xs
xsm
sm
md
lg

สพฐ.เร่งตั้ง 4 สถาบันวิชาหลัก ดึงกูรูยกระดับคุณภาพนักเรียน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
“กษมา” เผย สพฐ.เตรียมเร่งตั้ง 4 สถาบันพัฒนาคุณภาพการศึกษาเด็กไทยใน 4 วิชาหลัก ได้แก่ สถาบันคณิตศาสตร์ สถาบันวิทยาศาสตร์ สถาบันสังคมศึกษา และสถาบันภาษาไทย พร้อมดึงผู้เชี่ยวชาญแต่ละสาขาเข้ามาเป็นบุคลากรของสถาบันด้วย

จากที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ต้องการให้ตั้งสถาบันเฉพาะวิชาในสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อทำหน้าที่วิจัย และพัฒนาในวิชานั้นๆ เช่นเดียวกับที่มีสถาบันการเรียนการสอนภาษาอังกฤษที่ทำแล้วประสบความสำเร็จนั้น

คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า สพฐ.จะตั้งหน่วยงานเฉพาะกิจ 4 หน่วยงาน ได้แก่ สถาบันคณิตศาสตร์ สถาบันวิทยาศาสตร์ สถาบันสังคมศึกษา และสถาบันภาษาไทย โดยสถาบันจะมีหน้าที่วิเคราะห์ วิจัย หาตัวอย่างดีๆ และแนวทางเพื่อเร่งพัฒนาคุณภาพ ประสานกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ศึกษานิเทศก์ พัฒนาครู โรงเรียน ตามกลุ่มสาระตามที่สถาบันดูแล รวมถึงวิเคราะห์คุณภาพนักเรียน ซึ่งการที่มีสถาบันและมีกลุ่มสาระหลักรับผิดชอบ จะทำให้การวิเคราะห์ การออกแบบเพื่อการพัฒนานักเรียน ครู จะชัดเจนมากขึ้น ส่วนบุคลากรที่จะมาปฏิบัติหน้าที่ จะสรรหามาจากผู้รู้ ผู้ที่เชี่ยวชาญจากวิชานั้นๆ คาดว่า ภายในเดือนกันยายนการตั้งสถาบันต่างๆ น่าจะแล้วเสร็จ

“ที่ผ่านมา เราจะมีปัญหาเรื่องผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ดังนั้น ทาง สพฐ.จึงตั้งหน่วยงานเฉพาะกิจ 4 หน่วยงานขึ้นมาเร่งคุณภาพ เพราะเห็นสถาบันภาษาอังกฤษ ทำแล้วได้ผลดี ซึ่งเราจะถอดบทเรียนตรงนี้มาเป็นแนวทำงาน และหวังว่า การจัดตั้งเป็นสถาบันจะเกิดการขับเคลื่อนการระดมพลังไปใกล้สถานศึกษามากขึ้น ตอนนี้โครงสร้างเริ่มลงตัว คาดว่าตุลาคมจะดำเนินการได้อย่างเต็มที่ โดยตั้งเป้าไว้ว่า เมื่อตั้งสถาบันแล้วผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนต้องขยับขึ้น”

คุณหญิงกษมา กล่าวอีกว่า ในระยะแรกจะเน้นการเปลี่ยนแปลงการเรียนการสอนมากที่สุด หากไปเน้นการสร้างสื่อใหม่ การวิจัย จะทำให้ติดอยู่ตรงนั้น การจะเคลื่อนไปสู่สถานศึกษาจะไม่ได้ผลเท่าที่ควร อย่างไรก็ตาม ในปีแรกจะเน้นเรื่องการเรียนการสอนในระดับสถานศึกษา แต่จะไม่เอารูปแบบไปยัดเยียอดให้สถานศึกษา แต่จะตามไปดูว่าขาดอะไร เพื่อเสริมส่วนที่ขาด จะต้องลงไปดูว่าขณะนี้ผลการเรียนการสอนที่ต่ำลงเกิดจากสาเหตุใด ส่วนสิ่งดีๆ เราจะนำมาขยายผลต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น