xs
xsm
sm
md
lg

สธ.ไฟเขียวเพิ่มค่าตอบแทนบุคลากรทางการแพทย์ เว้นพยาบาลวิชาชีพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สธ.หารือเพิ่มค่าตอบแทนบุคลกรทางการแพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปเคลียร์ ยกเว้นพยาบาลวิชาชีพ ยังไม่ยอมขอเพิ่มมากกว่าโรงพยาบาลชุมชน เตรียมนัดหารืออีกรอบสรุปให้จบ ก่อนประกาศมีผลบังคับใช้พร้อมกัน

เมื่อเวลา 16.30 น.วันที่ 1 ก.ค. นายพิเชฐ พัฒนโชติ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังหารือร่วมกับกลุ่มแพทย์และพยาบาลที่มาชุมนุมเรียกร้องขอเพิ่มค่าตอบแทน ว่า บุคลากรทุกสาขาวิชาชีพในโรงพยาบาลศูนย์/ทั่วไป ยอมรับตามข้อสรุปของ สธ.ที่ นพ.ปราชญ์ บุณยวงค์วิโรจน์ ลงนามเห็นชอบในหลักการเมื่อวันที่ 30 มิ.ย.2552 โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มที่ทำงาน 1-3 ปี แพทย์/ทันตแพทย์ รับค่าตอบแทน 10,000 บาทต่อเดือน เภสัชกร 3,000 บาทต่อเดือน สาขาปริญญาตรี เช่น เทคนิคการแพทย์ สาธารณสุข 1,200 บาทต่อเดือน และสาขาต่ำกว่าปริญญาตรีใน 600 บาทต่อเดือน และ 2.กลุ่มที่ทำงาน 4 ปีขึ้นไป แพทย์/ทันตแพทย์ รับค่าตอบแทน 15,000 บาทต่อเดือน เภสัชกร 4,500 บาทต่อเดือน สาขาปริญญาตรี เช่น เทคนิคการแพทย์ สาธารณสุข 1,800 บาทต่อเดือน และสาขาต่ำกว่าปริญญาตรีใน 900 บาทต่อเดือน

“ทุกกลุ่มวิชาชีพยอมรับตามข้อสรุปของ สธ. ซึ่งค่าตอบแทบที่จะได้รับมีอัตราเดียวเทียบเท่ากับอัตราต่ำสุด ที่จ่ายให้กับบุคลากรวิชาชีพในโรงพยาบาลชุมชน ยกเว้นกลุ่มพยาบาลวิชาชีพที่ยังต้องการให้ สธ.จ่ายค่าตอบแทนให้มากกว่าที่จ่ายให้พยาบาลวิชาชีพในโรงพยาบาลชุมชน โดย สธ.สรุปให้จ่ายให้ในอัตรา 1,200 บาท หรือ 2,000 บาท และ 1,800 บาท หรือ 3,000 บาท แต่พยาบาลวิชาชีพบางกลุ่มต้องการให้เพิ่มเป็น 4,000 และ 6,000 บาททำให้ สธ.ต้องทบทวนใหม่”นายพิเชฐ กล่าว

นายพิเชฐ กล่าวต่อว่า สธ.จำเป็นต้องหารือร่วมกับพยาบาลวิชาชีพในทุกกลุ่ม รวมถึงพยาบาลในโรงพยาบาลชุมชนอีกครั้งหนึ่ง เพราะหากเพิ่มให้พยาบาลโรงพยาบาลศูนย์/ทั่วไป พยาบาลใน รพ.ชุมชนก็จะมาเรียกร้องขอเพิ่มอีก ปัญหาก็จะไม่จบ ซึ่งหากได้ข้อสรุปในส่วนของพยาบาลแล้วจึงจะสามารถออกเป็นประกาศ สธ.เรื่องค่าตอบแทนสำหรับโรงพยาบาลศูนย์/ทั่วไปได้ เนื่องจากประกาศต้องออกพร้อมกันทุกสาขาวิชาชีพ แต่จะมีผลย้อนหลังให้ถึงวันที่ 1 ก.ค.2552

นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สำหรับเงินค่าตอบแทนบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไป ให้ใช้เงินบำรุงของโรงพยาบาลโดยให้คณะทำงานผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขในแต่ละพื้นที่เป็นผู้ดำเนินการเกลี่ยเงินบำรุงโรงพยาบาลในแต่ละเขตพื้นที่จัดสรรไปยังโรงพยาบาลต่างในพื้นที่ดูแล เพื่อไม่ให้กระทบกับงบประมาณของภาครัฐ ซึ่งเงินบำรุงของโรงพยาบาลแต่ละแห่งถือว่ามีเพียงพอในการจ่ายค่าตอบแทนให้กับบุคลากรทางการแพทย์ ส่วนที่เกรงว่าหากนำเงินบำรุงมาจ่ายค่าตอบแทนจะส่งผลกระทบกับงบการก่อสร้างพัฒนาและปรับปรุงโรงพยาบาลนั้น รัฐบาลได้เตรียมงบประมาณจาก พ.ร.ก.เงินกู้ 4 แสนล้านบาทในโครงการไทยเข็มแข็ง ซึ่งสธ.ได้ของบประมาณ 8 หมื่นล้านบาท ในจำนวนนี้มีงบในการก่อสร้างและปรับปรุงอาคารที่สามารถนำมาชดเชยได้อยู่แล้ว

“ก่อนหน้านี้ ได้หารือทบทวนค่าตอบแทนบุลคากรทางการแพทย์จากโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป 3 ครั้ง แต่ไม่ได้ข้อสรุป คุยแต่ละครั้งข้อสรุปยังไม่ตรงกัน เพราะกลุ่มยังไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ให้ไปรวมกลุ่มให้เป็นเอกภาพก่อนค่อยนัดหารือกันอีกครั้งให้จบไปเลย โดยได้มอบหมายให้ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานคณะกรรมการทบทวนค่าตอบแทน” นายวิทยา กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น