“กษมา” เผยเด็ก ป.3 อ่านไม่คล่อง 1 แสนคน พอนำผล NT แต่ละพื้นที่มาเปรียบเทียบ อยู่ระดับดี 126 เขต คงที่ 584 เขต ลดลง 165 เขต แย้มเตรียมนำข้อมูลมาประชุมกับ ผอ.สพท.26-28 พฤษภานี้ พร้อมพบเด็ก 401 คน ไม่จบ ม.6 สอบติดแอดมิชชัน
คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เปิดเผยว่า สพฐ.จะเชิญผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (ผอ.สพท.) ทุกเขตมาร่วมประชุมวันที่ 26-28 พ.ค.นี้ เพื่อวางแผนในการนำข้อมูลคะแนนของการประมวลผลการทดสอบการประเมินคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐาน (National Test : NT) และการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) มาใช้ปรับการเรียนการสอนในโรงเรียน โดยจะร่วมกันวางแผนโดยศึกษาข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูลรายโรงเรียน และรายคน รวมทั้งจะสรุปเปรียบเทียบผลคะแนนของกลุ่มโรงเรียนระดับจังหวัด และระดับเขตพื้นที่ เพื่อดูว่าโรงเรียนในแต่ละกลุ่มพัฒนาตนเองได้ดีขึ้นหรือต่ำลง
ขณะเดียวกัน จะวิเคราะห์โรงเรียนนำร่องที่ สพฐ.เข้าไปพัฒนาเรื่องการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ และโรงเรียนที่ สพฐ.ร่วมกับสถาบันส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) นำร่องพัฒนาการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์ จำนวน 1,750 โรง ว่า นักเรียนมีผลการเรียนดีขึ้นหรือไม่
ทั้งนี้ จากข้อมูลเรื่องการอ่านออกเขียนได้ในปีนี้ พบว่า นักเรียนในระดับ ป.3 ยังอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ถึง 21,000 คน และอ่านหนังสือไม่คล่อง จำนวน 100,000 คน จากนักเรียนในระดับ ป.3 ทั่วประเทศ 800,000 คน ส่วนระดับ ม.3 สพฐ.ได้นำคะแนนเฉลี่ย NT แต่ละวิชา (5 วิชา คือ ภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา และภาษาอังกฤษ) ของปี 2549 และ 2550 มาเปรียบเทียบแต่ละ สพท.และสรุปผลในภาพรวมได้ว่า ผลการเรียนของนักเรียน ม.3 อยู่ในระดับดี 126 เขต อยู่ในระดับคงที่ 584 เขต และอยู่ในระดับลดลง 165 เขต ซึ่งในการประชุม สพฐ.จะนำข้อมูลเหล่านี้เสนอต่อ ผอ.สพท.เพื่อให้ทราบนำไปปรับใช้วางแผนในการพัฒนาโรงเรียนในเขตที่ดูแล รวมถึงหารือเรื่องครูที่สอนไม่ตรงคุณวุฒิ อย่างไรก็ตาม คาดว่า การสอบบรรจุครูประมาณ 5,000 อัตรา จะสามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้
คุณหญิงกษมา กล่าวว่า สพฐ.เป็นห่วงมากที่สุด คือ ในปีนี้มีนักเรียนที่ไม่จบการศึกษาในปี 2550 หรือจบพร้อมรุ่นจำนวน 21,000 คน และในจำนวนนี้มีนักเรียนที่ไปสอบแอดมิชชัน ปี 2551 และได้รับการคัดเลือกจำนวน 401 คน ส่วนใหญ่เรียนอยู่ในโรงเรียนดี แต่เด็กไม่ได้รับการรับรองว่าจบการศึกษา ม.6 ทำให้ไม่มีสิทธิ์ได้รับการคัดเลือกแอดมิชชัน
“มีเด็กที่ไม่จบพร้อมรุ่นมีหลายสาเหตุเวลาเรียนไม่พอ ประมาณ 80% ติด ศูนย์, ร , ฯลฯ ส่วนเด็กที่สอบติดแอดมิชชัน ต้องยอมรับว่า เด็กมีความสามารถ ไม่ได้เกเร ซึ่งน่าเสียดายที่เสียสิทธิ์ อยากให้โรงเรียนดูแลเด็กกลุ่มนี้” คุณหญิงกษมา กล่าว