายใจ เครื่องดมยาสลบ เครื่องติดตามการทำงานของหัวใจหรือเซ็นทรัลโมนิเตอร์ เครื่องตรวจสารเคมีในเลือด และรถพยาบาล โดยคณะกรรมการฯ จะประชุมหารือร่วมกันในวันนี้ (5 ต.ค.) โดยหลักการตรวจสอบจะให้ความสำคัญกับที่มาของการบรรจุรายการครุภัณฑ์ทั้ง 6 รายการ พิจารณาราคามีความสมเหตุสมผลหรือไม่ และเหตุผลในการจัดซื้อมีความเหมาะสมในระดับพื้นที่เป็นหลัก
นพ.เสรี กล่าวต่อว่า ส่วนแนวทางการตรวจสอบมีเป้าหมายหลัก 4 ประการ คือ 1.เบิกจ่ายงบประมาณรวดเร็ว 2.จัดซื้อถูกต้องตามระเบียบพัสดุ มีความโปร่งใสทุกขั้นตอน 3.ได้คุรุภัณฑ์ที่มีคุณภาพ มีความคุ้มค่า ใช้งานได้จริง และ 4.ราคาเหมาะสม อย่างไรก็ตาม การตรวจสอบข้อเท็จจริงครั้งนี้ เป็นการชี้ประเด็นว่า ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ไม่ได้มุ่งเน้นตัวบุคคล เมื่อได้ข้อสรุปจะเสนอไปยังคณะกรรมการพิจารณาความเหมาะสมและแก้ไขปัญหาโครงการไทยเข้มแข็ง ซึ่งเป็นชุดใหญ่ที่จะดูภาพรวมทั้งหมด มีรองปลัด สธ.เป็นธาน
นพ.เสรี กล่าวต่อว่า การดำเนินการตรวจสอบขั้นแรกจะเน้นเรื่องการจัดทำงบประมาณทั้งขาขึ้นและขาลง คือ ขาขึ้นมีการเสนอของบฯ เท่าใด และจัดซื้ออะไรบ้าง และการจัดทำงบประมาณขาลงคือ ได้รับจัดสรรงบประมาณเท่าใด มีรายการจัดซื้ออะไรบ้างจำนวนเท่าใด เพื่อนำมาเปรียบเทียบกัน ซึ่งวิธีนี้จะทำให้ทราบว่ามีการบรรจุครุภัณฑ์ทางการแพทย์ทั้ง 6 รายการเกิดขึ้นในกระบวนการใด แต่หากไม่พบว่ามีการบรรจุในการเสนอของบประมาณ ก็ต้องตรวจสอบต่อไปว่าครุภัณฑ์ทั้ง 6 รายการถูกบรรจุในงบประมาณได้อย่างไร ส่วนการตรวจสอบประเด็นว่ามีการล็อกสเปกครุภัณฑ์ทั้ง 6 รายการหรือไม่นั้น อาจจะต้องหารือร่วมกับผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง เพราะมีเครื่องมือแพทย์บางรายการที่เป็นเรื่องเฉพาะด้านมากๆ
“ไม่รู้สึกกดดัน หรือกังวลเกี่ยวกับอำนาจทางการเมือง เพราะทุกคนใน สธ.คงอยากให้เกิดความกระจ่างและโปร่งใสในการจัดซื้อโครงการนี้ให้เร็วที่สุด ซึ่งผมทำงานอยู่ในพื้นที่ ในโรงพยาบาลมานานกว่า 20 ปี ตั้งแต่โรงพยาบาลขนาด 30-500 เตียง มีความแตกต่างกันอย่างไร จึงพอมีประสบการณ์ มีความเข้าใจถึงปัญหาในการทำงานของว่าเป็นอย่างไร มีความต้องการอะไรบ้าง อย่างไรก็ตาม ไม่อยากเปิดเผยรายละเอียดขอการตรวจสอบมากนัก เพราะยังอยู่ในการะบวนการดำเนินงานอยู่ และการทำงานของคณะกรรมการชุดนี้มีเวลาสั้นคือเพียง 1 สัปดาห์เท่านั้นแต่จะต้องหาข้อมูลให้ครอบคลุมและถูกต้อง ไม่เช่นนั้นอาจไม่น่าเชื่อถือ” นพ.เสรีกล่าว
หมอชนบทหวั่นตัดตอนทุจริต
นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ รองประธานชมรมแพทย์ชนบทภาคใต้ กล่าวว่า คณะกรรมการที่มีการแต่งตั้งขึ้นมาทั้ง 2 ชุด ถือว่าเป็นคนใน แม้จะมีแพทย์ชนบทรวมอยู่ในคณะกรรมการทั้ง 2 ชุด แต่ก็ควรหาคนนอกที่ได้รับการยอมรับ มีความน่าเชื่อถือและมีความกลางเพราะถือเป็นหัวใจในการตรวจสอบข้อเท็จจริง เช่น ตัวแทนจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่มีประสบการณ์ในการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริง เหมือนกับสมัยที่มีการทุจริตยา 1,400 ล้านบาทแล้วมีการตั้ง นพ.บรรลุ ศิริพานิช ขึ้นมาเป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบ
“คงต้องรอดูข้อสรุปของคณะกรรมการชุดดังกล่าวว่าจะออกมาแบบใด เพราะหากคำตอบเป็นเพียงความไม่มีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการคงไม่สามารถตอบคำถามสังคมได้ ซึ่งขณะนี้มีแนวโน้มว่าจะมีการตัดตอนการทุจริต เช่น การยกเลิกการจัดซื้อ หรือลดราคาให้มีความเหมาะสม แต่ไม่รู้จะสามารถสาวไปถึงผู้ที่อยู่เบื้องหลังการสอดไส้เครื่องมือที่ไม่จำเป็นในรายการครุภัณฑ์ได้หรือไม่ ทั้งนี้ ไม่เชื่อว่า ประธานคณะกรรมการที่มีตำแหน่งระดับซี 10 จะสามารถสืบสวนไปถึงผู้อยู่เบื้องหลังการทุจริตที่อาจมีตำแหน่งสูงกว่าได้”นพ.สุภัทรกล่าว
นพ.สุภัทร กล่าวต่อว่า นอกจากครุภัณฑ์ 6 รายการที่มีการร้องเรียนและมีการนำเสนอข่าวทางหนังสือพิมพ์น่าจะมีคุรุภัณฑ์อีกหลายรายการที่มีลักษณะตั้งราคาสูงเกินจริงและล็อกสเปก ดังนั้น จึงไม่ควรรอให้มีการร้องเรียน แต่ควรหาผู้ที่มีความเชี่ยวชาญตรวจสอบคุรุภัณฑ์ทุกรายการที่มีการจัดซื้อทั้งหมด หรือปรับกระบวนการในการจัดการงบประมาณไทยเข้มแข็ง สธ.ใหม่ทั้งหมดโดยให้แต่วงเงินแล้วให้ในระดับจังหวัดประชุมหารือจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ที่มีความจำเป็นจริงๆ เท่านั้น