xs
xsm
sm
md
lg

“เฟอร์เร็ต” สัตว์ทดลองผู้เสียสละ ชีวิตนี้เพื่อวัคซีนหวัด 2009

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีขณะรับฟังข้อมูลเกี่ยวกับการทดลองที่มี “เฟอร์เร็ต” เป็นสัตว์ผู้เสียสละ ขณะเปิดโรงงานวัคซีนต้นแบบ เมื่อวันที่ 12 ก.ค.ที่ผ่านมา
รายงานพิเศษโดย...กองทรัพย์ ชาตินาเสียว

หลังจากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีเปิดโรงงานต้นแบบนำร่องทดลองผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ที่ ม.ศิลปากร จ.นครปฐม ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ทุนจากองค์การอนามัยโลกกว่า 70 ล้านบาท แล้ว ดูเหมือนโรงงานต้นแบบแห่งนี้ได้กลายเป็นความหวังของชาวไทยทั่วทั้งประเทศ ต่างฝ่ายรอที่จะเห็นหน้าตาวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 อย่างจดจ่อท่ามกลางสถานการณ์การป่วยและการตายที่เพิ่มขึ้นทุกวัน

สำหรับการทดสอบวัคซีนไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 มีสัตว์ทดลองชนิดหนึ่งที่รับหน้าที่ “เสี่ยงตาย”แทนมนุษย์ เจ้าตัวนั้นชื่อ Ferret(เฟอร์เร็ต) ซึ่งข้อมูลจากสารานุกรมเสรี วิกิพีเดีย ระบุว่า เฟอร์เร็ตเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม อยู่ในตระกูลเดียวกับพังพอน อายุเฉลี่ย 7-10 ปี น้ำหนักเฉลี่ย 700 กรัม – 2 กิโลกรัม ตัวผู้จะมีขนาดใหญ่กว่าตัวเมีย มีขนสีน้ำตาล สีดำ สีขาว หรือปะปนกันทั้ง 3 สีในตัวเดียวกัน ถิ่นอาศัยของเฟอร์เร็ตอยู่ในทวีปยุโรป ด้วยหน้าตาจิ้มลิ้มน่ารักและขนฟูนุ่มและนิสัยซุกซนของมัน ทำให้เฟอร์เร็ตกลายเป็นสัตว์เลี้ยงยอดนิยมในหลายประเทศ เช่น ออสเตรเลีย แคนาดา สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา เป็นต้น

**ทำไมต้องเฟอร์เร็ต?

รศ.น.สพ.ปานเทพ รัตนากร ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังโรคสัตว์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ ม.มหิดล ให้ข้อมูลว่า เฟอร์เร็ตเป็นสัตว์ที่องค์การอนามัยโลก(WHO) กำหนดให้เป็นสัตว์ทดลองสำหรับทดสอบวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 2009 ทุกประเทศ

เนื่องจากเป็นสัตว์ที่มีความไวต่อเชื้อไข้หวัดใหญ่ทุกชนิด(โดยเฉพาะเชื้อไวรัสชนิด เอ) กล่าวคือ สามารถแสดงอาการหลังจากได้รับเชื้อได้ง่าย ตายเร็วและมีอาการเช่นเดียวกับคน ซึ่งสัตว์ทดลองบางชนิดแสดงไม่ได้ เช่น อาการไอ จาม มีน้ำมูก น้ำตา แต่เฟอร์เร็ตแสดงให้เห็นได้ชัดเจน โดยในการทดลองจะเลือกเฟอร์เร็ตอายุ 8-9 เดือน ซึ่งเป็นช่วงวัยที่เหมาะสมที่จะทำการทดสอบ

“การใช้สัตว์ทดลองแต่ละชนิดขึ้นอยู่กับความไวต่อโรคของสัตว์แต่ละชนิด ซึ่งคุณสมบัติแตกต่างกันไป นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับกติกาขององค์การอนามัยโลกด้วย ที่มีเกณฑ์อยู่แล้วว่าสัตว์ชนิดไหนจะใช้ทดสอบกับอะไรไม่ใช่ใครคิดขึ้นมามั่วๆ ไม่ได้ สำหรับไข้หวัด 2009 องค์การอนามัยโลกก็กำหนดให้ใช้ตัวเฟอร์เร็ตทดสอบวัคซีน เราก็ต้องใช้สัตว์ชนิดนี้ตามกติกาเดียวกัน”

**เสียสละเพื่อมวลมนุษยชาติ

รศ.น.สพ.ปานเทพ บอกว่า หลังจากฝ่ายผลิตได้วัคซีนที่จะต้องใช้ทดสอบแล้ว ก็ถึงขั้นตอนการทดสอบ และเนื่องจากวัคซีนไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่เป็นชนิดที่ต้องพ่นเข้าจมูกไม่ใช่ชนิดที่ต้องฉีดเข้ากล้ามเนื้อ การทดสอบกับเฟอร์เร็ตก็ต้องทำด้วยวิธีเดียวกัน ซึ่งจากนั้นสัตวแพทย์จะเป็นผู้สังเกตว่าสัตว์ทดลองว่าแสดงอาการใดหรือไม่ หากมีการตายเกิดขึ้นต้องทำการบันทึกว่าตายภายในกี่วัน โดยจะแปลผลได้ว่าวัคซีนตัวนั้นยังมีความรุนแรง หรือพบปัญหา จึงทำให้เฟอร์เร็ตตาย ทั้งนี้ต้องรายงานผลการทดสอบและอาการที่พบในเฟอร์เร็ตอย่างละเอียดต่อฝ่ายผลิต เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไข

“การทดสอบวัคซีนจะทำจนกว่าจะไม่ก่อให้เกิดอันตรายในสัตว์ เพราะถ้าหากยังทำให้สัตว์ทดลองแสดงอาการ นั่นก็หมายความว่าวัคซีนตัวนั้นๆ ใช้ไม่ได้ ต้องแก้ไข เราจำเป็นต้องใช้เฟอร์เร็ตที่แข็งแรงเพื่อสังเกตอาการได้ชัดเจน โดยสังเกตอาการประมาณ 7 วันก็น่าจะรู้แล้วว่าปกติ ถ้ามีปัญหา หรือมีเชื้อที่ยังไม่ได้มาตรฐาน เฟอร์เร็ตจะแสดงอาการรุนแรง และตายใน 3 วัน เราต้องตรวจเลือด สารคัดหลั่ง ตรวจความผิดปกติทุกอย่างว่ามีเชื้อหลุดรอดอะไรมาอยู่หรือไม่ แม้แต่เฟอร์เร็ตที่ไม่แสดงอาการใดๆ หลังรับวัคซีนก็ไม่ได้แปลว่าวัคซีนตัวนั้นได้ผล ดังนั้นสัตว์ทดลองทุกตัวต้องถูกหาค่าจากสารคัดหลั่งอีกครั้งอยู่ดี” รศ.น.สพ.ปานเทพให้ภาพ

รศ.น.สพ.ปานเทพให้ข้อมูลต่อว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีเฟอร์เร็ตที่ใช้สำหรับการทดสอบครั้งนี้ในศูนย์สัตว์ทดลองแห่งชาติ 10 ตัว และยังไม่สามารถสรุปไทยได้ว่าเพียงพอหรือไม่ และจำเป็นต้องนำเข้าเฟอร์เร็ตที่แข็งแรงและอยู่ในช่วงเจริญเติบโตจำนวนมากเท่าใด จึงจะบอกได้ว่าวัคซีนตัวนั้นสำเร็จและไม่มีผลข้างเคียงกับมนุษย์ คณะผู้ทดสอบวัคซีนกับสัตว์ทดลองจะต้องรอให้การผลิตวัคซีนออกมาเสียก่อน

“สัตว์เลี้ยงไม่ได้หมายความว่าจะเป็นสัตว์ทดลองไม่ได้ เพราะสัตว์เลี้ยงชนิดอื่นๆ ก็เป็นสัตว์ทดลองได้ สัตว์ทุกชนิดเป็นสัตว์ทดลองได้ทั้งหมด ขึ้นอยู่กับว่าจะนำมาทดสอบกับอะไรเท่านั้น ดังนั้นการใช้เฟอร์เร็ตเพื่อทดสอบวัคซีนไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 จึงไม่ใช่เรื่องที่แปลก” ศ.น.สพ.ปานเทพให้ทัศนะทิ้งท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น