xs
xsm
sm
md
lg

3 ชีวิต 3 ความฝันที่ “วิทยาลัยชุมชน”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รายงาน//สุกัญญา แสงงาม

แม้ว่าวิทยาลัยชุมชน (วชช.) เพิ่งก่อตั้งมาเพียง 8 ปี แต่ที่ผ่านมาได้ช่วยสานฝันให้ผู้ที่ไม่มีโอกาสเรียนตามปกติ สามารถเรียนอนุปริญญาแล้วต่อยอดเรียนปริญญาตรีได้เป็นผลสำเร็จ ขณะที่บางรายนำความรู้มาบูรณาการกับหน้าที่การงาน บางรายก็ใช้ในการประกอบอาชีพ

นี่คือก้าวย่างสำคัญในยุคปฏิรูปการศึกษาสำหรับคนที่ “รักเรียน”

มะซอเร สะอะ
                                           -1-

“มะซอเร สะอะ” ศิษย์เก่าวิทยาลัยชุมชนยะลา เล่าว่า เป็นคนทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี เรียนจบ ป.6 จาก ร.ร.บ้านปากู มัธยมต้น ที่ ร.ร.ทุ่งยางแดงพิทยาคม ชีวิตในวัยเด็กลำบากมาก แม่ให้เงินมาโรงเรียนวันละ 5 บาท แต่ต้องใช้เป็นค่ารถไป-กลับถึง 4 บาท ทำให้ต้องเอาข้าวมาทาน และไม่กล้าไปกินข้าวร่วมกับเพื่อนๆ เพราะ “อาย” กับข้าวมีเพียงไข่ต้มซีกเดียว มะพร้าวคั่ว ใบไม้ทอด ส่วนเสื้อผ้าดีไม่ต้องพูดถึง ปะทั้งตัว

หลังจบ ม.3 พ่อแม่ไม่สนับสนุนให้เรียนสายสามัญ ทำให้ มะซอเร ต้องย้ายไปเรียนปอเนาะ ซึ่งเป็นโรงเรียนสอนศาสนาอิสลาม แต่ด้วยความรักเรียน อีก 7 ปีต่อมา ระหว่างที่ตามแม่ไปทำงานที่ยะลา เขาแอบไปเรียน กศน.ทุ่งยางแดง ไม่ให้พ่อแม่รู้ โดยต้องทำงานรับจ้างทุกอย่างเพื่อจ่ายค่าเทอม ทว่า เรียนได้เทอมเดียวต้องหยุด เพราะไม่มีค่าเทอม จนกระทั่งรัฐให้เรียนฟรี จึงกลับมาเรียน กศน.อีกครั้งตอนอายุ 20 ต้นๆ จนจบ ม.6

“ตอนจบ ม.6 ผมได้ข่าวว่า วิทยาลัยชุมชนยะลา เปิดสมัครนักศึกษา รุ่น 2 คำถามแรกที่สอบถามเจ้าหน้าที่ คือ ค่าเทอมเท่าไหร่ พอรู้ว่าแค่ 500 กว่าบาท ก็ดีใจคิดว่าน่าจะพอหาเงินมาจ่ายค่าเทอมได้ จึงรีบกลับบ้านไปเอาเอกสารมาสมัครเอกปฐมวัย เพราะอยากเป็นครูสอนหนังสือ มีเงินเดือนประจำ ผมผ่านการคัดเลือก แต่ต้องมาเรียนภาษาไทยเพิ่มเติม 30 ชั่วโมง เนื่องจากไม่ได้ใช้นานทำให้การอ่าน เขียน ช้ากว่าเพื่อนร่วมชั้น”

มะซอเร บอกว่า ในระหว่างที่เรียน วชช.ยะลา ต้องใช้ความอดทนมาก ต้องเดินทางระหว่างยะลากับปัตตานีกว่า 30 กิโลเมตร ขณะเดียวกัน ก็ต้องหางานพิเศษเพื่อใช้เป็นค่าเทอม เช่น รับจ้างเพื่อนพิมพ์งาน ฯลฯ จนกระทั่งส่งตัวเองเรียนจบภายใน 2 ปีครึ่ง และเข้าทำงานที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านปาแดปาลัส มีรายได้วันละ 150 บาท

“พอจบ ผมสมัครเข้าเรียนต่อที่ ม.ราชภัฏยะลา แต่การเรียนปริญญาตรีครั้งนี้ค่อนข้างสาหัส นึกดูมีรายได้จากการสอนเด็กวันละ 150 บาท ต้องจ่ายค่าเทอมกว่า 8,000 บาท ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันและเลี้ยงดูแม่ รายได้ไม่พอต้องไปยืมญาติ ตอนนี้เป็นหนี้อยู่หลายหมื่น และไม่รู้ว่าเทอมถัดไปจะมีเงินค่าเทอมหรือเปล่า อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าอนาคตจะเป็นเช่นไร ต้องขอบคุณ วชช.มาเติมเต็ม ให้ผมมีโอกาสเรียนต่อปริญญาตรี ”
นิตยา อ่อนบัวขาว
                                                -2-

“นิตยา อ่อนบัวขาว” ศิษย์เก่าวิทยาลัยชุมชนมุกดาหาร ผู้ซึ่งพลิกชีวิตจากเด็กเลี้ยงวัวเลี้ยงควาย สู่เจ้าของกิจการ แม่นิด กระเทียมเจียว เล่าว่า ตอนเด็กพอเรียนจบ ป.6 จากโรงเรียนชุมชนบางทรายใหญ่ ก็ออกมาเลี้ยววัว เลี้ยงควาย แต่ด้วยความที่ชอบเรียนหนังสือ พอถึงวันเสาร์-อาทิตย์ ก็จะไปหามีเพื่อนที่ได้เรียนต่อเพื่อขอยืมหนังสือมาอ่านบ้าง อาสาทำการบ้านให้บ้าง จากนั้น ชีวิตก็พลิกผันมาเป็นสาวโรงงานเย็บผ้าอยู่ที่กรุงเทพฯ และตัดสินใจมีครอบครัว

“ตอนแฟนขอแต่งงาน นิดตั้งเงื่อนไขว่าแต่งแล้วต้องให้เรียนหนังสือนะ นิดมาเรียน กศน.มุกดาหาร จบ ม.3 ได้ทำงานคิวซี รู้สึกว่าโก้เพราะได้ตรวจงาน แต่ก็ไม่ทิ้งการเรียนและเรียนต่อจนจบ ม.6 ”

สำหรับการเรียนที่วิทยาลัยชุมชนนั้น นิตยา บอกว่า เผอิญตอนนั้นบัตรประชาชน หมดอายุ ไปต่อบัตรที่อำเภอแล้วเห็นป้ายวิทยาลัยชุมชนซึ่งอยู่ด้านหลังอำเภอเปิดรับสมัคร 4 สาขา จึงไปถามรายละเอียด และสนใจสาขาการจัดการทั่วไป โดยตลอดทางที่กลับบ้านคิดหาคำพูดเพื่อขออนุญาตสามีมาเรียนหนังสือ

“วันหนึ่งระหว่างให้หญ้าวัว-ควาย แฟนผิดสังเกตถามว่ามีอะไรรึเปล่า เลยเอ่ยปากขอเรียน วชช.โดยบอกว่าจะทำหน้าที่ไม่ให้ขาดตกบกพร่องเลย แฟนถามคำเดียวค่าเรียนเท่าไหร่ บอกไม่เกิน 1,000 บาท เขาให้เรียน ระหว่างที่เรียนไม่เข้าใจตรงไหนจะโทร.ไปซักถามอาจารย์ บางครั้ง 4 ทุ่มโทร.ไปท่านก็รับสายแล้วอธิบายจนเข้าใจ ที่สุดเรียนจบ วชช.แล้วไปเรียนต่อ มรภ.สกลนครจนได้ปริญญาตรี”

ปัจจุบัน นิตยา นำความรู้ที่ได้จาก วชช.มาบูรณาการสร้างธุรกิจ “แม่นิด กระเทียมเจียว” จนเป็นที่รู้จักในมุกดาหาร

เบญญพร เฮงซิ้ม
                                                 -3-

“เบญญพร เฮงซิ้ม” ศิษย์เก่าวิทยาลัยชุมชนสมุทรสาคร เล่าว่า ตนเองเป็นคนเรียนเก่งและสอบได้ที่ 1 เป็นประจำ แต่ที่บ้านไม่สนับสนุน ทำให้หลังจบ ป.6 ต้องออกมาทำสวนน้ำตาลมะพร้าวกับครอบครัว ซึ่งรู้สึกน้อยใจที่ไม่ได้เรียนเหมือนคนอื่น แต่ก็ไม่ได้ละความพยายาม โดยเลือกเรียน กศน.จนจบ ม.3 ก็มาสมัครเป็นอาสมัครสาธารณสุขประจำหมูบ้าน(อสม.)และได้รับคัดเลือกเป็นแพทย์ประจำตำบลแทนพ่อ พร้อมกับเรียน กศน.ต่อจนจบ ม.6

ต่อมา วชช.มาเปิดในพื้นที่ ด้วยความสนใจการศึกษาเป็นทุนเดิมจึงตัดสินใจเลือกเรียนสาขาการปกครองท้องถิ่น

“ก่อนมาเรียน วชช.ไม่กล้าพูด ไม่กล้าแสดงความคิดเห็น ไม่สามารถถ่ายทอดได้ พอเรียนปีที่ 2 ต้องมีการลงพื้นที่ ผนวกกับอาชีพที่ทำอยู่ ทำให้มั่นใจ กล้าแสดงออกเพิ่มขึ้น จนได้รับความไว้วางใจได้รับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้าน และเลื่อนเป็นกำนัน ซึ่งผมก็ได้นำหลักการที่ร่ำเรียนมาปกครองให้ชุมชนของผมอยู่กันอย่างอบอุ่น เสมือนครอบครัวเดียวกัน”เบญญพรกล่าวทิ้งท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น