xs
xsm
sm
md
lg

“ครูแจ้ง คล้ายสีทอง” บรมครูขับกรับ หัวใจล้มเหลว สิ้นใจด้วยวัย 74 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ครูแจ้ง คล้ายสีทอง บรมครูขับกรับของไทย
“ครูแจ้ง คล้ายสีทอง” บรมครูขับกรับ สิ้นใจด้วยอาการหัวใจล้มเหลว ขณะทำกายภาพบำบัด ที่โรงพยาบาลศิริราช ด้วยวัย 74 ปี ภรรยาและญาติ เตรียมเคลื่อนศพไว้ที่วัดป่าเลไลยก์ จ.สุพรรณบุรี

เมื่อวันที่ 16 มิ.ย.นางบุญนะ คล้ายสีทอง ภรรยา ครูแจ้ง คล้ายสีทอง ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (คีตศิลป์) พ.ศ.2538 เปิดเผยว่า ครูแจ้งได้เสียชีวิตลงอย่างสงบด้วยอาการหัวใจล้มเหลวที่โรงพยาบาลศิริราช ขณะกำลังทำกิจกรรมกายภาพบำบัดจากการเป็นอัมพฤกษ์ ซึ่งทางคณะแพทย์ด้านโรคหัวใจได้วินิจฉัยว่า เกิดจากอาการเส้นเลือดหัวใจตีบเฉียบพลัน ส่งผลให้ระบบหัวใจล้มเหลว โดยคณะแพทย์ได้ทำการปั๊มหัวใจครูแจ้งอย่างสุดความสามารถแล้ว แต่ร่างกายครูแจ้งไม่ตอบสนองจึงจากไปอย่างสงบเมื่อเวลาประมาณ 10.00 น. ทั้งนี้ ครูแจ้งได้เข้ารับการรักษาตัวด้วยโรคเส้นเลือดในสมองตีบด้านขวาเฉียบพลัน ที่โรงพยาบาลศิริราช เมื่อวันที่ 8 ก.พ.ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ตนคิดว่าจะนำศพครูแจ้งไปบำเพ็ญกุศลยังวัดป่าเลไลยก์ จ.สุพรรณบุรี ซึ่งจะมีการกำหนดวันสวดพระอภิธรรมกี่วันอีกครั้ง

นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวว่า ได้รับทราบเรื่องดังกล่าวแล้ว โดยในส่วนกระทรวงวัฒนธรรมจะให้การช่วยเหลืออย่างเต็มที่ เนื่องจาก ครูแจ้ง เป็นศิลปินแห่งชาติ อยู่ในความดูแลของสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ทั้งนี้ ตนขอแสดงความเสียใจต่อการจากไปของบรมครูขับกรับที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งประเทศไทยได้สูญเสียปูชนียบุคคลด้านศิลปวัฒนธรรมไปอีกคนหนึ่ง

นางฉวีรัตน์ เกษตรสุนทร เลขาธิการคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กล่าวว่า ทางสวช.ขอแสดงความเสียใจกับทางญาติของครูแจ้ง เพราะถือว่าประเทศไทยได้สูญเสียศิลปินที่มีความสำคัญของประเทศไทยอีกท่านหนึ่ง อย่างไรก็ตาม สวช.จะเป็นเจ้าภาพในการสวดพระอภิธรรมศพ พร้อมทั้งมอบเงินค่าจัดพิมพ์หนังสือ 120,000 บาท และขอพระราชทานเพลิงศพให้ต่อไป

สำหรับประวัติ ครูแจ้งนายแจ้ง คล้ายสีทอง เกิดเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2478 ที่ จ.สุพรรณบุรี จบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนวัดโบสถ์ดอนคำแพน และเข้ารับราชการในตำแหน่งคีตศิลปินจัตวา กรมศิลปากร เนื่องจากครูแจ้งเป็นผู้มีความสามารถในการขับเสภาพร้อมขยับกรับ ไพเราะหวานหู จนได้รับสมญาว่า “ช่างขับคำหอม” เพราะเสียงดี ขยับกรับได้ยอดเยี่ยมจนไม่มีใครเทียบ เป็นนักขับเสภาที่ดีที่สุดเท่าที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้ ขับเสภาได้อย่างมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว สามารถขับบทเสภาเก่าๆ ที่ถูกลืมกลับมามีชีวิตโดดเด่นจนกระทั่งได้รับความนิยมจากคนรุ่นใหม่ เช่น เรื่องขุนช้าง ขุนแผน ตอนกำเนิดพลายงาม

นอกจากนี้ ครูยังเป็นผู้ถ่ายทอดวิชาศิลปะการขับกล่อมให้แก่ศิษย์มากมาย จนได้รับพระราชทานเหรียญราชรุจิ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อคราวขับไม้ประกอบซอสามสายในพระราชพิธีขึ้นระวาง สมโภชพระศรีนรารัฐราชกิริณี ที่จังหวัดนราธิวาส เมื่อปี 2520 และได้รับพระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ ในงานพระราชพิธีขึ้นระวาง และสมโภชช้างสำคัญ 3 เชือกที่ จ.เพชรบุรี ปี 2521 และได้รับการยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (คีตศิลป์) จาก สวช. เมื่อปี 2538
กำลังโหลดความคิดเห็น