จากที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี และคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล และเครือข่ายคนไทยไร้พุง จัดกิจกรรม “สุขภาพฟิต พิชิตหวัด” ระหว่างวันที่ 17-18 และ 22 มิ.ย.ที่ผ่านมา เพื่อตรวจหาปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพที่ก่อให้เกิดโรคนั้น
นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา อธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงผลการตรวจสุขภาพว่าจากจำนวนผู้เข้ารับการตรวจสุขภาพทั้งสิ้น 625 คน ประกอบด้วย ส.ส.81 คน ส.ว.39 คน และบุคคลทั่วไป ได้แก่ ผู้สื่อข่าว ผู้ติดตามและบุคลากรในรัฐสภา จำนวน 505 คน พบว่าสุขภาพของ ส.ส.ชาย มีภาวะอ้วนลงพุง (รอบเอวเกิน 90 ซม.) ร้อยละ 44 ปริมาณไขมันในช่องท้องเกินค่ามาตรฐานร้อยละ 82 สุขภาพของ ส.ส.หญิง มีภาวะอ้วนลงพุง (รอบเอวเกิน 80 ซม.) ร้อยละ 67 ปริมาณไขมันในช่องท้องเกินค่ามาตรฐานร้อยละ 44 ความฟิตของร่างกายเฉลี่ยอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง ขณะที่สุขภาพของ ส.ว.พบว่า เกือบทั้งหมดของจำนวน ส.ว.เข้าร่วมตรวจสุขภาพมีไขมันในช่องท้องเกินเกณฑ์มาตรฐาน มากกว่าร้อยละ 80 ขึ้นไป ส่วนความฟิตของร่างกายในอยู่เกณฑ์ปานกลาง ซึ่งใกล้เคียงกับ ส.ส.
ขณะที่ผลการตรวจสุขภาพของบุคคลทั่วไปพบว่า ผู้ชายมีรอบเอวเกินค่ามาตรฐานเพียงร้อยละ 38 ปริมาณไขมันในช่องท้องเกินค่ามาตรฐานร้อยละ 41 ซึ่งมีความเสี่ยงต่อภาวะการเกิดโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูงและไขมันในเลือดน้อยกว่า ส.ส.และ ส.ว.1 เท่า ขณะที่ผู้หญิงมีความเสี่ยงต่อโรคดังกล่าวน้อยกว่ากลุ่ม ส.ว.ถึง 5 เท่า โดยพบว่ามีรอบเอวเกินค่ามาตรฐานเพียงร้อยละ 29 ปริมาณไขมันในช่องท้องเกินค่ามาตรฐานร้อยละ 14
“ผลการตรวจสุขภาพครั้งนี้บ่งชี้ได้ว่า ส.ส.และส.ว.ซึ่งมีค่าเฉลี่ยอายุมากกว่าบุคคลทั่วไป และมีกิจกรรมที่เคลื่อนไหวน้อย ทำให้มีโอกาสเสี่ยงต่อโรคความดัน เบาหวาน ไขมันในเลือด สูงกว่าคนทั่วไปถึง 2 เท่า เนื่องจากภาวะอ้วนลงพุง หรือไขมันในช่องท้องเกินค่ามาตรฐาน เป็นไขมัน ที่พร้อมจะแตกตัวเป็นกรดไขมันอิสระได้ง่าย ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดภาวะดื้ออินซูลินที่ส่งผลต่อการเกิดโรคเบาหวาน ความดันและไขมันในเลือดสูงกว่าคนทั่วไป แนวทางแก้ไขจึงควรสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการลดน้ำหนัก ลดอาหารที่มีรสหวาน มัน เค็ม ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และพักผ่อนให้เพียงพอ” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
นพ.ฆนัท ครุธกูล ผู้จัดการศูนย์หัวใจ หลอดเลือด และเมแทบอลิซึม โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้ ส.ส.และ ส.ว.หลายท่านมีน้ำหนักเกินเนื่องจากลักษณะของงานที่ต้องประชุมบ่อยครั้งและการลงพื้นที่ในงานต่างๆ ทำให้ต้องบริโภคอาหารบ่อย โดยเฉพาะอาหารว่าง ดังนั้นจึงควรให้ความสำคัญต่อการเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมในที่ทำงาน เช่น ลดปริมาณอาหารว่างที่เป็นขนมหรือน้ำหวานเพื่อจะให้สุขภาพดีขึ้น