xs
xsm
sm
md
lg

วีรชน 7 ตุลาคม สู่พัฒนาการของวีรชนไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เหมือนกับว่า ‘วีรชน’ จะเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับประวัติศาสตร์การเมืองไทยมาโดยตลอด นิยามของคำคำนี้ย่อมไม่อาจหาจุดลงเอยได้ในทุกๆ คน วีรชนสำหรับบางคน อาจไม่ใช่สำหรับบางคน

แต่ถ้าวีรชนหมายถึงคนที่ตายไปแล้ว อันเป็นผลจากความรุนแรงที่เกิดจากการใช้สิทธิในการชุมนุม ประเด็นคงอยู่ที่ว่าทำไมการเมืองไทยถึงจะต้องมีวีรชนอยู่เรื่อยๆ ทำไมจึงต้องมีความรุนแรง ทำไมรัฐจึงใช้ความรุนแรงกับประชาชน จนเกิดวีรชนขึ้น

วีรชนคืออะไร

“ความหมายมันลงตัว คือผู้ที่ได้เสียสละเพื่อประเทศชาติและเพื่อประชาชน ในประเทศมีเงื่อนไขที่ทำให้เกิดวีรชนหลายต่อหลายครั้ง ในการต่อสู้ทางการเมือง ไม่ว่าจะในระดับท้องถิ่นหรือระดับประเทศ เราก็ได้มีผู้เสียสละเสมอมา ถ้าเป็นเหตุการณ์ครั้งใหญ่ เราจะนึกกันถึงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516, 6 ตุลาคม 2519, พฤษภาทมิฬในปี 2535 และเหตุการณ์ 7 ตุลาคม ปี 2551 ที่ผ่านมา ในเหตุการณ์เหล่านั้น มีผู้เสียสละชีวิต เสียสละร่างกาย ซึ่งพวกเขาเหล่านั้นคือวีรชน” พิภพ ธงไชย หนึ่งในแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยบอกคำนิยาม

คนบางกลุ่มอาจมองว่าเหตุการณ์สลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ไม่ได้มีความสลักสำคัญทางการเมืองอะไรนัก เมื่อเทียบกับเหตุการณ์ในอดีต แต่สำหรับ สุริยันต์ ทองหนูเอียด รักษาการเลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) เขามองความเชื่อมโยงของเหตุการณ์ ‘7 ตุลา 51’ กับเหตุการณ์ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยในอดีตอย่างเหตุการณ์ ‘14 ตุลา 16’ , ‘6 ตุลา 19’ และเหตุการณ์พฤษภาทมิฬว่า

“สะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการการเติบโตของการเมืองภาคประชาชนที่มีการตื่นตัวและยกระดับขึ้นมาหลายส่วน โดยมีการรวมตัวกันอย่างชัดเจน ก่อตัวกันอย่างเป็นกระบวนการ มีการจัดตั้งโครงสร้างอย่างชัดเจนระหว่างหลายองค์กร

“จะเห็นได้ว่าในเหตุการณ์เคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ ที่รณรงค์กันอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2548 ถึงปัจจุบัน สิ่งที่ผมเห็นคือการยกระดับเชิงคุณภาพของการเมืองภาคประชาชนที่มองในเรื่องอุดมการณ์ชาติ ที่มองในเรื่องคุณธรรมของระบบการเมือง สังคมที่เรียกว่าการเมืองใหม่ นี่เป็นทิศทางใหม่ที่เป็นคุณภาพของการต่อสู้”

ในการต่อสู้ของภาคประชาชนที่สูญเสีย ต้องเสียสละ และมีประวัติศาสตร์ต้องแลกด้วยเลือดเนื้อและน้ำตา เขาก็เห็นพัฒนาการของการเมืองที่เปลี่ยนไป จากเผด็จการทหารที่ชัดเจนว่าเป็นเผด็จการที่ถือปืนมา แล้วก็ใช้อำนาจเข้าควบคุมตอน 14 ตุลาฯ พอพฤษภาฯ ก็เปลี่ยนมาเป็นเผด็จการของนักการเมืองที่เข้ามาในระบบรัฐสภา แล้วก็ใช้อำนาจนั้นไปเพื่อประโยชน์ของตัวเอง แล้วเกิดกระบวนการทุจริตคอร์รัปชันที่เรียกว่า ‘บุฟเฟต์ คาบิเนต’ มาถึงช่วงหลังรัฐบาลทักษิณ สังคมไทยก็ต้องเผชิญหน้ากับการเมืองที่เรียกว่าเผด็จการของนักธุรกิจการเมือง ซึ่งก็กลายเป็นว่าเผด็จการของนักธุรกิจการเมืองมีความรุนแรงในการทำลายทรัพย์สมบัติของประเทศชาติหรือผลประโยชน์ของประชาชนสูง ซึ่งมีความจำเป็นที่ภาคประชาชนต้องรวมตัวกันและชูอุดมการณ์ของความรักชาติ ชูอุดมการณ์ของการเรียกร้องคุณธรรมของนักการเมืองหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

ทำไมจึงต้องมีวีรชน

ดังที่ได้ตั้งประเด็นไว้แต่ตอนต้นว่า แล้วทำไมจึงต้องมีการเสียเลือดเนื้อของประชาชนด้วย แม้ว่าการเป็นวีรชนในเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งฟังดูเป็นเรื่องมีเกียรติ แต่มันก็ไม่คุ้มค่าเมื่อเทียบกับชีวิตคนทั้งชีวิต

ในเหตุการณ์ 7 ตุลาคม 51 ที่มีผู้เสียชีวิต 2 คน คือ อังคณา ระดับปัญญาวุฒิ กับ พ.ต.ต.เมธี ชาติมนตรี น้องเขย การุณ ใสงาม อดีตวุฒิสภาจังหวัดบุรีรัมย์ มีผู้พิการ และบาดเจ็บอีกนับร้อย สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร พิภพอธิบายว่า

“มันขึ้นอยู่กับว่า ผู้มีอำนาจนั้นจะใช้ความรุนแรงหรือไม่ ทางฝั่งประชาชนนั้น ไม่คิดจะใช้ความรุนแรง เว้นแต่กรณีของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเท่านั้นเอง แต่เมื่อสถานการณ์ได้คลี่คลายลงไป ประชาชนส่วนใหญ่มักจะใช้การต่อสู้ที่มีความคิดแบบสันติวิธีเป็นฐาน ฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ความรุนแรงทั้งหมดจะเกิดจากทางฝั่งผู้มีอำนาจรัฐที่เป็นเผด็จการ

“มันเป็นเรื่องที่เห็นกันอยู่ในประวัติศาสตร์ ประชาชนมักจะโดนล้อมปราบ หรือไม่ก็ลอบฆ่า อย่างกรณีของคุณสนธิ ลิ้มทองกุล การต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน มักจะต้องมีการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนรวมเข้าไปด้วยเสมอ ซึ่งกรณีนี้ เริ่มมาตั้งแต่สมัยราชการที่ 4 ที่มีหนังสือพิมพ์บางกอก รีคอเดอร์เกิดขึ้น นั่นทำให้เกิดการต่อสู้ผ่านทางหน้าหนังสือพิมพ์ กลายเป็นส่วนหนึ่งของการสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพ ไม่ว่าจะในรูปของวรรณกรรมหรือหนังสือพิมพ์ ต่อมาก็พัฒนาเป็นวิทยุ โทรทัศน์

“ความรุนแรงทั้งหมดเริ่มต้นจากการที่ชนชั้นปกครองใช้กำลังตอบโต้กับประชาชนที่ต้องการและออกมาเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ ในการเขียน การพูด การดำรงชีวิตและต้องการมีส่วนร่วมทางการเมือง”

อีกสาเหตุหนึ่งที่การต่อสู้เรียกร้องเพื่อประชาธิปไตยที่ผ่านมาในประวัติศาสตร์การเมืองไทยต้องจบลงด้วยเลือดเนื้อและน้ำตาแทบทุกครั้ง สุริยันต์มองว่าเป็นเพราะผู้มีอำนาจในขณะนั้นไม่ยอมให้ประชาชนตรวจสอบ และไม่ยอมให้ประชาชนลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงการใช้อำนาจ

“จริงๆ แล้วไม่ว่าเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ก็ดี 7 ตุลาฯ ก็ดี ถ้าผู้บริหารประเทศ ณ ขณะนั้นคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชน คำนึงถึงอนาคตของประเทศ ก็จะต้องใช้วิธีการพิจารณาหรือว่า ดุลยพินิจที่มองไปในทางที่สอดคล้อง คือว่าจะต้องยินดีและยินยอมให้กระบวนการประชาธิปไตยดำเนินต่อไป แต่ว่าที่เราเห็นคือผู้ปกครองในขณะนั้นจะยึดแต่ผลประโยชน์ของตัวเองและอ้างผลประโยชน์ของประชาชน แล้วก็เข้ามาสลาย เข้ามาโจมตี”

พวกเราไม่ใช่วีรชน

ใครๆ อาจจะเรียกผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเหยื่อการใช้ความรุนแรงของตำรวจว่า วีรชน แต่มีใครเคยถามคนเหล่านี้บ้างหรือไม่ว่า พวกเขาอยากเป็นวีรชนหรือไม่

ประเสริฐ แก้วกระโทก วัย 53 ปี ชาวนครราชสีมา เขาถูกรุมซ้อมบริเวณวิภาวดีซอย 3 จากคนที่ปาก้อนอิฐใส่รถในวันที่พันธมิตรฯ ดาวกระจายไปที่สนามบินดอนเมือง จนทำให้ได้รับบาดเจ็บสาหัส กระดูกสันหลังและมือหัก กะโหลกศีรษะร้าว ปัจจุบัน เขาไม่สามารถประกอบอาชีพได้ เป็นเหตุให้ลูกต้องออกจากโรงเรียน
เขาแสดงความคิดเห็นเรื่องวีรชนเพียงสั้นๆ ว่า

“ผมก็เพิ่งมารู้จักคำว่าวีรชนนะ ผมเดินเจ็บมาอย่างนี้ เขาก็ตั้งชื่อให้เลย ผมว่าไม่ใช่ครับ ผมเป็นผู้บาดเจ็บ วีรชนคือคนที่ตายไปแล้ว”

ไม่ต่างจาก ธัญญา กุลแก้ว อายุ 47 ปีผู้บาดเจ็บที่มีรูปถ่ายทอดออกสื่อมากที่สุดคนหนึ่ง เพราะเขาคือชายที่ถูกระเบิดจนขาซ้ายแหลกละเอียดที่ข้างรัฐสภา จนบัดนี้สภาพร่างกายของเขาก็ยังไม่ฟื้นสภาพเต็มที่ ภรรยาต้องเป็นผู้รับภาระทุกอย่างภายในบ้านแทน เขาบอกว่าเขาไม่ใช่วีรชน ไม่ใช่คนกล้า เป็นแต่คนที่มาเข้าร่วมเหตุการณ์ และอยู่ตรงนั้น

“วีรชนคล้ายๆ เป็นผู้กล้าใช่มั้ย แต่ผมว่ามันไม่ได้มากไปกว่าผู้กล้า ถามว่าเป็นผู้เสียสละมั้ย ผมก็ไม่ได้เป็นผู้เสียสละอะไรนักหนา เพียงแต่เรามาร่วมในเหตุการณ์ตรงนี้พอดี 7 ตุลาคม มันไม่ได้ยิ่งใหญ่เหมือนเหตุการณ์ในอดีต แต่กรณีนี้ความสูญเสียมันมาก พี่น้องพันธมิตรฯ นี่บาดเจ็บซะ 400 กว่า การเมืองก็ไม่ช่วยทำอะไรให้ดีขึ้น”

นาตยา เปลื้องสันเที๊ยะ วัย 46 ปี ผู้บาดเจ็บที่ขา และ กรณรัตน์ สถาปนุกูล อายุ 61 ปี ผู้ได้รับบาดเจ็บที่มือ เธอทั้งสอง แม้จะรู้สึกภูมิใจกับการถูกเรียกขานว่าวีรชน แต่ก็เหมือนกับผู้ได้รับบาดเจ็บคนอื่นๆ คือพวกเธอไม่ได้อยากจะเป็นวีรชน พวกเธอแค่ไปใช้สิทธิในการชุมนุม แต่แล้วรัฐก็ใช้ความรุนแรงเข้าสลาย
พวกเธอเป็นเพียงเหยื่อของเหตุการณ์

เมื่อใดจึงจะไม่ต้องสังเวยวีรชนอีก

เป็นคำถามใหญ่ที่ยังไม่มีใครตอบได้ อนาคตเป็นสิ่งที่ไม่มีคำตอบ พิภพบอกว่า
“จะมีการต่อสู้ไปตลอด เพราะสิทธิเสรีภาพที่สมบูรณ์ไม่อาจเกิดขึ้นได้ในวันเดียวหรือปีเดียว มันต้องดำเนินต่อไปโดยวิธีการที่เป็นแบบสันติวิธี ในขณะเดียวกัน ทางภาคชนชั้นปกครอง ก็ไม่อาจจะใช้ความรุนแรงได้มากเหมือนก่อน เพราะโดนบีบจากหลักการทางด้านสิทธิของพลเมือง

“วีรชน 7 ตุลา สามารถพัฒนาจนถึงขั้นสามารถควบคุมอารมณ์คุมสติ ทั้งๆ ที่นักการเมืองและตำรวจใช้ความรุนแรงอย่างเต็มที่ แต่พวกเขาก็สามารถยึดกุมแนวทางสันติวิธีเอาไว้ได้อย่างมั่นคง เป็นพัฒนาการของวีรชน ไม่มีการออกไปเผาบ้านเผาเมืองเหมือนเหตุการณ์ในอดีต”

คำตอบที่เป็นจั่วหัวข้างบนอาจจะไม่มีคำตอบ แต่เหตุการณ์ 7 ตุลาคม สำหรับสุริยนต์ อย่างน้อยที่สุดจะต้องเป็นการสร้างบรรทัดฐานใหม่บางประการให้เกิดขึ้นในสังคมไทย เพราะสิ่งหนึ่งที่เขาเห็นจากการสลายการชุมนุมเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในอดีตคือ คนที่ทำผิดไม่ต้องรับผิดชอบ ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 , 6 ตุลา 19 และเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ

“แต่เหตุการณ์ 7 ตุลาฯ เรายอมกันไม่ได้ เพราะเหตุการณ์ 7 ตุลาฯ มีบรรทัดฐานแล้ว ป.ป.ช.ชี้ว่าบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องมีความผิดทางวินัย มีความผิดทางอาญา ต้องถูกดำเนินการทางกระบวนการยุติธรรม หน้าที่ของเรานอกจากเคลื่อนไหวเพื่อให้เกิดบรรทัดฐานและเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองแล้ว

“หน้าที่เราอีกอย่างคือต้องทำให้กระบวนการบังคับใช้ทางกฎหมายเป็นจริง การปราบปรามประชาชน สำหรับคนที่ร่วมต่อสู้กันมา เราคิดว่าต้องเอาคนที่สั่งฆ่าประชาชนในเหตุการณ์ 7 ตุลาฯ มาลงโทษให้ได้ เราต้องทำอย่างที่เกาหลีใต้ทำ อย่างที่หลายประเทศเขาทำ”

สุริยันต์บอกว่า จากนี้ไปอีก 30 ปีข้างหน้า เมื่อมองย้อนกลับมาดูเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ทางการเมือง 7 ตุลาฯ สิ่งที่ประชาชนจะต้องรำลึกคือ เหตุการณ์นี้จะเป็นเหตุการณ์ที่นำไปสู่การบังคับใช้กฎหมายจัดการกับนักการเมืองหรือผู้มีอำนาจที่ใช้กำลังเข้าปราบปรามประชาชน

“7 ตุลาฯ จะต้องสถาปนาการตื่นตัวของประชาชนที่ลุกขึ้นต่อสู้โดยไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย โดยไม่รู้จักย่อท้อต่อความทุกข์ยากลำบาก เพราะว่า 7 ตุลาฯ มันก็คือผลพวงของการชุมนุมของพันธมิตรฯ 193 วันที่ชุมนุมมาตั้งแต่ปี 48 ถึงปัจจุบัน ก็คือการข้ามพ้นอย่างมีคุณภาพของการเมือง ที่จะต้องพัฒนาไปสู่การสร้างระบบให้ประชาชนออกมาต่อสู้ในฐานะผู้ต่อต้านไม่ใช่ ‘เหยื่อ’

“เพราะที่ผ่านมาการต่อสู้ของประชาชนที่ลุกขึ้นมาเรียกร้องก็กลายเป็นเหยื่อของการใช้ความรุนแรง ความจริงแล้วคนที่ลุกขึ้นมาต่อต้านน่าจะมีสิทธิในฐานะวีรชน ที่ลุกขึ้นมาปกป้องเอกราชและประชาธิปไตย ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่เราจะต้องจัดงานรำลึก 7 ตุลาฯ ในฐานะอย่างนั้น”

**************

เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : ทีมภาพ CLICK

กำหนดการงาน ‘7 ตุลา ต้องไม่สูญเปล่า’

ช่วงเช้า ตั้งแต่เวลา 05.30-12.00 น.
สถานที่-ลานพระบรมรูปทรงม้า, ถนนราชดำเนินนอก, ถนนราชดำเนินกลาง และอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

งานเริ่มตั้งแต่เช้าตรู่โดยจะมีพิธีกรรมทางศาสนาทั้งพุทธ คริสต์ และอิสลาม ทำบุญ ตักบาตร อุทิศส่วนกุศลแก่ผู้สูญเสีย ต่อด้วยกิจกรรมการอ่านบทกวีและการแสดงดนตรีบนเวทีที่ลานพระรูปฯ ปิดท้ายด้วยบทกวีสดุดีวีรชนของท่านอังคาร กัลยาณพงศ์ ก่อนจะเคลื่อนขบวนไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเพื่อประกาศเจตนารมณ์ ‘7 ตุลา ต้องไม่สูญเปล่า’

ช่วงบ่าย ตั้งแต่เวลา 13.00-22.00 น.
สถานที่-หอประชุมใหญ่ธรรมศาสตร์

มีการสรุปเหตุการณ์ 7 ตุลา การสดุดีวีรชน การถอดบทเรียน และการเสวนาเกี่ยวกับการเมืองไทยเวลา 17.00 เป็นต้นไปจึงเป็นการแสดงบนเวทีของศิลปินต่างๆ เช่น นิด กรรมาชน, แฮมเมอร์, สุกัญญา มิเกล, ซูซู เป็นต้น






กำลังโหลดความคิดเห็น