xs
xsm
sm
md
lg

“ไพจิตร์” ยาหอมลูกจ้าง รพ.ถูกลิดรอนสิทธิ์ วางเงื่อนรอหลังโยกย้าย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นพ.ไพจิตร์ วราชิต
แพทย์โวยแทนลูกจ้างชั่วคราวและประจำบางตำแหน่ง ได้รับค่าตอบแทนไม่เป็นธรรม เหตุไม่อยู่ในเกณฑ์ได้รับค่าตอบทั้งที่ทำงานเหมือนกัน เพียงแค่ชื่อตำแหน่งไม่ถูกต้องตาม ก.พ.สะเทือนขวัญ ลิดรอนกำลังใจ ว่าที่ปลัด สธ.รับลูก เล็งตั้งคณะทำงานหาผู้รับผิดชอบดูเรื่องค่าตอบแทนโดยเฉพาะแต่รอหลังโยกย้าย

นพ.ฐาปนวงศ์ ตั้งอุไรวรรณ จักษุแพทย์ ประจำโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า กล่าวว่า ได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมในการรับค่าตอบแทนกับ นพ.ไพจิตร์ วราชิต รักษาราชการปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เพราะก่อนหน้านี้สธ.มีคำสั่ง สธ.0201.042/ว วันที่ 4 ส.ค. เรื่องหลักเกณฑ์การจ่ายค่าตอบแทนการปฏิบัติงานในโรงพยาบาลศูนย์ (รพศ.) และโรงพยาบาลทั่วไป (รพท.) ตามย่อหน้าที่ 1 บรรทัดที่ 3 ที่ระบุว่า เพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้กับเจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นหลักการของหนังสือฉบับนี้ แต่หลักการของหนังสือดังกล่าวกลับเป็นการสร้างการสะเทือนขวัญและลิดรอนกำลังใจของเจ้าหน้าที่ สธ.ใน รพศ.และ รพท.เพราะมีตำแหน่งลูกจ้างชั่วคราว พนักงานราชการและลูกจ้างประจำบางตำแหน่งที่ชื่อตำแหน่งไม่เหมือนข้าราชการ เช่น พนักงานเภสัชกรรม พนักงานห้องบัตร เจ้าหน้าที่เวชทะเบียน เป็นต้น ทำให้ไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ได้รับค่าตอบแทน

“เจ้าหน้าที่ทุกคนมีส่วนร่วมในการดูแลผู้ป่วยทุกคน ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม แต่ทำไมไม่ได้รับค่าตอบแทน เช่น เวรเปล เข็นผู้ป่วยไปให้แพทย์ตรวจ คนครัวทำอาหารให้ผู้ป่วยทาน ผู้ช่วยเหลือคนไข้ พนักงานซักฟอก เจ้าหน้าที่วิทยุ ฯลฯ กลับไม่ได้ค่าตอบแทนดังกล่าวทั้งที่เป็นส่วนหนึ่งในการทำงาน เพียงเพราะวุฒิการศึกษาของตำแหน่ง ไม่ตรงตามมาตรฐานการกำหนดตำแหน่งของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการและพลเรือน จึงทำให้ไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่ได้รับค่าตอบแทน”นพ.ฐาปนวงศ์ กล่าว

นพ.ฐาปนวงศ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ บางตำแหน่งยังได้รับค่าตอบแทนที่แบ่งแยกชัดเจน เห็นได้ชัดว่ามีความไม่เป็นธรรม เช่น กลุ่มที่ได้รับค่าตอบแทนสูง คือ แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร ส่วนกลุ่มที่ได้โดยเฉลี่ยคือ พยาบาลวิชาชีพ พยาบาลเทคนิค นักกายภาพบำบัด นักโภชนาการ นายช่างโยธา ส่วนที่ไม่ได้เลยคือ ลูกจ้างประจำทุกตำแหน่ง ลูกจ้างชั่วคราวบางตำแหน่ง อาทิ พนักงานเภสัชกรรม ผู้ช่วยเหลือคนไข้ พนักงานขับรถยนต์ เจ้าหน้าที่เวชระเบียน ฯลฯ

“หนังสือฉบับดังกล่าวเห็นชัดว่าสร้างความแตกแยก เพราะเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานเดียวกันมีทั้งได้รับค่าตอบแทน ได้รับไม่เท่ากัน และไม่ได้รับเลยและคนเหล่านี้จะรู้สึกอย่างไร เพราะจากที่ได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อยบอกว่ารู้สึกเสียใจอย่างมาก เพราะมีส่วนช่วยให้โรงพยาบาลมีคุณภาพในการให้บริการกับผู้ป่วย แต่กลับถูกหลักนิติศาสตร์ปฏิเสธในการรับค่าตอบแทนอย่างสิ้นเชิง ทั้งที่ทำงานโดยทางตรงและทางอ้อม” นพ.ฐานปนวงศ์ กล่าว

ด้าน นพ.ไพจิตร์ วราชิต รักษาราชการปลัด สธ.กล่าวว่า เรื่องค่าตอบแทนถือว่าขวัญกำลังใจของการทำงาน ซึ่งเรื่องดังกล่าวจะต้องมีคณะทำงานขึ้นมาพิจารณาเรื่องดังกล่าว เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและเท่าเทียมอีกครั้ง ให้ทุกสาขาวิชาชีพได้รับค่าตอบแทนอย่างครอบคลุม แต่คงต้องรอภายหลังจากที่มีการแต่งตั้งข้าราชการระดับ 10 ฝ่ายบริหาร ในตำแหน่งรองปลัด สธ.อธิบดีกรมต่างๆ เสร็จสิ้นก่อน เพื่อที่จะได้บุคคลที่มาดูแลรับผิดชอบในเรื่องค่าตอบแทนอย่างเต็มที่
กำลังโหลดความคิดเห็น