นายกฯ รับเรียนฟรี 15 ปียังไม่ได้ 100% ตามระดับคุณภาพที่หลายคนอยากเห็น ชี้โจทย์ท้าทายไม่เพิ่มภาระผู้ปกครอง หรือมีคุณภาพแต่มีค่าใช้จ่าย ระบุคนไทยยังติดค่านิยมสอบเข้าแต่มหา’ลัยดัง แนะวางแผนระยะยาวรื้อใหญ่ระบบแอดมิชชัน อย่าปรับเพียงแค่เล็กน้อย หวั่นเป็นคอขวดการศึกษาไทย พร้อมย้ำสถาบันคุรุศึกษาฯ ไม่ซ้ำซ้อน ไม่แข่งผลิตครู เป็นเพียงกำกับดูแล พัฒนานวัตกรรมผลิตครู ห่วงหากระบบราชการยังผูกขาดอำนาจจัดการศึกษา ไม่เอื้อคล่องตัว ก็มีแต่ขัดแย้ง ต้องยอมสละอำนาจ การผูกขาด ระดมพลังทางสังคมช่วยหนุนปฏิรูปสำเร็จได้
วันนี้ (28 ก.ย.) เมื่อเวลา 11.00 น.ที่ห้องภาณุรังษี โรงแรมรอยัลริเวอร์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวในการปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ทศวรรษที่สองของการปฏิรูปการศึกษา : ปัญหาและทางออก” ตอนหนึ่งว่า ประเด็นการแก้ปัญหาการศึกษาไม่ใช่หน้าที่ของรัฐบาลอย่างเดียว แต่ทุกคนต้องช่วยกันเพื่อให้การศึกษามีคุณภาพและได้มาตรฐาน ขณะเดียวกัน ต้องยอมรับว่าการศึกษาระบบใหญ่ เกิดการจัดการที่ไม่คล่องตัว หลายเรื่องที่ตั้งใจเอาไว้ ใช้เวลานานกว่าจะทำให้สำเร็จ หลายเรื่องประสบปัญหา ไม่บรรลุเป้าหมาย เช่น นโยบายเรียนฟรี 15 ปี ที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในปีนี้นั้น ก็ต้องยอมรับว่ายังทำไม่ได้ 100% เพราะติดปัญหาเรื่องการจัดการงบ ผู้บริหารสถานศึกษาต้องดิ้นรนหาปัจจัย ทรัพยากร จึงมีคำถามว่าเรื่องดังกล่าวกำลังสวนทางกับนโยบายเรียนฟรีหรือไม่ ผู้ปกครอง นักเรียน ครู ทำได้แต่ยังไม่ใช่ระดับคุณภาพที่หลายคนอยากเห็น เพราะมีเรื่องค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นหลายเรื่อง เช่น การสอนภาษา ที่ต้องเอาครูต่างประเทศมาสอนเพื่อให้ได้คุณภาพจริง หรือเรื่องของคอมพิวเตอร์ ที่ยังไม่เพียงพอกับนักเรียน ซึ่งกิจกรรมพิเศษเหล่านี้ยังเป็นโจทย์ที่ท้าทาย ระหว่างการไม่เพิ่มภาระให้แก้ผู้ปกครอง หรือ การทำให้มีคุณภาพแต่ต้องมีค่าใช้จ่าย
นายอภิสิทธิ์กล่าวต่อว่า ที่ต้องจับตาดูคือคุณภาพภาพรวมซึ่งการเริ่มต้นปฏิรูปฯ รอบ 2 นี้เป็นโอกาสที่ดีที่จะได้ทบทวน ซึ่งตนยืนยันว่าการปฏิรูปการศึกษาในปี 2542 นั้นเป็นหลักการที่ดี แต่การเอาหลักการไปใช้บางสำเร็จบ้าง ไม่สำเร็จบ้าง บางเรื่องสำเร็จแต่ไม่ถึงเป้า เช่น การประเมินคุณภาพการศึกษา ซึ่งมีการจัดตั้ง สมศ. ขึ้น ช่วงแรกเจอเสียงวิจารณ์อย่างหนัก แต่ที่สุดงานของ สมศ. ก็ดำเนินการได้ตามเป้า มีความสำเร็จเกินคาด แต่น่าเสียดายคือผลจากการประเมินกลับไม่ได้ถูกนำมาใช้อย่างแท้จริง ในส่วนของการปรับโครงสร้างภายในกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กว่าจะทำได้ต้องใช้เวลานาน บางเรื่องเกิดความขัดแย้งเชิงการเมือง การบริหาร ทำให้การปรับโครงสร้างใช้เวลานานเกินไป หลายเรื่องจึงเดินหน้าไม่ได้ ทั้งการแยกประถม มัธยม หรือการกระจายอำนาจ ซึ่งยังเถียงกันไม่จบ
“การปฏิรูปฯ รอบ 2 นี้ต้องยึดวิสัยทัศน์หลัก คือ การสร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ หมายถึงการจัดการศึกษาต้องครอบคลุมมากกว่านี้ที่สุดการศึกษาในระบบให้ความรู้ ทักษะ แต่ความรู้ที่ประชาชนจะได้รับยังไม่เพียงพอ หากไม่สามารถเรียนรู้ด้วยตนเองได้ ซึ่งต้องสร้างคุณภาพ สภาพแวดล้อมที่ต้องเอื้ออำนวยด้วย” นายกฯ กล่าว
นายอภิสิทธิ์กล่าวต่อว่า สำหรับค่านิยมด้านการศึกษา กระบวนการสอบคัดเลือกยังถือเป็นปัญหาใหญ่ ในเรื่องของค่านิยม ที่ต้องการเข้ามหาวิทยาลัยดีๆ แต่กลับไม่สอดคล้องกับระบบเศรษฐกิจ สังคม เพราะเรียนโดยไม่คำนึงถึงผู้เรียน อย่างไรก็ตาม ในการปรับรื้อระบบคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา (แอดมิชชัน) ตนมอบหมายให้ รมว.ศธ.ทำงานร่วมกับอธิการบดีมหาวิทยาลัยต่างๆ และให้นโยบายไปว่าอย่าปรับเพียงแค่เล็กน้อย แต่ให้ปรับรื้อใหญ่ไปเลย แต่ต้องวางแผนในระยะยาวเพื่อไม่ให้กระทบต่อเด็ก ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่ต้องทำเรื่องนี้ไม่เช่นนั้นจะยังเป็นคอขวดต่อการศึกษาไทยต่อไป
นายอภิสิทธิ์กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ ตามมติคณะรัฐมนตรี ได้เห็นชอบให้ตั้งองค์กรเพื่ออุดช่องโหว่ทางการศึกษาที่เกิดขึ้นในช่วงปฏิรูปฯ 10 ปีแรก คือ สถาบันคุรุศึกษาแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับของรัฐ เพื่อประกันรับรองสถาบันผลิตครูและการเรียนรู้ของครู ทั้งนี้หลายฝ่ายมองว่าองค์กรนี้อาจมีการทำงานที่ซ้ำซ้อนหรือไม่นั้น ยืนยันว่าไม่ใช่มีหน้าที่แข่งผลิตครูแต่ทำหน้าที่กำกับดูแลและพัฒนานวัตกรรมในการผลิตครูอีกชั้น จึงมีความจำเป็นเพราะในที่สุดจะพบว่าไม่มีที่ไหนที่การคึกษาจะประสบความสำเร็จถ้าวิชาชีพครูอ่อนแอ
นอกจากนี้ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพแห่งชาติมีหน้าที่ประเมินวิชาชีพตามเกณฑ์มาตรฐานในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งไม่อยู่ในระบบราชการ และให้สถาบันสะท้อนเพื่อทำให้เกิดความตื่นตัวมากขึ้นว่าผลสัมฤทธิ์ไม่ได้อยู่ที่ใบปริญญา แต่อยู่ที่ทักษะที่สามารถนำไปใช้ได้จริง อีกทั้งยังมี สถาบันเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาแห่งชาติและกองทุนเพื่อการศึกษาแห่งชาติ ทำหน้าที่สนับสนุนเทคโนโลยีทางการศึกษา ซึ่งการมีกองทุนตรงนี้จะนำมาใช้โดยมีการทำสถานีโทรทัศน์เพื่อการศึกษาและทำสื่ออื่นให้การศึกษามีคุณภาพ และ องค์กรสุดท้ายคือมีการปรับสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) เป็นสำนักงานศึกษาตลอดชีวิต โดยมีหน้าที่เพื่อเน้นย้ำการศึกษาตลอดชีวิต เพื่อสอดรับกับเป้าหมายของการปฏิรูปฯ รอบ 2
“ผมอยากให้ความมั่นใจว่ารัฐบาลจะเดินหน้าผลักดันการปฏิรูปฯ รอบ 2 อย่างเต็มที่ และในการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 ที่กำลังทำ ก็จะยืนยันที่จะผลักดันการเรียนรู้ตลอดชีวิต แต่ว่าสิ่งที่คงต้องย้ำคือไม่ว่ารัฐบาลจะมีความตั้งใจจะทุ่มเทอย่างไร การปฏิรูปจะประสบความสำเร็จ เข้มแข็งมากน้อยแค่ไหนอยู่ที่สังคมโดยส่วนรวมมากกว่า และอยู่ที่ความตั้งใจและความกล้าหาญของผู้ที่เกี่ยวข้องด้วย”นายกฯ กล่าว
นายอภิสิทธิ์กล่าวด้วยว่า ต้องยอมรับว่าการปฏิรูปในปัจจุบันหน่วยงานในภาครัฐต้องยอมรับข้อเท็จจริง 2 ข้อจึงจะสำเร็จในการทำงาน คือ 1.ปัจจุบันบทบาทของการศึกษาในระบบ คือ ความรับผิดชอบของกระทรวงและหน่วยงานเป็นเพียงส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างคน 2.ต้องยอมรับว่าปัญหาและความล้มเหลวในหลายเรื่องเพราะในวงการและระบบราชการเองยังมีการผูกขาดอำนาจในการจัดการศึกษา ไม่เอื้อให้เกิดความคล่องตัว ถ้าหากว่าคนในวงการการศึกษาเดินหน้าปฏิรูปฯ ยังถามว่าตัวเองจะได้อะไร ก็จะเห็นความขัดแย้งกันระหว่างหน่วยงานและคนทำงาน และลืมไปว่านั่นไม่ใช่เป้าหมายของการปฏิรูป เพราะต้องอยู่ที่เด็กและเยาวชน ถ้าสามารถสละตรงนี้ได้ในแง่ของอำนาจและการผูกขาดจะทำให้การระดมพลังทางสังคมมาสนับสนุนการปฏิรูปได้