xs
xsm
sm
md
lg

สธ.สนับสนุนพระสงฆ์กว่า 2,000 รูป เป็นแกนนำสุขภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กรมอนามัย สนับสนุนพระสงฆ์ทั่วประเทศกว่า 2,000 รูป เป็นแกนนำสุขภาพถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านสุขภาพสู่ประชาชน ตั้งเป้าปี 2552 พัฒนาวัดส่งเสริมสุขภาพ 1 อำเภอ 1 วัด

วันที่ 24 กรกฎาคม นพ.โสภณ เมฆธน รองอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวในการการประชุมสัมมนาเครือข่ายพระสงฆ์เพื่อการส่งเสริมสุขภาพ ว่า กรมอนามัย ได้มีการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานวัดส่งเสริมสุขภาพมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งในปี 2551 มีวัดที่ผ่านเกณฑ์ประเมินเป็นวัดส่งเสริมสุขภาพดีเด่น จำนวน 116 วัด และผ่านเกณฑ์ประเมินขั้นพื้นฐานของวัดส่งเสริมสุขภาพ จำนวน 343 วัด รวมทั้งสิ้น 459 วัด โดยได้รับความร่วมมือจากผู้นำฝ่ายบรรพชิต กรรมการวัด ผู้สูงอายุ ประชาชนรอบวัด เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการส่งเสริมให้วัดเอื้อโอกาสต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต และการจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการส่งเสริมสุขภาพ โดยในปี 2552 กรมอนามัยมีเป้าหมายให้เกิดการพัฒนาเป็นวัดส่งเสวริมสุขภาพของแต่ละอำเภออย่างน้อย อำเภอละ 1 วัด และเร่งดำเนินการขยายเครือข่ายวัดส่งเสริมสุขภาพให้กว้างขวางมากขึ้น พร้อมทั้งสนับสนุนให้พระสงฆ์เป็นแกนนำในการพัฒนาสุขภาพ ซึ่งปัจจุบันมีแกนนำพระสงฆ์ทั่วประเทศจำนวน 2,138 รูป

นพ.โสภณ กล่าวต่อว่า วัดและพระสงฆ์ ถือเป็นศูนย์รวมของชุมชนได้เป็นอย่างดี โดยกรมอนามัยได้ดำเนินการส่งเสริมให้พระสงฆ์มีบทบาทเป็นแกนนำสำคัญในการเผยแพร่ข้อมูลด้านการส่งเสริมสุขภาพร่วมกับผู้ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เพื่อสุขภาพที่ดีของประชาชนทุกกลุ่มอายุ และเป็นเครือข่ายในการส่งเสริมสุขภาพที่ยั่งยืน เกิดแนวทางการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุระยะยาวอย่างต่อเนื่อง โดยมีกลยุทธ์ 3 ประการ คือ 1) การชี้นำ 2) การเพิ่มความรู้ ความสามารถ ทักษะ และ 3) การขับเคลื่อนของภาคีเครือข่ายร่วมให้เกิดผลดี และประโยชน์ที่เอื้อต่อกัน โดยพระสงฆ์จะเป็นแกนหลักดำเนินงานร่วมกันกับชุมชนในการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตให้ลดเสี่ยง ลดโรค ลดภาวะแทรกซ้อนของโรค และก้าวสู่วิถีชีวิตที่พอเพียง สังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน

“ทั้งนี้ จากสถิติด้านการเจ็บป่วยของพระสงฆ์จากโรงพยาบาลสงฆ์ในปี 2550 พบว่า พระสงฆ์ที่มารับการตรวจรักษา 17,381 รูป ป่วยด้วยโรคเบาหวาน ร้อยละ 17.8 โรคความดันโลหิตสูง ร้อยละ 17.1 ภาวะไขมันในเลือดสูง ร้อยละ 13.5 โรคเหงือกอักเสบร้อยละ 6.7 และโรคช่องปากและฟัน ร้อยละ 6.3 ชี้ให้เห็นว่ากลุ่มพระสงฆ์ยังขาดโอกาสในการเข้าถึงบริการสุขภาพ จึงจำเป็นต้องใช้วัดซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในชุมชนเป็นสถานที่ในการส่งเสริมสุขภาพ สร้างเป็นศูนย์กลางสุขภาพของชุมชน โดยจัดสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการสร้างสุขภาพ และพัฒนาเป็นวัดส่งเสริมสุขภาพอย่างยั่งยืนต่อไป” นพ.โสภณ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น