อภ.ประกาศลดราคายาต้านไวรัสหวัดใหญ่ 2009 “โอเซลทามิเวียร์” เหลือเม็ดละ 25 บาท จากเดิม 40 บาท พร้อมการันตีวัคซีนไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ที่ไทยนำเข้าจากฝรั่งเศสปลอดภัย สปสช.ประกันความเสี่ยงฉีดแล้วเกิดผลอันตรายรุนแรง พิการ พร้อมจ่ายชดเชยทันทีตามกฎหมาย ระบุ วัคซีนทุกชนิดมีผลข้างเคียงเล็กน้อยเป็นเรื่องปกติ ยันยนายกฯ ไม่ได้กังวลประสิทธิภาพ-ผลวัคซีนแค่ไม่อยากใช้อภิสิทธิ์ก่อนเท่านั้น
เมื่อเวลา 13.00 น.วันที่ 16 ก.ค.ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานคณะกรรมการบริหารองค์การเภสัชกรรม (บอร์ด อภ.) กล่าวว่า องค์การเภสัชกรรม (อภ.) จะลดราคายาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ หรือชื่อการค้า จีพีโอ เอ ฟลู ที่ใช้ในการรักษาโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 จากเดิมเม็ดละ 40 บาท เหลือเม็ดละ 25 บาท เพื่อให้คนไทยได้เข้าถึงยาชนิดนี้ เนื่องจากปัจจุบันมีความต้องการใช้ยานี้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยมีการกระจายยาชนิดนี้ไปยังโรงพยาบาลต่างๆ แล้ว 5 ล้านเม็ด และอยู่ระหว่างการผลิตเพิ่มอีก 10 ล้านเม็ด และเริ่มกระจายยาไปยังโรงพยาบาลทั่วประเทศแล้วตั้งแต่วันที่ 13 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยจะลดราคาในล็อตการผลิต 10 ล้านเม็ด เพื่อรองรับผู้ป่วย 1.5 ล้านคน อย่างไรก็ตาม ในอนาคตอาจจะมีการพิจารณาสั่งสำรองยาเพิ่มเติม ภายใต้หลักการให้มียาใช้อย่างเพียงพอแต่ไม่ใช้อย่างพร่ำเพรื่อ เพราะอาจทำให้เชื้อดื้อยา
นพ.วิชัย กล่าวต่อว่า สำหรับวัคซีนที่ไทยสั่งซื้อจากบริษัทในประเทศฝรั่งเศสจำนวน 2 ล้านโดส ผลิตจากเชื้อตาย และเป็นชนิดฉีด ถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดในระลอกที่ 2 โดยมั่นใจว่า มีความปลอดภัยสูงสุดตามมาตรฐานสากล เนื่องจากเป็นวิธีการผลิตที่ได้ตามมาตรฐานสากล มีการผลิตมาใช้ได้ผลในไข้หวัดตามฤดูกาล โดยผ่านการทดลองในสัตว์ทดลองและมีการทดลองในคนจำนวนมากเพียงพอที่จะสร้างความเชื่อมั่นได้ว่าวัคซีนมีความปลอดภัยด้วย นอกจากนี้ ก่อนที่จะมีการส่งมอบวัคซีนให้กับประเทศไทย บริษัทจะต้องขึ้นทะเบียนยากับองค์การอาหารและยาของสหภาพยุโรป สร้างความเชื่อมั่นได้ว่าหากผ่านการขึ้นทะเบียนดังกล่าว วัคซีนย่อมมีความปลอดภัย และขณะนี้ทั่วโลกมีการสั่งจองวัคซีนแล้ว 600 ล้านโดส
“วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ที่ไทยสั่งจอง หากได้รับการรับรองให้ขึ้นทะเบียนจากองค์การอาหารและยาของสหภาพยุโรปแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ของไทยอีก เพราะต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 2 เดือน จึงจำเป็นต้องชั่งน้ำหนักระหว่างความปลอดภัยอีกเล็กน้อย กับความเสี่ยงของประชาชนต่อโรคนี้” นพ.วิชัย กล่าว
นพ.วิชัย กล่าวต่อว่า ส่วนวัคซีนที่ อภ.จะผลิตเองจากเชื้อเป็นโดยเป็นชนิดพ่นนั้น หลังจากมีการเพาะเชื้อในไข่และทดลองในสัตว์ทดลองได้ผลตามเป้าหมายแล้ว จะต้องทดลองในคนโดยใช้เวลาอีกประมาณ 120 วัน จึงจะสามารถนำมาฉีดให้กับประชาชนได้ ซึ่งการทดลองในคนจะดำเนินการโดยคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดลแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ 1.ระยะแรกจะพ่นวัคซีนให้กับอาสาสมัคร 30 คน เพื่อวัดขนาดปริมาณวัคซีนที่เหมาะสมต่อการสร้างภูมิคุ้มกันให้เกิดขึ้นในตัวบุคคล และระยะที่ 2 จำนวน 400 คน ทั้งกลุ่มเด็ก หนุ่มสาวและผู้สูงอายุ เพื่อศึกษาว่ามีความปลอดภัยและกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันได้จริงหรือไม่
“วัคซีนที่ อภ.ผลิตจะต้องมีการตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานทุกล็อตการผลิตก่อนนำฉีดให้กับประชาชน โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะรับผิดชอบในการนำวัคซีนที่อภ.ผลิตได้ไปตรวจสอบคุณภาพเพื่อประกันความปลอดภัย ซึ่งหากการดำเนินการเป็นไปอย่างดีตามที่มีการคาดการณ์ไว้จะสามารถผลิตได้ 2.8 ล้านโดสต่อเดือนและในอีก 4 เดือนจะมีวัคซีน 10 ล้านโดส ซึ่งยังไม่เพียงพอกับประชาชนแต่หากเปรียบเทียบกับหลายประเทศทั่วโลกถือว่าไทยดีกว่ามาก นอกจากนี้ ได้มีการประสานกับองค์การอนามัยโลกเพื่อที่จะขอเงินสนับสนุนอีกประมาณ 1.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯในการที่จะปรับปรุงโรงงานวัคซีนของกรมปศุสัตว์ให้เข้าเป็นส่วนหนึ่งในการเร่งการผลิตวัคซีนโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009ด้วย” นพ.วิชัย กล่าว
นพ.วิชัย กล่าวต่อว่า วัคซีนไข้หวัดใหญ่ถือเป็นหลักสากลทั่วโลกว่าไม่ต้องทดลองในคนถึงระยะที่ 3 ว่าสามารถป้องกันโรคได้หรือไม่ เพราะธรรมชาติของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดในแต่ละปีจะเป็นคนละสายพันธ์กัน หากรอให้มีการทดลองว่าป้องกันโรคได้จริง วัคซีนนั้นก็ไม่ทันกับการนำมาใช้ อีกทั้งการฉีดวัคซีนป้องกันไขหวัดใหญ่หากสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ จะมีผลให้ป้องกันโรคได้เองไม่เหมือนวัคซีนป้องกันโรคเอดส์ที่จะต้องกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้มากพอที่จะป้องกันโรคได้ ซึ่งโดยปกติของการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่จะเกิดผลข้างเคียงในอัตราที่ต่ำมาก มีเพียงอาการไข้ ครั่นเนื้อครั่นตัวเล็กน้อยเท่านั้น เว้นแต่ในรายที่มีการแพ้ไข่ไก่อาจจะเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงเหมือนการทานไข่โดยตรง
นพ.วิชัย กล่าวถึงกรณีที่บริษัทผู้ผลิตวัคซีนต้องระบุแนบท้ายสัญญาการสั่งจองวัคซีนว่าจะไม่รับรองผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นนั้น ว่า ถือเป็นหลักปฏิบัติสากลทั่วโลกของการสั่งจองวัคซีนในขณะที่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค ที่บริษัทจะไม่รับประกันผลข้างเคียง ซึ่งแต่ละประเทศต้องยอมรับเงื่อนไขดังกล่าว สำหรับประเทศไทย หากประชาชนที่ได้รับวัคซีนเกิดผลข้างเคียงรุนแรง เช่น พิการ หน่วยงานที่ต้องรับผิดชอบ คือ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดยอาศัยตามมาตรา 41 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ที่มีกองทุนชดเชยความเสียหายจากการรับบริการด้านสาธารณสุขโดยไม่ต้องมีการพิสูจน์ถูกผิด ซึ่งปัจจุบันก็มีการดำเนินการเช่นนี้ในผู้รับวัคซีนชนิดอื่นที่เกิดผลข้างเคียงขึ้นเช่นกัน
ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีที่ นพ.สุชัย เจริญรัตนกุล อดีต รมว.สธ.ออกมาระบุว่า ควรให้ประเทศอื่นทดลองใช้วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ก่อนอย่างน้อย 3 เดือนนั้น นพ.วิชัย กล่าวว่า หากจะรอความมั่นใจให้มีการใช้วัคซีนแล้ว 3 เดือน จึงค่อยนำมาฉีดให้กับคนไทย เท่ากับต้องให้ประชาชนเสี่ยงป่วยและเสี่ยงชีวิตอีก 3 เดือน ดังนั้น ต้องมีการชั่งน้ำหนักประโยชน์กับความเสี่ยง ซึ่งเชื่อว่า ประชาชนส่วนหนึ่งอาจเลือกทำตามคำแนะนำของนพ.สุชัยด้วย การรอดูผลการฉีดวัคซีนก่อนเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือนก็เป็นเรื่องธรรมดา แต่ก็มีบางคนที่มั่นใจต้องการฉีดวัคซีนก่อนใคร
“การฉีดวัคซีนป้องกันโรคให้กับผู้นำประเทศเป็นไปตามหลักสากลอยู่แล้ว การที่นายกรัฐมนตรีพูดว่าอาจจะไม่รับวัคซีนที่ อภ.ผลิตนั้น คงเป็นการออกตัวที่จะไม่รับวัคซีนเพราะกลัวจะถูกหาว่ามีสิทธิพิเศษไม่ใช่การไม่กล้าฉีดและคงอยากใช้สิทธิของประชาชนทั่วไป ซึ่งตามหลักการแล้ว การฉีดวัคซีนเป็นเรื่องของความสมัครใจ ถ้าหาก ปฏิเสธการฉีดวัคซีนก็ถือเป็นสิทธิส่วนบุคคล” นพ.วิชัย กล่าว
ด้านนพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผอ.องค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า ในการรองรับการใช้วัคซีนแบบพ่นที่ อภ.จะผลิตได้ในประมาณเดือน ต.ค.-พ.ย.นี้ ได้มีการสั่งจองเข็มฉีดพ่นเข้าจมูกจำนวน 3 ล้านชิ้น ที่ผลิตในประเทศแล้ว ขณะเดียวกัน ฝ่ายวิจัยและพัฒนาของ อภ.ได้ทำการวิจัยสารสังเคราะห์วัตถุดิบในการผลิตยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ได้เอง จากเดิมที่เคยสั่งวัตถุดิบจากอินเดีย ทำให้เป็นประโยชน์ต่อการผลิตยาชนิดนี้ในอนาคต เพราะปัจจุบันวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตยาโอเซลทามิเวียร์ขยับราคาสูงขึ้นกว่า 50 %แล้ว ซึ่งหากมีการขยับราคาขึ้นอีกถือว่าสูงเกินไป จะต้องหารือกับบริษัทผู้จำหน่ายวัตถุดิบต้องหารือกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เกี่ยวกับราคาขายต่อเม็ดอีกครั้งหนึ่ง