“หมอประเสริฐ” เตือนสติให้ “คลินิก” สั่งจ่าย “โอเซลทามิเวียร์” รักษาหวัด 2009 เผยต้องหารือข้อมูลรอบด้าน หวั่นเกิดผลข้างเคียงเหมือนญี่ปุ่น ไทยสำรองโอเซลทามิเวียร์ 15.2 ล้าน ผลิตเพิ่มอีก 10 ล้านเม็ด กระจายยาทั่วประเทศแล้วกว่า 2 ล้านเม็ด
ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ประธานที่ปรึกษาทางวิชาการและยุทธศาสตร์ด้านการแพทย์และการสาธารณสุขระดับชาติ กล่าวถึงกรณีที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) มีความคิดที่จะขอหารือเกี่ยวกับจ่ายยา “โอเซลทามิเวียร์” รักษาหวัด 2009 ในระดับคลินิกในพื้นที่ต่างๆ ว่าเหมาะสมหรือไม่ว่า ความเห็นส่วนตัวเห็นว่า ผลดีคือ ผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยยาดังกล่าวเร็วขึ้น แต่ผลเสียคือบางคนอาจไปขอยาที่คลินิกใช้เพื่อการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ซึ่งจุดประสงค์ของทีมวิชาการต้องการให้ยาดังกล่าวใช้เพื่อการรักษามากกว่าการป้องกัน เพราะเกรงเรื่องผลข้างเคียงของยา
“ที่ญี่ปุ่นพบว่าผลข้างเคียงของยาดังกล่าวทำให้เด็กวัยรุ่นฆ่าตัวตาย แต่ในประเทศไทยยังไม่มีข้อมูลนี้ และไม่ทราบว่าจะเหมือนกับประเทศญี่ปุ่นหรือไม่ เนื่องจากบริบทของคนญี่ปุ่นกับคนไทยในเรื่องการฆ่าตัวตายมีความต่างกัน จึงไม่ทราบว่าในไทยหากใช้ยาเพื่อการป้องกันจะเกิดผลเสียอย่างไร พฤติกรรมเหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องติดตามและทีมที่ปรึกษาฯจำเป็นต้องมาชั่งน้ำหนักโดยนำข้อมูลรอบด้านมาหารืออีกครั้ง”ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ กล่าว
ด้านรศ.(พิเศษ)นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิระดับ 11 กรมการแพทย์ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีการกระจายยาดังกล่าวในระดับคลินิก เพราะเรื่องดังกล่าวยังอยู่ในการพิจารณาของฝ่ายวิชาการ ซึ่งต้องพิจารณาอย่างรอบครอบทั้งผลดีและผลเสีย โดยวัตถุประสงค์มาจากดำริที่ต้องการแก้ไขปัญหาเรื่องการเข้าถึงยาโอเซลทามิเวียร์ของผู้ป่วยช้าไป เพื่อหวังผลการในการดูแลรักษาชีวิตผู้ป่วยให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด อีกทั้งการรักษาพยาบาลไม่ใช่เพียงแต่เรื่องยาเพียงอย่างเดียว ยังรวมถึงยาลดไข้ การให้น้ำเกลือ การเฝ้าสังเกตอาการ ฯลฯ เป็นองค์ประกอบร่วมกันในการรักษา
“ข้อดีคือ ผู้ป่วยเข้าถึงยาในการรักษาได้เร็วขึ้น แต่การได้รับยาเร็วนั้นจะเร็วเกินไปจนได้ผลเสียหรือไม่ต้องพิจารณา ทั้งนี้หากมีการกระจายยาในระดับคลินิกท้องถิ่นแล้วค่อนค้างจะมีการคุมการใช้ยายาก อีกทั้งความคิดเห็นส่วนตัวเห็นว่า ผู้ที่มาใช้บริการในคลินิกจะต้องเสียเงินหากได้รับยาโอเซลทามิเวียร์ ในขณะที่หากผู้ป่วยเดินทางไปยังสถานพยาบาลของภาครัฐที่มีสิทธิอยู่ อาทิ สถานพยาบาลสิทธิต่างๆของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นสิทธิตามโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สิทธิประกันสังคม หรือสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการก็ไม่เสียค่ายา แต่หากคลินิกจะบริหารจัดการอย่างไร”รศ.(พิเศษ)นพ.ทวี กล่าว
**ไทยสำรองโอเซลทามิเวียร์ 15.2 ล้าน
นพ.มล.สมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้กรมควบคุมโรคมียาโอเซลทามิเวียร์ทั้งหมด 5.2 ล้านเม็ด แบ่งเป็น ยาเดิมที่มีจากงบประมาณปี 2551 จำนวน 3.2 ล้านเม็ด จากนั้นในงบปี 2552 ได้สำรองเพิ่มอีก 1 ล้านเม็ด จากนั้นองค์การเภสัชกรรม(อภ.)ผลิตสำรองให้อีก 1 ล้านเม็ด ซึ่งขณะนี้ได้กระจายลงในพื้นที่ทั่วประเทศแล้วกว่า 2 ล้านกว่าเม็ดแล้ว ส่วนที่เหลือสำรองอยู่ที่กรมควบคุมโรคและอภ. ส่วนที่ได้จัดสรรของบกลางอีก 10 ล้านเม็ดกำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการจัดซื้อ นอกจากนี้ยังมีอภ.เดินหน้าการผลิตสำรองอีก 10 ล้านเม็ดก่อนหน้านี้เพื่อสำรองยา
“หากจะมีการกระจายยาดังกล่าวในระดับคลินิกคิดว่า สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.) จะสามารถควบคุมปริมาณการใช้ได้ดีก็ไม่น่ามีปัญหาใดๆ คลินิกใดจ่ายยาหมดก็มาเบิกจากสสจ. ซึ่งขณะนี้ทางโรงพยาบาลระดับจังหวัด และระดับชุมชนก็ใช้การบริหารจัดการดังกล่าวอยู่เช่นกัน”นพ.มล.สมชาย กล่าว