ผอ.อภ.เผยผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 2009 ชนิดพ่นล็อตแรกเสร็จแล้ว เตรียมนำไปทดสอบความปลอดภัยในสัตว์ทดลองก่อนใช้ฉีดอาสาสมัคร มั่นใจเพราะเชื้อวัคซีนล็อต 2 ได้ปริมาณเชื้อไวรัสมากกว่าเดิม พร้อมสั่งไข่ไก่อเมริกา 4.5 พันฟอง มาถึงไทยกลาง ก.ย.นี้ ยันตัวเชื้อไวรัสใช้ผลิตวัคซีนได้ไม่มีปัญหา 5 จุดสำคัญบนยีนส์ไม่เปลี่ยนแปลง
วันนี้ (25 ส.ค.) นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) กล่าวถึงความคืบหน้าการศึกษาวิจัยวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 จากเชื้อเป็นชนิดพ่นว่า วันนี้ทีมนักวิจัยได้นำเชื้อที่ได้จากการเพาะเชื้อไวรัสในไข่ไก่ปลอดเชื้อครั้งแรก แม้ว่าจะได้ปริมาณเชื้อน้อยกว่าเป้าที่วางไว้ แต่ผู้เชี่ยวชาญองค์การอนามัยโลก (WHO) ให้ความเห็นว่าปริมาณดังกล่าวอยู่ในระดับที่สามารถนำมาผลิตเป็นวัคซีนได้ จึงนำมาผลิตเป็นวัคซีนและบรรจุลงขวดเป็นวัคซีนสำเร็จรูปเรียบร้อยแล้ว ส่วนได้วัคซีนในปริมาณเท่าไหร่ไม่สามารถบอกได้ ขั้นตอนต่อจากนี้จะต้องนำวัคซีนล็อตแรกไปทดสอบความปลอดภัยในสัตว์ทดลองตามขั้นตอนที่เป็นมาตรฐานสากล โดยคาดว่าจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 7-10 วัน ก่อนจะนำมาทดลองในอาสาสมัคร 12 รายแรก
นพ.วิทิต กล่าวต่อว่า ส่วนการเพาะเชื้อไวรัสในไข่จากเยอรมันครั้งที่ 2 จะทราบผลในวันที่ 28 ส.ค.นี้ ซึ่งมีความเป็นไปได้มากว่าจะได้ปริมาณไวรัสมากกว่าครั้งแรก หลังจากใช้เวลาในการฟักยาวนานขึ้นทำให้ปริมาณน้ำเลี้ยงในรกไข่มีมากถึง 10 ซีซี ขณะที่ครั้งแรกมีเพียง 4-5 ซีซี โดยหากได้ปริมาณไวรัส 8-9 ล็อกต่อซีซี ถือว่าเป็นข่าวดีเพราะครั้งแรกได้เพียง 6.7 ล็อคต่อซีซีเท่านั้น และขณะนี้อภ.อยู่ระหว่างการพิจารณาคัดเลือกหน่วยงานที่จะมาร่วมวิจัยและศึกษาวัคซีนชนิดนี้เพิ่มเติมอีก 1 แห่งนอกเหนือจากคณะเภสัชศาสตร์ ม.ศิลปากร ที่ร่วมการวิจัยอยู่เดิม โดยอภ.และองค์การอนามัยโลกจะสนับสนุนงบประมาณ เนื่องจากต้องการเพิ่มกำลังการผลิตวัคซีนให้ได้ในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน ส่วนโรงงานผลิตวัคซีนสำหรับสัตว์ที่นครราชสีมานั้น หากจะนำมาปรับปรุงเป็นโรคงานวัคซีนเชื้อเป็น ผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 จะยุ่งยากมาก ดังนั้นไม่น่าจะใช้ได้
“อภ.ได้สั่งนำเข้าไข่ไก่ปลอดเชื้อจากประเทศสหรัฐอเมริกาไม่ต่ำกว่า 4,500 ฟอง ฟองละประมาณ 3 ดอลลาร์สหรัฐ โดยจะได้ประมาณกลางเดือนกันยายนนี้ เพื่อนำมาเพาะเชื้อไวรัสครั้งที่ 3 หากปริมาณเชื้อไวรัสที่เพาะได้จากครั้งที่ 2 มีปริมาณไม่มาก” นพ.วิทิตกล่าว
ต้อข้อถามว่า กรณีที่มีนักวิชาการบางท่านให้ความเห็นว่าหัวเชื้อที่นำมาทดลองวัคซีนไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ไม่มีความเสถียรและอาจกลายพันธุ์นั้น นพ.วิทิต กล่าวว่า เป็นข้อมูลที่คณะทำงานทราบตั้งแต่แรกว่ายีนส์ของตัวเชื้อไวรัสอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามธรรมชาติแต่เป็นการเปลี่ยนแปลงในจุดที่ไม่สำคัญและไม่ส่งผลกระทบต่อการนำเชื้อมาผลิตเป็นวัคซีนแต่อย่างใด เนื่องจากในการนำเชื้อมาผลิตเป็นวัคซีนเชื้อไวรัสจะต้องไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง 5 จุดสำคัญหลัก เช่น จุดที่ควบคุมไวรัสให้อยู่ได้ในอุณหภูมิสูงได้เท่าไหร่ และจุดควบคุมความดุร้ายของเชื้อไวรัส เป็นต้น
“เมื่อจุดสำคัญของเชื้อไวรัสไม่มีการเปลี่ยนแปลง เท่ากับสามารถนำเชื้อมาผลิตเป็นวัคซีนได้ ไม่มีความจำเป็นที่จะเปลี่ยนตัวเชื้อไปใช้ของประเทศจีนตามที่มีการเสนอ เพราะการเปลี่ยนตัวเชื้อจะเป็นเรื่องใหญ่ต้องเริ่มกระบวนการศึกษาวิจัยใหม่ ทำให้เสียเวลา ซึ่งการศึกษาวิจัยวัคซีนที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบันก็เกรงจะผลิตไม่ทันอยู่แล้ว” นพ.วิทิตกล่าว