xs
xsm
sm
md
lg

ยุ่ง! เชื้อหวัดทำวัคซีน “กลายพันธุ์” ตั้งแต่ยังไม่เริ่มผลิต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา
“หมอธีระวัฒน์” ติงสถานการณ์หวัด 2009 เริ่มลด ทำคนไทยการ์ดตก ไม่ป้องกันเต็มที่ เผยปัญหาผลิตวัคซีน พบวัคซีนเชื้อตายที่สั่งจากต่างประเทศมีจำนวนไม่เพียงพอ ขณะที่หัวเชื้อเป็นจากรัสเซียเริ่มกลายพันธุ์ตั้งแต่ยังไม่ผลิตวัคซีน หวั่นต้านทานเชื้อไม่อยู่ เสนอ สธ.จับมือ ก.เกษตรฯ ทุ่มงบ 80 ล้าน ปรับโรงงานผลิตวัคซีนสัตว์ที่ปากช่องเป็นโรงงานผลิตวัคซีนคน หลัง WHO ให้การรับรองคุณภาพ เชื่อหากทำได้จะผลิตวัคซีนได้ 86 ล้านโดส

วันนี้ (25 ส.ค.) ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัด 2009 ขณะนี้ดูเหมือนจะเริ่มลดน้อยลง ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องการ์ดตก คือมีการเฝ้าระวังและป้องกันลดลง เพราะเห็นว่ากระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ประกาศตัวเลขผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตลดน้อยลง ทั้งที่ยังตกสำรวจเกี่ยวกับจำนวนผู้ป่วยที่เป็นโรคปอดบวมใส่เครื่องช่วยหายใจ และตายโดยไม่ทราบสาเหตุอีกมาก นอกจากนั้นองค์การอนามัยโลกยังคาดการคาดการณ์ด้วยว่าจะมีการแพร่ระบาดในรอบ 2 ดังนั้นเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีมาตรการในการเฝ้าระวังและป้องกันให้เข้มข้นขึ้นตลอดเวลา

พบเชื้อเป็นจากรัสเซียกลายพันธุ์ หวั่นวัคซีนไม่ต้านทานเชื้อ
สำหรับปัญหาเรื่องวัคซีนขณะนี้มีวัคซีน 2 ชนิด คือ วัคซีนเชื้อเป็น และวัคซีนเชื้อตายนั้น โดยวัคซีนเชื้อตายในไทยผลิตไม่ได้ จึงต้องสั่งจากต่างประเทศ โดยสั่งได้แค่ 2 ล้านโดสเท่านั้น และสามาถใช้ได้แค่ล้านคน เพราะวัคซีนเชื้อตายสร้างภูมิคุ้มกันไม่เก่ง ดังนั้น 1 คนต้องฉีดถึง 2 เข็ม ล้านคนจึงไม่พอ สำหรับวัคซีนเชื้อเป็นที่ผลิตโดยองค์การเภสัชกรรม (อภ.) นั้นซึ่งขณะนี้ผลิตอยู่ที่โรงงานในมหาวิทยาลัยศิลปากรก็พบปัญหาถึง 2 เรื่องด้วยกัน คือ 1.หัวเชื้อเป็นที่ได้จากประเทศรัสเซียนั้นจากการถอดรหัสพันธุกรรมโดยคณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล พบว่ารหัสพันธุกรรมมีลักษณะผิดแปลกไปจากตัวเชื้อเดิม ซึ่งกังวลว่าจะมีการกลายพันธุ์ระหว่างที่ยังไม่ได้ผลิตเป็นวัคซีน และจะไปกลายพันธุ์ต่อในตำแหน่งซึ่งเป็นตัวทำให้ไวรัสอ่อนแรง แต่หากการกลายพันธุ์ตกในตำแหน่งที่อ่อนแอก็จะกลายเป็นว่าเชื้อไวรัสจะมีความแข็งแรงขึ้น วัคซีนเองไม่สามารถต้านทานเชื้อได้

ทั้งนี้ หากการทดลองไม่ได้ผลจริงอาจมีการพิจารณาขอหัวเชื้อเป็นจากประเทศจีนต่อไป อย่างไรก็ตาม ในช่วงบ่ายวันนี้ (25 ส.ค.) จะมีการประชุมหารืออีกครั้งที่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)

“ที่ออกมาระบุเรื่องหัวเชื้อวัคซีนที่ยังไม่เสถียรนั้น หากนำมาใช้ทดลองก็อาจเกิดความผิดพลาดได้ซึ่งเมื่อทราบข่าวก็รู้สึกตกใจ แต่ตราบใดที่ประเทศไทยยังไม่สามารถผลิตวัคซีนได้ก็เหมือนกับว่าเราไม่มีอาวุธในมือ ดังนั้น การป้องกันตนเองจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด สิ่งที่ออกมาพูด ไม่ได้ต้องการให้คนตกใจ แต่ไม่อยากให้คิดกันว่า โรคไข้หวัด 2009 จะไม่กลับมาอีก เพราะหากเป็นเช่นนั้นเมื่อโรคกลับมาระบาดใหม่ก็จะไม่มีการเตรียมตัวและเราก็จะตายหมด” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว

เสนอทุ่ม 80 ล.ปรับโรงงานวัคซีนสัตว์เป็นของคน
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังมีปัญหาในส่วนของโรงงานผลิตวัคซีนอีกด้วยซึ่งโรงงานผลิตวัคซีนที่ม.มหิดล นั้นมีกำลังการผลิตขึ้นอยู่กับไข่เป็ดฝักปลอดเชื้อ ซึ่งหากได้ไข่มาเต็มที่คือ 6,000 ฟอง 1 ฟองจะสามารถผลิตวัคซีนได้ 100 โดส ซึ่งใช้เวลา 17 เดือนถึงจะได้วัคซีน สำหรับ 40 ล้านคน แต่หากมีไข่เป็ดปลอดเชื้อเพียงแค่สัปดาห์ละ 4,500 ฟอง ไข่เพียง 1 ฟอง จะผลิตวัคซีนได้ 30 โดส และต้องรอถึง 6 ปีถึงจะผลิตวัคซีนได้สำหรับ 40 ล้านคน ดังนั้น ขณะนี้ สธ.ต้องตัดสินใจใหม่ เพราะไทยมีโรงงานผลิตวัคซีนเชื้อเป็นที่ดีสำหรับสัตว์ปีก อยู่ที่อำเภอปากช่อง จ.นครราชสีมา ซึ่งอยู่ในความควบคุมของกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตรงนี้ใช้ผลิตวัคซีนเชื้อเป็่นสำหรับสัตว์มามากกว่า 10 ปี มีสถานที่ เครื่องมือ บุคลากรพร้อม หากมีการทุ่มงบปรับปรุง พัฒนาเครื่องมือ อีกประมาณ 80 ล้านบาท ในการเปลี่ยนโรงงานผลิตวัคซีนสัตว์เป็นโรงงานผลิตวัคซีนในคน โดยใช้เวลาปรับปรุงเพียงแค่ 3 เดือน ก็จะสามารถผลิตวัคซีนเชื้อเป็นได้ถึง 86 ล้านโดส ไว้สำหรับคนถึง 86 ล้านคนด้วยกัน

“สธ.และกระทรวงเกษตรฯ ต้องจับมือกัน และไม่ควรคิดว่าเป็นเรื่องเสียหน้า หากกรมปศุสัตว์สามารถผลิตวัคซีนสำหรับคนได้จนทำให้กระทรวงสาธารณสุขไม่ได้หน้าก็ไม่เป็นไร เพราะถ้าคิดแต่เรืองหน้าตาก็จะทำให้ประเทศชาติล่มจมได้ อย่างไรก็ตามในช่วง 2 ปีที่ผ่านมานี้มีการเสนอความเห็นเรื่องนี้ไปยัง สธ.ตลอด แต่ยังติดปัญหาเรื่องการทำงานต่างกระทรวงกัน อย่างไรก็ตามองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้เคยเดินทางมาดูโรงงานแห่งนี้แล้วซึ่งได้ยืนยันว่าโรงงานมีคุณภาพดี สามารถใช้ในการผลิตวัคซีนได้ ในส่วนเรื่องไข่เป็ดฟักปลอดเชื้อนั้นกรมปศุสัตว์ก็สามารถผลิตได้อย่างเพียงพอ” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว

นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวด้วยว่า สธ.ควรมีการประเมินเพื่อหาเกณฑ์กลุ่มผู้ป่วยและเสียชีวิตที่ควรได้รับวัคซีนก่อน คือ 1.ผู้ที่เป็นไข้หวัดใหญ่ที่จะต้องเข้าโรงพยาบาล 2.ผู้ที่เป็นไข้หวัดใหญ่ที่มีปอดบวม 3.ผู้ที่เป็นไข้หวัดใหญ่ที่มีปอดบวมและต้องใส่เครื่องช่วยใจ และ 4.กลุ่มที่อาจจะไม่เสี่ยงตายสูง แต่ติดเชื้อแล้ว สามารถแพร่ไปให้คนอื่นได้อย่างรุนแรง เช่น กลุ่มเด็กโต วัยรุ่น และกลุ่มคนทำงาน ซึ่งในประเทศสหรัฐฯ ได้ให้ความสำคัญกับกลุ่มนี้มาก เพราะสามารถแพร่กระจายเชื้อไปสู่ผู้อื่นได้จำนวนมาก ขณะเดียวกันกลุ่มนี้มีทำกิจกรรมที่ต้องอยู่ในที่แออัด อาจจะมีการแพร่เชื้อในหมู่เดียวกันได้ ซึ่งในกรณีเหล่านี้ประเทศไทยยังไม่มีคำแนะนำ 100% ว่า ควรจะฉีดวัคซีนให้กลุ่มไหนก่อน ส่วนที่คาดหมายกันไว้ว่ากลุ่มที่ควรจะฉีดวัคซีนก่อนเป็นกลุ่มแรก คือ กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ เพราะกลุ่มนี้มีโอกาสเสียชีวิตได้มากกว่ากลุ่มอื่นๆ ถึง 4 เท่า ส่วนกลุ่มที่สอง คือบุคลากรทางสาธารณสุขที่ต้องคอยดูแลคนไข้ และกลุ่มที่สาม คือกลุ่มที่แพร่เชื้อได้มาก ที่เรียกว่าซุปเปอร์สไปเดอร์ หรือ ควรจะเป็นกลุ่มที่เสี่ยงชีวิต

เมื่อถามถึงกลุ่มเสี่ยงโดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ หากเกิดการแพร่ระบาดรอบ 2 นั้น นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า หากมีการแพร่ระบาดรอบใหม่จริง ขอแนะนำว่าหญิงตั้งครรภ์ไม่ควรมาทำงาน เพราะที่ทำงานคือสถานที่แออัด โอกาสเสี่ยงในการสัมผัสโรคมีสูงขึ้น นอกจากนั้นก็ควรมีการแจ้งข้อมูลในกลุ่มนักศึกษา เช่น การส่ง sms โดยนักศึกษาที่ป่วย ควรส่ง sms มาแจ้งที่ชื่อ ที่อยู่ และข้อมูลของตนเอง มายังเบอร์กลาง ของมหาวิทยาลัยแต่ละแห่ง เพื่อนำไปตรวจสอบฐานข้อมูล และให้มหาวิทยาลัยแจ้งไปยังสาธารณสุขจังหวัด เพื่อให้มีระบบเตือนภัยให้ทันการณ์ แต่ที่สำคัญคือนักศึกษาจะต้องตระหนักว่าอย่าใช้เป็นช่องทางในการเล่นพิเรนท์
กำลังโหลดความคิดเห็น