xs
xsm
sm
md
lg

ศธ.เทงบ 722 ล.แก้ นร.อ่านไม่ออก-เขียนไม่ได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“จุรินทร์” เน้นครูภาษาไทยพัฒนาศักยภาพ เพิ่มเทคนิคการสอน เตรียมผุดสถาบันพัฒนาการเรียนการสอนภาษาไทย หวังเพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็ก เผยเทงบจากไทยเข้มแข็ง 722 ล้านแก้ปัญหาเด็กอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ฝากครูเป็นหมอภาษาให้แก่เด็ก ลงลึกแก้ปัญหารายคน เลิกสอนท่องจำ เน้นสะกดคำ เชื่อแก้ปัญหาได้

วันนี้ (24 ก.ค.) เมื่อเวลา 10.00 น.ที่โรงแรมเอสดี อเวนิว กรุงเทพฯ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เดินทางเป็นประธานเปิดการประชุมอบรม เรื่อง “เข้าใจ เข้าถึงการเรียนการสอนภาษาไทยตามหลักสูตร” เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ (29 ก.ค.2552) ที่จัดโดยสมาคมครูภาษาไทยแห่งประเทศไทย พร้อมทั้งกล่าวในการบรรยายพิเศษ เรื่อง “บทบาทของครูไทยในสังคมปัจจุบัน” ว่า ศธ.มีบทบาทในการผลิตผู้เรียนที่จบออกมามีคุณสมบัติ 3 รูปแบบ คือ เก่ง ดี มีความภูมิใจในความเป็นไทย แต่จากผลการสำรวจที่ออกมาก่อนหน้านี้พบว่าเด็กไทยมีความภูมิใจในความเป็นไทยเพียงร้อยละ 38 จึงต้องมีการกำหนดนโยบายให้มีกรสอนวิชาประวัติศาสตร์เพิ่มขึ้น 1 ชม./สัปดาห์ แต่ความภาคภูมิใจความเป็นไทยไม่ได้อยู่เพียงแค่การเรียนประวัติศาสตร์ อีกเรื่องที่สำคัญคือ ภาษาไทย เพราะที่ผ่านมาพบเด็กอ่อนภาษาไทยมาก จึงต้องมีการเร่งรัดเป็นพิเศษ ซึ่งหากดูจากผลสำรวจเมื่อปลายปี 2549 พบเด็กชั้นป.2 อ่านไม่ออกถึง 12.45% ซึ่งภายหลังจากการให้ความสำคัญมากขึ้นทำให้ในการสำรวจครั้งล่าสุดเมื่อเดือนมีนาคม ปี 2552 พบเด็กชั้น ป.3 อ่านไม่ออกลดลงเหลือ 5.98%
ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า เพื่อพัฒนาการเรียนการสอนภาษาไทยให้เกิดขึ้นจึงมีนโยบายในการพัฒนาครูสอนภาษาไทย โดยเน้นผลิตครูที่มีคุณภาพ จนนำไปสู่ที่มาของโครงการครูพันธุ์ใหม่ โดยอาจมีการพัฒนาครูใน 3 รูปแบบ ได้แก่ 1.ให้นักเรียนที่จบ ม.ปลาย เกรดเฉลี่ย 2.75 ขึ้นไป เข้าโครงการเรียนครู 5 ปี คณะศึกษาศาสตร์ ครุศาสตร์ ซึ่งจบมาก็จะมีอัตราบรรจุที่แน่นอน 2.สำหรับผู้ที่เรียนจบเชี่ยวชาญวิชาเฉพาะมาแล้ว 4 ปี หากสนใจเป็นครูก็เรียนต่อครูอีก 1 ปี และ 3.สำหรับพื้นที่ที่ขาดครู อาจคัดเลือกนักเรียนที่เข้าตามเกณฑ์ข้างต้นเมื่อจบแล้วก็ให้ไปบรรจุในพื้นที่ที่ขาดแคลนนั้นๆ ได้ ทั้งนี้ ครูปัจจุบันก็ต้องมีการพัฒนาศักยภาพ และเพิ่มเทคนิคการสอนที่ทันสมัยมากขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม นอกจากจะสร้างครูแล้ว การบริหารจัดการก็มีความสำคัญ อย่างที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีการตั้งสถาบันพัฒนาการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ ซึ่งดำเนินการมากว่า 4 ปี พบว่าการดำเนินงานประสบความสำเร็จ วัดจากผลสัมฤทธิ์จากคะแนนการสอบ O-NET ของเด็กเพิ่มขึ้นทุกปี จึงต้องนำมาเป็นต้นแบบ โดยจากนี้ไปจะทำการจัดตั้งศูนย์พัฒนาการเรียนการสอนภาษาไทยขึ้น เพื่อผลสัมฤทธิ์ด้านภาษา และมีการพัฒนาการเรียนการสอนภาษาไทยที่ดีขึ้นกว่าเดิม

นายจุรินทร์ กล่าวอีกว่า สำหรับเรื่องของงบประมาณนั้นปีนี้ถือเป็นยุคทองของ ศธ. เพราะได้รับงบพิเศษจากแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งของรัฐบาลโดยเฉพาะในเรื่องของการพัฒนาครู ตั้งแต่ปี 2553-2555 จำนวน 722 ล้านบาท สำหรับใช้พัฒนาการเรียนการสอนภาษาไทย แก้ปัญหาเด็กอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ของเด็กไทย ครู นักศึกษานิเทศก์ภาษาไทยด้วย

“อยากเห็นครูลงลึกในประเด็นการสอนแก่เด็กที่มีปัญหาเป็นรายคน หากทำได้จะเป็นประโยชน์แก่เด็กอย่างยิ่งโดยอยากให้มีการพัฒนาเป็นหมอภาษาให้กับเด็ก อย่างเช่นที่โรงเรียนแห่งหนึ่งใน จ.สุโขทัย ที่ครูมีการวินิจฉัยปัญหาด้านภาษาไทยของเด็กอย่างลงลึก แต่ละเรื่องทั้งฟัง พูด อ่าน เขียน ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีหากครูจะช่วยกันแก้ปัญหาให้แก่เด็ก อีกทั้งในช่วงหลังๆ มานี้จะเห็นว่าครูสอนภาษาไทยบางแห่งจะมีการสอนให้เด็กจำเป็นคำๆ ซึ่งความจริงแล้วควรจะสอนให้เด็กหัดสะกดคำ หากเด็กได้สะกดคำมากๆ จะช่วยแก้ปัญหาการใช้ภาษาได้ดีมากขึ้น” รมว.ศธ.กล่าว

นายจุรินทร์ กล่าวด้วยว่า ในหลายประเทศๆ ได้ให้ความสำคัญกับการเรียนภาษาไทยมาก อย่างที่สาธารณรัฐประชาชนจีน มีเด็กที่สนใจเรียนภาษาไทยจำนวนมากกว่าหมื่นคน นอกจากนี้ในประเทศเวียดนาม พม่า ก็ให้ความสนใจเช่นกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น