xs
xsm
sm
md
lg

ครู 3 จชต.จี้ ครม.ปรับเบี้ยเสี่ยงภัย-ประกันชีวิต เสนอแยกงบการศึกษาออกจากงบ กอ.รมน.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
ครู 3 จังหวัดชายแดนใต้ พร้อม ส.ว.บุกกระทรวงศึกษาธิการ รายงานสถานการณ์ปัจจุบัน จี้ ครม.ปรับเบี้ยเสี่ยงภัยจาก 1,000 เป็น 2,500 บาท และปรับเบี้ยประกันชีวิตจาก 5 แสน เป็น 1 ล้านบาท ขอให้ทบทวนแยกงบ เพื่อการศึกษาจากงบ ของ กอ.รมน.ปรับให้คล่องตัวขึ้น ดัน ศอ.บต.เป็นหน่วยงานอิสระไม่ขึ้นกับ กอ.รมน.

วันนี้ (18 ก.ย.) ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) สมาพันธ์ครู 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประมาณ 60 คน พร้อมด้วย นายประเสริฐ ชิตพงศ์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จ.สงขลา และ นายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล สว.สรรหา เข้าพบ คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เพื่อเยี่ยมคารวะและหารือถึงผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และแนวทางการแก้ไขปัญหาการศึกษา
 
โดย นายบุญสม ทองศรีพลาย ประธานสมาพันธ์ กล่าวว่า ทางสมาพันธ์ได้รายงานให้ทราบถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ซึ่งขณะนี้เหตุการณ์เกิดขึ้นน้อยลง แต่รูปแบบวิธีการกระทำกลับเป็นการมุ่งเน้นชีวิตและทรัพย์สินในภาพรวมมากขึ้น นอกจากนี้ ได้เสนอถึงแนวทางการจัดการศึกษาในพื้นที่ที่ต้องอาศัยการจัดการที่เป็นระบบโดยให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม และเน้นคุณภาพชีวิตของเด็กและผู้ปกครอง

“ในมุมมองของครูอยากให้กองกำลังทบทวนยุทธศาสตร์การข่าว และกองกำลังที่จะลงไปในพื้นที่ ซึ่งต้องเรียนรู้วิถีชีวิตแบบพหุวัฒนธรรม และเข้าใจหลักศาสนาให้ถ่องแท้ รวมทั้งไม่ควรเปลี่ยนกองกำลังบ่อยจนเกินไป และอยากให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) บริหารงบประมาณให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการแก้ปัญหา ตลอดจนควรวิเคราะห์และนำผลที่ได้จากการปฏิบัติในโครงการต่างๆ มาเสนอต่อสาธารณชน นอกจากนี้ ขอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เร่งอนุมัติการปรับเพิ่มเบี้ยเสี่ยงภัยให้กับครูในพื้นที่จากเดิม 1,000 บาท เป็น 2,500 บาท เนื่องจากค่าครองชีพแตกต่างจากพื้นที่อื่น โดยเฉพาะรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นจากความไม่จำเป็น เช่น ซื้ออุปกรณ์สำหรับป้องกันชีวิต รวมทั้งจะต้องปรับเบี้ยประกันชีวิตของครูเพิ่มขึ้นจากเดิม 5 แสนบาท เป็น 1 ล้านบาท ซึ่งปัจจัยเหล่านี้เป็นสิ่งที่จะนำมาสู่คุณภาพการศึกษา และแรงจูงใจให้ครูอยู่ในพื้นที่ต่อไป” นายบุญสม กล่าว

ด้าน นายประเสริฐ กล่าวว่า สถานการณ์ในขณะนี้ทุกภาคส่วนได้รับผลกระทบหมด แต่ที่น่าเป็นห่วงมากที่สุด คือ เรื่องการศึกษา เพราะเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยแก้ปัญหา ถ้าคนมีการศึกษาแล้วเชื่อว่าจะทำให้คนมีอาชีพ และมีทัศนคติที่ดีขึ้น ดังนั้นการศึกษาจึงต้องเดินหน้าต่อไปท่ามกลางวิกฤติเช่นนี้ โดยจะต้องเสริมเรื่องขวัญกำลังใจของครูทั้งค่าตอบแทน และสวัสดิการอื่นๆ ทั้งนี้จากการติดตามตรวจสอบในฐานะที่เป็นประธานคณะอนุกรรมาธิการวิสามัญว่าด้วยการศึกษาติดตาม ตรวจสอบการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ วุฒิสภานั้น พบว่าขณะนี้ยังไม่มีปัญหาการใช้งบที่ไม่ถูกต้อง แต่จะติดขัดเรื่องการเบิกจ่ายงบฯ จากกอ.รมน.ซึ่งยุ่งยากและล่าช้า

“อยากให้รัฐบาลทบทวนโครงสร้างการใช้จ่ายงบฯ ของ กอ.รมน. ที่รัฐบาลได้จัดลงไปให้ประมาณ 7,000 กว่าล้านบาท เพราะการของบใช้เพื่อดำเนินการด้านการศึกษา โดยเฉพาะการพัฒนาเยาวชน การพัฒนาอาชีพ และการพัฒนาโรงเรียนในบางลักษณะ หากทำให้เกิดความยุ่งยาก และสลับซับซ้อนในการนำงบมาใช้ก็จะไม่ทันการ จึงควรปรับให้มีความคล่องตัวสะดวก และเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม ผมมองว่า ทางที่ดีรัฐบาลควรแยกเรื่องการพัฒนาการศึกษา เศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากรมนุษย์ ออกจากการดูแลสูงสุดของ กอ.รมน.ไม่ควรผูกไว้กับงานที่เกี่ยวกับความมั่นคง และควรผลักดันศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ให้เป็นหน่วยงานอิสระที่ไม่ต้องขึ้นกับ กอ.รมน.เพื่อจะได้ดูแลอนุมัติงบในการดำเนินการต่างๆ ที่ไม่เกี่ยวกับความมั่นคง” นายประเสริฐ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น