xs
xsm
sm
md
lg

ธนาคารโรงเรียน ภารกิจรับมือ “ปรากฏการณ์รูดปรื๊ด”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รายงานพิเศษ.....โดยสุกัญญา แสงงาม

นักเรียนบางคนกำลังกรอกข้อมูลใบฝากเงิน....
บ้างก็เขียนใบถอนเงิน....
ขณะที่ 3-4 คนทำหน้าที่เช่นเดียวกันกับพนักงานธนาคาร...

นี่คือ บรรยากาศของ “โรงเรียนธนาคาร” หรือที่บางแห่งก็เรียกว่า “ธนาคารโรงเรียน” ที่เกิดขึ้นภายใน “ร.ร.ราชวินิตมัธยม” กับ “ร.ร.มัธยมวัดมกุฏกษัตริย์” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปลูกฝังให้นักเรียนรู้จักจัดสรรเงิน ใช้จ่ายอย่างประหยัด

และที่น่าดีใจไปกว่านั้น ก็คือ โครงการนี้ไม่ได้มีแค่ 2 โรงเรียน หากมีการขยายไปตามโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศถึงกว่า 500 แห่งเลยทีเดียว

-1-
“กุนฑีรา บุญเลี้ยง” หัวหน้าโครงการขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และหัวหน้ากิจกรรมโรงเรียนธนาคาร ร.ร.ราชวินิตมัธยม ให้ข้อมูลว่า เมื่อก่อน ร.ร.ไม่เคยรู้เลยว่านักเรียนใช้จ่ายกันอย่างไร จนวันหนึ่งเห็นนักเรียนซื้อดอกไม้ช่อโต ราคาไม่ต่ำกว่า 500 บาท ให้วันเกิดเพื่อน จึงมองว่า ต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อให้เด็กรู้คุณค่าของเงิน เพราะหากไม่สอนให้รู้จักออมเงิน วันข้างหน้าเขาจะต้องเข้าสู่ระบบ “รูดปรื๊ด” หรือซื้อสินค้าเงินผ่อนแล้วเป็นหนี้ไปตลอดชีวิต

ดังนั้น จึงให้นักเรียนลงสมุดบันทึกรายรับรายจ่ายแต่วันละวันว่าใช้อะไรบ้าง โดยอาจารย์ผู้สอนทุกคนจะพยายามอธิบายให้เด็กรู้จักคุณค่าของเงิน ควรใช้อย่างประหยัด และเตือนสติว่าเงินแต่ละบาทพ่อแม่หามาด้วยความยากลำบาก โดยเรื่องนี้ผลักดันไปสู่พ่อแม่ ชุมชน โดยผ่านนักเรียนซึ่งมักจะไปเล่าให้พ่อแม่ ผู้ปกครองฟัง

จากนั้นธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์เพื่อการเกษตร (ธ.ก.ส.) ก็เข้ามาให้ความรู้เกี่ยวกับการออมเงิน ทางโรงเรียนจึงตัดสินใจตั้ง “โรงเรียนธนาคาร” ขึ้นเมื่อปี 2547 เพื่อให้อาจารย์ บุคลากร และนักเรียนนำเงินมาฝาก-ถอน โดยธนาคารได้ส่งเจ้าหน้าที่มาให้ความรู้ขบวนการทำงานให้อาสาสมัครนักเรียน เพื่อคอยทำหน้าที่รับฝาก-ถอนเงิน เฉกเช่นเดียวกับไปธนาคาร

อาจารย์ กุนฑีรา เล่าว่า นักเรียนที่ทำหน้าที่พนักงานแบงก์จะเปิดธนาคารสัปดาห์ละ 3 วัน คือจันทร์ พุธ พฤหัสบดี ช่วงเช้าก่อนเข้าเรียน ซึ่งเปิดบัญชีใหม่ให้เริ่มต้นที่ 20 บาท จากนั้นนักเรียนจะรวบรวมเงินที่เพื่อนนักเรียนและอาจารย์ไปฝาก ธ.ก.ส.อาทิตย์ละครั้ง วงเงินประมาณ 2 หมื่นบาท ส่วนดอกเบี้ยจะได้รับเหมือนที่แบงก์จ่าย

“นักเรียนมาเปิดบัญชีเกือบครบทุกคน แต่เราสังเกตพบว่าเด็กส่วนใหญ่จะมาถอนเงินช่วงเทศกาลปีใหม่ วาเลนไทน์ วงเงินสูง บางคนถอนหลักพันต้นๆ บางรายถอนหลายพันบาท อาจารย์จะถามเด็กว่าจะนำเงินไปทำอะไร บอกไปซื้อของขวัญ ซื้อซิม เอ็มพี เราจะบอกเด็กไปว่าของขวัญไม่ได้ดูที่มูลค่าราคาแพง แต่เป็นเรื่องจิตใจ ควรเก็บเงินไว้เป็นทุนการศึกษา ช่วยลดภาระคุณพ่อคุณแม่ เพราะช่วงนี้เศรษฐกิจไม่ดี เงินหายาก ซึ่งเท่าที่สังเกตนักเรียนจำนวนหนึ่งปรับเปลี่ยนการใช้เงินจากสุรุ่ยสุร่ายมาซื้อของที่จำเป็น”อ.กุณฑีรา ให้ข้อมูล

-2-
ขณะที่อลงกรณ์ นิยะกิจ” รอง ผอ.ร.ร.มัธยมวัดมกุฏกษัตริย์ เล่าว่า ร.ร.ธนาคารตั้งเมื่อปี 2550 ร่วมมือกับธนาคารออมสิน โดยให้นักเรียน อาจารย์ และบุคลากร รู้จัดคุณค่าของการออม ตามเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งนักเรียนร้อยละ 90 สนใจและมาเปิดบัญชี ทั้งนี้ จะมีนักเรียนอาสาสมัคร 3 ทีมๆ 4 คน มาคอยบริการ

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะมาทำหน้าที่ เด็กๆ จะต้องเข้ารับการอบรมเหมือนเป็นพนักงานธนาคารทุกอย่าง หากยอดเงินไม่ตรงกันบัญชีเด็กจะต้องหาว่า ผิดพลาดตรงไหน จึงเป็นการสร้างความรอบครอบให้แก่นักเรียน อย่างไรก็ตาม เท่าที่สังเกตเด็กเก็บเงินได้จำนวนหนึ่ง มักจะถอนไปเพื่อสมัครเรียนกับติวเตอร์ยอดนิยม

ณัฎฐินี ทองเพิ่ม นักเรียนชั้น ม.6 ในฐานะผู้จัดการธนาคาร พัชรินทร์ สาละ ฝ่ายลงรายการ ฐิติพร สุวรรณคาม ฝ่ายติดต่อ และ ปฏิกร ศรีภิรมย์ ฝ่ายการเงิน เล่าทิศทางเดียวกันว่า ทุกคนต้องทำงานเป็นทีมเพื่อให้เสร็จโดยเร็ว และไม่ให้เกิดข้อผิดพลาด โดยแต่ละสัปดาห์ผู้จัดการกับอาจารย์จะรวบรวมเงินที่เพื่อนนักเรียนฝากนำไปฝากธนาคารออมสินอีกต่อหนึ่ง

สำหรับนักเรียน ชั้น ม.3 ที่ไม่เรียนต่อ และ ม.6 เมื่อเรียนจบแล้วจะให้ถอนเงินทั้งหมด แต่คนใดต้องการฝากต่อก็จะประสานกับธนาคารให้

กำลังโหลดความคิดเห็น