xs
xsm
sm
md
lg

เกิดเป็น ‘ครู’ ชีวิตนี้ ใช้หนี้อย่างเดียว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เห็นข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติที่เปิดเผยผลสำรวจสภาวการณ์ค่าครองชีพของข้าราชการทั่วประเทศประจำปี 2551 พบว่าข้าราชการทุกระดับส่วนใหญ่มีหนี้สินเกือบทุกครัวเรือนหรือประมาณ 84 เปอร์เซ็นต์ นั่นตีความได้ว่าในจำนวนข้าราชการ 100 คน มีข้าราชการปลอดหนี้ 16 คนเท่านั้น

จากการสำรวจดังกล่าวพบว่า เป็นหนี้รวมทั้งสิ้น 219,737 ล้านบาท หรือเฉลี่ยครอบครัวละ 749,771 บาท 56.3 เปอร์เซ็นต์เป็นหนี้สินเพื่อที่อยู่ 16.7 เปอร์เซ็นต์เป็นหนี้สินเพื่อการซื้อหรือซ่อมแซมรถยนต์ 12.4 เปอร์เซ็นต์เป็นหนี้สินเพื่อการใช้จ่ายในการอุปโภคบริโภค จากสถิติพบว่าครอบครัวข้าราชการมีหนี้สินเพิ่มขึ้นทุกปี โดยจากปี 2547 ที่มีสัดส่วน 81.6 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนครอบครัวข้าราชการทั้งหมด เป็น 84 เปอร์เซ็นต์ในปี 2551 และมีหนี้สินเฉลี่ยเพิ่มจาก 492,253 บาท เป็น 749,771 บาท

ยกตัวอย่างในเรื่องหนี้ของข้าราชการครู ที่พยายามเรียกร้องให้หลายหน่วยงานยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ อาทิ คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ได้รับอนุมัติงบประมาณปี 2552 จำนวน 500 ล้านบาท ปล่อยสินเชื่อให้รายละ 2 แสนบาท ไหนจะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเตรียมดึงชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย (ชสอ.) รีไฟแนนซ์หนี้ครูอีก 5 พันล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีการตั้งสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) เพื่อจัดโครงการช่วยเหลือครูและบุคลากรทางการศึกษาที่เป็นสมาชิกโครงการสวัสดิการเงินกู้กองทุนการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) โดยการจัดหาแหล่งเงินกู้ที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อให้สมาชิกนำไปใช้จ่ายในยามจำเป็น

อีกทั้งกระทรวงศึกษาธิการยังเตรียมเงิน 911 ล้านบาท เพื่อปล่อยกู้ให้ครูโดยมีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นผู้บริหาร สำหรับครูที่มีสิทธิกู้จะต้องเป็นครูผู้สอนของทุกหน่วยงาน อาทิ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาชั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) และวิทยาลัยชุมชน (วชช.)ฯลฯ และเป็นครูที่มีหนี้ค้างอยู่ โดยตั้งเป้าหมายให้ครูที่มีหนี้สามารถกู้เพื่อไปปรับโครงสร้างหนี้ รายละไม่เกิน 2 แสนบาทและใช้คืนภายใน 8 ปี

ทั้งนี้จากข้อมูลของกระทรวงศึกษาธิการได้สำรวจจำนวนครูที่มีปัญหาหนี้สิน พบว่ามีกว่า 1 แสนคน เฉลี่ยเป็นหนี้รายละ 1.3 ล้านบาท

ปล่อยกู้ใช้หนี้แก้หนี้ได้จริงเหรอ?

“การปรับโครงสร้างหนี้ที่กระทรวงฯ ทำหลายๆ อย่าง สามารถบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ที่เป็นหนี้ได้ในระดับหนึ่ง แต่ยังไม่ใช่วิธีการที่แก้ไขปัญหาได้” พงษ์เทพ ถิฐาพันธ์ เลขานุการศูนย์อำนวยการปฏิบัติการแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคประชาชน (ศอก.นส.) กระทรวงการคลัง ให้เหตุผลไว้

ต้นตอสาเหตุของการเป็นหนี้ ถ้าตอบคำถามในระดับสากลก็ต้องบอกว่า รายได้ไม่พอรายจ่าย ซึ่งใครๆ ก็สามารถพูดได้ ทว่าหากลงรายละเอียดว่ารายจ่ายไหนจำเป็นหรือไม่จำเป็น ไม่ใช่เพียงแต่ว่าจะกู้เงินมาเพื่อเสริมสถานภาพทางสังคม (ซึ่งความจริงอาจจะติดลบอยู่) ให้มันมีพอที่สังคมเดียวกันจะยอมรับได้ เช่น การซื้อบ้าน ซื้อรถ เป็นต้น โดยสาเหตุหลักก็คือการดำรงชีวิต การใช้จ่ายในสิ่งไม่จำเป็น ซึ่งมาจากระบบสังคมของอาชีพเขาเอง

“คำว่าสถานะทางสังคมนี้ขีดเส้นแดงสองเส้นไว้เลยนะ คำนี้ถ้าถามว่าไม่มีมันเสียหรือเปล่า จริงอยู่ว่าชีวิตคนต้องการที่อยู่อาศัย แต่จำเป็นไหมที่ต้องมีบ้าน 100 ตารางวา ราคาหลายล้าน ในขณะที่กำลังทางการเงินมีไม่ถึง ถ้าเราไม่มีและยอมรับความไม่มี มันก็จะดีไป แต่การไม่มีของเราและเราอยากมีและทำให้เราเป็นหนี้ก็ไม่ใช่แล้ว เพราะฉะนั้นควรก้าวขึ้นตามสเต็ป ตามกำลัง ไม่ควรไปแบบก้าวกระโดด ซึ่งมันจะเกิดปัญหาได้”

พงษ์เทพ เสนอแนวทางแก้ไขว่า ควรแบ่งครูที่เป็นหนี้ออกเป็นสามกลุ่ม คือคนที่ยังพอใช้หนี้ไปได้ มีศักยภาพมีการครองชีวิตที่ดี ซึ่งต้องให้สถาบันการเงินมาช่วยคัดกรองเป็นรายคนไป สอง-กลุ่มที่ประคับประคองใช้หนี้ไปได้ โดยไม่เพลี่ยงพล้ำก็จะสามารถยืนได้ด้วยตัวเอง แต่กลุ่มนี้ก็ต้องให้เครดิตกู้ก่อน และกลุ่มที่สามคือกลุ่มที่จะต้องตายไปจากระบบ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีปัญหามากที่สุด ที่จะต้องหาแหล่งเงินกู้มาจากทุกแหล่งการเงินแม้กระทั่งการเงินนอกระบบ

“ถ้าจะแก้ทั้งระบบก็ต้องให้ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องแยกกลุ่มครูที่มีปัญหาหนี้ให้ออก เพราะแต่ละคนมีปัญหาแตกต่างกัน ดูว่าใครมีปัญหามาก แล้วคิดระบบการดูแล ชัดเจน คือบางคนต้องขายรถ ต้องยอมลดสถานภาพความเป็นอยู่ลง ต้องขายบ้านเพราะบ้านใหญ่เกินไป การตั้งกองทุนให้กู้เงินเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ แค่เพียงการย้ายหนี้จากที่หนึ่งไปยังที่หนึ่งแค่นั้นเอง”

เงินกู้สำหรับครู…ช่วยได้ แค่ปลายเหตุ

อำนวย จันทร์แก้ว ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านบาเงง ตำบลปากล่อ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี สะท้อนมุมมองที่น่าสนใจไม่น้อย ต่อนโยบายการจัดสรรเงินทุนหมุนเวียนเพื่อแก้ไขหนี้สินข้าราชการครูว่า ถึงแม้จะเป็นนโยบายที่ช่วยแก้ปัญหาได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็ยังไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุด เพราะเป็นเพียงแค่การแก้ปัญหาที่ปลายเหตุเท่านั้น

“เห็นด้วยกับนโยบายรัฐนะ เพราะครูนับว่าเป็นบุคลากรที่สำคัญ ที่รัฐควรจะมีสวัสดิการที่เหมาะสม แต่ผมก็มีความเห็นว่า สวัสดิการที่มีการจัดสรรอย่างมีประสิทธิภาพต่างหาก น่าจะเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาได้ดีกว่าการจะเอาเงินมาให้กู้”

แล้วทำไม ครูจึงมีหนี้เยอะ? อำนวยสะท้อนได้น่าสนใจไม่น้อย

“ครูจำนวนไม่น้อย เป็นครูที่ไม่มีหนี้ แต่ก็ต้องยอมรับว่ามีครูเป็นจำนวนมากที่มีหนี้ ซึ่งผมมองว่าที่มาของการเป็นหนี้สินของครูก็คือปัจจัย 4 นั่นแหละครับ ไม่ว่า บ้าน อาหารการกิน การดูแลสุขภาพร่างกายเมื่อเจ็บไข้ได้ป่วย รวมไปถึงสิ่งจำเป็นอื่นๆ เช่น เมื่ออยากมีบ้านสักหลังก็ต้องไปกู้เงิน แล้วก็เป็นหนี้ หรือเมื่ออยากให้ลูกเรียนโรงเรียนดีๆ ค่าเทอมแพงๆ ก็ต้องไปกู้เงิน ต่างๆ เหล่านี้มีส่วนก่อหนี้ทั้งนั้น

“และเมื่อครูมีความจำเป็นต้องกู้เงิน ก็มีหลายองค์กรเข้ามาหาผลประโยชน์จากครู ด้วยการปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เช่น ธนาคารบางแห่ง รวมถึงสหกรณ์ครู แหล่งกู้เงินเหล่านี้แหละ ที่ผมมมองว่าเป็นคนที่หาผลประโยชน์จากครู โดยอาศัยจุดบอดของรายรับที่ไม่พอกับค่าใช้จ่าย”

ด้วยปัญหาหนี้สินดังกล่าว อำนวยจึงมองว่า การมีนโยบายจัดสรรเงินทุนหมุนเวียนจะช่วยเข้ามาแก้ไขปัญหา จากการกู้ยืมครั้งผ่านๆ มา ที่ทำให้ครูมีหนี้สินท่วมตัว ทว่า เมื่อมองลึกลงไปกว่านั้น นี่ยอมไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ดีที่สุด เป็นเพียงการแก้ที่ปลายเหตุ โดยละเลยการมองไปถึงต้นตอหรือรากเหง้าของการสร้าง ‘จิตสำนึก’ ความเป็น ‘ครู’ ที่แท้

ครูเอกชน VS ครูรัฐบาล

ครูโรงเรียนเอกชนชื่อดังแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า อัตราเงินเดือนครูในโรงเรียนที่เธอสอน คิดให้ตามวุฒิการศึกษา คือปริญญาตรีได้เงินเดือน 7,900 บาท โดยจะบวกเพิ่มค่าประสบการณ์การสอนของครูให้ปีละ 100 บาท ส่วนการปรับขึ้นเงินเดือน จะมีทุกปี ปีละ 1 ครั้ง ครูวุฒิปริญญาตรีจะปรับขึ้น 600 บาท และ 700-800 บาท สำหรับครูที่วุฒิปริญญาโท ซึ่งจำนวนดังกล่าวเป็นอัตราขั้นต่ำ อาจปรับขึ้นมากกว่านี้ หากมีผลงานดีเป็นที่พอใจ

หากเทียบระหว่างครูโรงเรียนเอกชนและครูโรงเรียนรัฐบาล แหล่งข่าวคนเดียวกันบอกว่า เงินเดือนของทั้งสองฝ่ายจะได้เท่ากันเพราะคิดตามวุฒิการศึกษา แต่เงินเดือนของฝ่ายหลังจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมากกว่าฝ่ายแรก ยิ่งทำงานต่อเนื่องหลายๆ ปี เงินเดือนยิ่งทวีคูณ แต่ถึงที่สุดแล้ว เงินเดือนอาชีพครูน้อยกว่าคนที่ทำงานบริษัทเอกชนดังๆ หลายขุม

เธอกล่าวเพิ่มเติมว่า โรงเรียนที่เธอสังกัด จัดให้ครูได้สอนพิเศษแก่นักเรียน ครูจึงมีรายได้จากการสอนพิเศษของทางโรงเรียนอย่างต่ำประมาณเดือนละ 3-4 พันบาท นอกจากนั้น ครูที่ไม่ได้ทำหน้าที่สอนหนังสือ จะมีรายได้พิเศษเพิ่มเติมจากการเข้าเวรดูแลช่วงที่นักเรียนเรียนพิเศษ เดือนละ 1 พันบาท ซึ่งถือเป็นจุดที่ทำให้ครูโรงเรียนเอกชนมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก

ไม่เพียงเท่านั้น โรงเรียนแต่ละแห่งจะมีเงินช่วยเหลือพิเศษมากน้อยต่างกันไป โดยโรงเรียนที่เธอสอนอยู่ให้เงินแก่ครูทุกคนเดือนละ 1 พันบาท เพื่อช่วยค่าครองชีพช่วงภาวะเศรษฐกิจถดถอย และมีเงินโบนัสปีละหนึ่งครั้งด้วย

“ตอนนี้สอนพิเศษในสถาบันกวดวิชาได้ค่าจ้างเดือนละ 5 พันบาท และจัดสอนพิเศษเองได้เดือนละ 6 พันบาท รายได้ต่อเดือนตกอยู่ที่ 2 หมื่นกว่าบาท ครูในโรงเรียนเดียวกันบางคนมีรายได้เดือนละเป็นแสนเพราะมีสถาบันกวดวิชาเป็นของตัวเอง”

ถามถึงสวัสดิการ เธอบอกว่า มีค่ารักษาพยาบาลในจำนวนและเงื่อนไขที่ไม่ต่างจากบริษัทเอกชนทั่วไปสักเท่าไหร่ หากบุตรของครูเข้าเรียนในโรงเรียนบางแห่งจะได้รับการยกเว้นค่าเล่าเรียน และโรงเรียนที่เธอสังกัดมีกองทุนสำหรับครูอีก 2-3 กองทุน

ลองมาดูค่าใช้จ่ายของเธอกันบ้าง หลักๆ แล้วแต่ละเดือนเธอเสียแค่ค่าที่พักและค่าอาหาร จึงไม่แปลกใจที่จะมีเงินเก็บเดือนละประมาณ 1 หมื่นบาททีเดียว

ในฐานะที่เธอมีแม่เป็นครูโรงเรียนรัฐบาล จึงบอกเล่าประสบการณ์ว่า ครูโรงเรียนรัฐบาลมีอัตราการกู้หนี้ยืมสินที่สูงเพราะมีความมั่นคงในอาชีพสูง จึงไม่แปลกที่ธนาคารจะให้สิทธิการกู้เงินแก่ครูโรงเรียนรัฐบาลและข้าราชการมากเป็นพิเศษ แต่ครูโรงเรียนเอกชนทำเรื่องกู้เงินยากกว่า เพราะตัวเลขเงินเดือนน้อย

“อย่ามองแค่ว่าครูเป็นหนี้สินเยอะ เพียงแค่คนที่เป็นครูมีจำนวนมากกว่าข้าราชการในสายงานอื่นเท่านั้น ความมั่นคงในอาชีพของข้าราชการ ทำให้ธนาคารหรือแหล่งเงินกู้ให้สิทธิข้าราชการกู้ได้อย่างเต็มที่ เพราะถือว่าหากเสียชีวิตไป ยังไงหนี้ก็ไม่สูญ” เธอวิเคราะห์สาเหตุการเป็นหนี้สินล้นพ้นตัวของข้าราชการไทย”

......

ก็ใช่ว่าครูทุกคนจะเป็นหนี้กันเสียทั้งหมด ครูที่ไม่เป็นหนี้ก็มีเยอะ ซึ่งอาจจะมีสถานภาพทางสังคมดีอยู่แล้ว มีสภาพแวดล้อมที่ดี มีคุณธรรม จริยธรรม ซึ่งเป็กลุ่มครูที่หันมาให้ความสำคัญกับความพอใจที่จะอยู่อย่างพอเพียง ไม่ต้องขี่รถโก้หรู (ที่เอาเงินกู้ไปซื้อ) ก็พอมี แต่ไม่มากพอที่จะให้สังคมครูพอเอาเป็นตัวอย่าง ทว่าครูที่เป็นหนี้ลองหันมามองครูกลุ่มน้อยที่เขาใช้ชีวิตอยู่แบบพอเพียงก็อาจจะทำให้รู้สึกว่า การไม่มีหนี้เป็นลาภอันประเสริฐ หรือคล้ายๆ กับการ อโรคยา ปรมา ลาภา การไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐนั่นแหละ

***********

เรื่อง-ทีมข่าว CLICK
ภาพ-ทีมภาพ CLICK




กำลังโหลดความคิดเห็น