สปสช.แจงใช้งบกองทุนหลักประกันสุขภาพ ปี 2553 นำร่อง สปสช.เขต กทม.-โคราช บริหารจัดการงบเอง หวังสอดคล้องความต้องการแก้ปัญหาในพื้นที่ เพิ่มสิทธิประโยชน์ตรวจหาโรคแทรก จากเบาหวาน-ความดัน พร้อมสนองนโยบายรัฐ หนุน รพ.สต.จัดงบเพิ่ม 50 ต่อหัว เพิ่มศักยภาพการให้บริการ
วันที่ 1 ตุลาคม ที่โรงแรมรามาการ์เดน กทม.นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นประธานเปิดการประชุมชี้แจงการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพ ปีงบประมาณ 2553 และมอบรางวัล สปสช.สาขาจังหวัดและเขตดีเด่นด้านการบริหารงบลงทุนประจำปี 2552 เพื่อสร้างความเข้าใจแนวทางการจัดสรรงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้กับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไป รวมถึงผู้บริหาร สปสช.เขตและสาขาจังหวัด
นพ.วินัย กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2553 รัฐบาลอนุมัติงบประมาณเหมาจ่ายรายหัว 2,401.33 บาท เพิ่มจากเดิม 199.33 บาทต่อประชากร รวมเป็นเงินกว่า 1 แสนล้านบาท โดยเป็นปีแรกที่มีการแยกกองทุนโรคเรื้อรัง สำหรับโรคเบาหวานและโรคความดัน 304 ล้านบาท โดยได้เพิ่มสิทธิประโยชน์ในการตรวจหาโรคแทรกซ้อนจากเบาหวานขึ้นตา และโรคแทรกซ้อนจากไต รวมทั้งมีการจัดระบบการจัดสรรงบประมาณใหม่สำหรับการรักษาโรคนิ่วในไต จากเดิมที่ใช้งบประมาณ 300 บาทในการรักษา ให้มีการปรับลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออก และเพิ่มสัดส่วนให้เป็นค่าผ่าตัดนอกเวลาสำหรับแพทย์และเจ้าหน้าที่เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการของประชาชนให้มากขึ้น วิธีนี้จะช่วยลดคิวการผ่าตัดนิ่วซึ่งจากเดิมต้องรอคิวนานเฉลี่ย 6-8 เดือน นานที่สุด 2 ปี ซึ่งหากปล่อยไว้นานจะทำให้เกิดโรคไตวายเรื้อรังตามมา
นพ.วินัย กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ มีการจัดสรรงบเฉพาะหรับจัดหายาที่เข้าถึงยาก เช่น ยาที่ดำเนินการบัตรคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร (ซีแอล) ยาที่มีราคาแพงแต่มีความจำเป็นต้องใช้ยา ยาจิตเวชที่อยู่ระหว่างการนำเข้าบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติ รวมไปถึงอุปกรณ์เครื่องมือที่มีค่าใช้จ่ายสูง เช่น สายสวนหัวใจ โดยหามาตรการที่จะช่วยให้ราคาลดลง
“ในการสนองนโยบายพัฒนาสถานพยาบาลระดับปฐมภูมิ ได้จัดสรรงบประมาณ 50 บาทต่อหัวประชากร ให้กับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ที่ผ่านเกณฑ์รับรองในการให้บริการประชาชนในพื้นที่ ซึ่งจะได้รับงบจากโครงการไทยเข้มแข็งในปี 2553 ในการซื้อเครื่องมือทางการแพทย์ ปรับปรุงอาคารสถานที่ ซึ่งหากมีอัตราการเพิ่มของประชากรในพื้นที่ให้บริการมากก็จะยิ่งได้งบประมาณมากยิ่งขึ้น ถือเป็นการส่งเสริมสนับสนุนการบริการของ รพ.สต.”นพ.วินัย กล่าว
นพ.วินัย กล่าวต่อว่า สำหรับแนวทางการบริหารจัดการ คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) มีมติเห็นชอบให้มีการนำร่องรูปแบบการบริหารแบบเขตบริการสุขภาพ ซึ่งเป็นการกระจายอำนาจจากส่วนกลางให้สปสช.เขต โดยเริ่มจาก 2 เขต คือ เขต 13 กรุงเทพมหานครและสปสช.เขต 9 นครราชสีมา เนื่องจากมีศักยภาพในการบริหารจัดการได้ สามารถกำหนดแนวทางการจ่ายงบในส่วนของผู้ป่วยนอกให้สอดคล้องกับสภาพประชากร ส่วนผู้ป่วยในให้จ่ายตามสัดส่วนอายุตามโครงสร้างประชากรของประเทศ ซึ่งเป็นการตอบสนองปัญหาในพื้นที่และพัฒนาบริการได้ดีกว่า และหากการบริหารรูปแบบดังกล่าวประสบผลสำเร็จจะขยายไปเขตพื้นที่อื่นๆ ต่อไป ขณะที่ส่วนกลางจะเป็นผู้กำหนดกรอบแนวทางเท่านั้น
“อย่างในบางเขตพื้นที่อาจไม่มีศูนย์มะเร็ง ศูนย์โรคหัวใจก็สามารถบริหารจัดการหรือหาแนวทางในการพัฒนาบริการ เช่น อาจจัดให้มีการบริการบางประเภท เช่น มีบริการเคมีบำบัด หรือ ใช้วิธีการส่งต่อไปในพื้นที่จังหวัดใกล้เคียง” นพ.วินัย กล่าว
นพ.วินัย กล่าวอีกว่า สำหรับการจัดสรรงบประมาณเหมาจ่ายรายหัว แบ่งได้ดังนี้ บริการผู้ป่วยนอก 754.63 บาท งบบริการผู้ป่วยใน 894.28 บาท บริการผู้ป่วยนอกและในสำหรับโรงพยาบาลเงื่อนไขพิเศษ 72.75 บาท บริการส่งเสริมป้องกันโรค 271.79 บาท การให้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล 11.36 บาท บริการค่ามีใช้จ่ายสูง 186 บาท งบค่าเสื่อมหรืองบลงทุนเพื่อการทดแทน 148.69 บาท บริการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ 8.08 บาท เงินช่วยเหลือเบื้องต้นผู้ให้บริการ 0.78 บาท พัฒนาคุณภาพบริการเพิ่มจาก 20 บาทเป็น 40 บาท สนับสนุนบริการการแพทย์แผนไทยและทางเลือก 2 บาท งบส่งเสริมบริการปฐมภูมิ 10.63 บาท และส่งเสริมบริการตติยภูมิเฉพาะด้าน 0.84 บาท สำหรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้รับบริการตามมาตรา 41 นั้นให้ใช้งบคงเหลือ