‘“ชินภัทร” สั่งเลขาฯ สกสค.เรียกประชุมบอร์ด ช.พ.ค.ทบทวนเงื่อนไขโครงการ ช.พ.ค.5 ระบุไม่จำเป็นต้องทำประชาพิจารณ์จากสมาชิก ชี้เรื่องไหนเอื้อกันได้ไม่จำเป็นต้องรอ ให้ถอยคนละก้าวเพื่อประโยชน์ผู้กู้ ด้านกรรมการ ช.พ.ค.ยังดื้อ เมินคำสั่ง “จุรินทร์” ยันมติบอร์ดให้ทำประชาพิจารณ์ก่อน เหตุมีผู้กู้มาก ทั้งอยากได้เงิน และอยากเอาประกันชีวิต
วันนี้ (21 ก.ค.) นายชินภัทร ภูมิรัตน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ตนจะสั่งการให้นายเกษม กลั่นยิ่ง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) เรียกประชุมคณะกรรมการการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) ในวันที่ 22 ก.ค.นี้ เพื่อรับข้อคิดเห็นของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รมว.ศึกษาธิการ มาพิจารณาทบทวนเงื่อนไข โครงการเงินกู้กองทุนการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา หรือโครงการเงินกู้ ช.พ.ค.5 ใน 2 ประเด็น คือ การไม่บังคับทำประกันชีวิตโดยเปิดให้เป็นทางเลือกตามความสมัครใจ และไม่หักเงิน 12,000 บาทเข้า 2 กองทุนของ ช.พ.ค. ทั้งนี้ ไม่จำเป็นต้องรอผลการจัดประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นจากตัวแทนสมาชิก ช.พ.ค.
“เมื่อรัฐมนตรีแสดงสปิริตให้เดินหน้าโครงการเงินกู้ ช.พ.ค.5 โดยไม่สั่งชะลอ บอร์ด ช.พ.ค.ก็ควรจะนำข้อห่วงใยไปพิจารณา ส่วนการประชาพิจารณ์ที่จะจัดขึ้น ในวันที่ 1 ส.ค.นี้ ก็ให้เป็นการชี้แจงและรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติม” ปลัด ศธ.กล่าว
นายชินภัทรกล่าวต่อว่า ที่เกรงกันว่าบอร์ด ช.พ.ค.อาจจะยืนยันที่รอฟังผลการประชาพิจารณ์จากสมาชิก ช.พ.ค. โดยไม่ยอมทบทวนเงื่อนไขดังกล่าวนั้น ตนมองว่าบางเรื่องที่เอื้อได้ก็ควรจะเอื้อไปโดยไม่จำเป็นต้องรอ ซึ่งถือว่าเป็นการถอยคนละก้าวเพื่อประโยชน์ของผู้กู้ นอกจากนี้ในส่วนความคืบหน้าของการตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง 2 ชุดนั้น คณะกรรมการที่มี นายสุนันท์ เทพศรี ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธาน จะสืบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโครงการเงินกู้ ช.พ.ค.5 เรื่องการบังคับทำประกันชีวิต และการเช่าพระพุทธโสธร “รุ่นเจริญสุข” ส่วนชุดของนายนิวัตร นาคะเวช ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานจะสืบสวนเกี่ยวกับโครงการที่ผ่านมา เช่น การคัดเลือกบุคลากรที่มีการร้องเรียน โครงการคุรุธานี และการจัดสร้างจตุคามรามเทพในโครงการเทิดไท้องค์ราชัน
ด้าน นายกมลศักดิ์ ธาตุทาสี กรรมการ ช.พ.ค.กล่าวว่า ความจริงแล้วในการประชุมบอร์ด ช.พ.ค.ได้มีการหยิบยกข้อเสนอของ รมว.ศึกษาธิการมาพิจารณาแล้ว แต่ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ทำประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความคิดเห็น เพราะมีผู้แสดงความจำนงขอยื่นกู้เป็นจำนวนมาก ส่วนหนึ่งต้องการใช้เงิน แต่อีกส่วนหนึ่งก็ต้องการทำประกันชีวิต ซึ่งเหลือเวลาอีกเพียง 1 สัปดาห์ก็จะถึงกำหนดเวลาที่จะทำประชาพิจารณ์แล้ว ดังนั้น น่าจะรอฟังความคิดเห็นก่อน