การบูชาเทพเจ้ามีมาตั้งแต่สมัยอดีตกาลกระทั่งปัจจุบันผู้คนก็ยังคงบูชาและนับถือเทพเจ้ากันอย่างแพร่หลาย ด้วยเชื่อว่าเทพเจ้าจะบันดาลให้เกิดผลในด้านต่างๆ เทพเจ้าที่นิยมนับถือกันเป็นอย่างมากองค์หนึ่งก็คือ "พระพิฆเนศ" เทพเจ้าแห่งความสำเร็จ
ในทริปนี้ "ผู้จัดการท่องเที่ยว" มีโอกาสเดินทางไปเชียงใหม่ จึงสบช่องหาจังหวะเดินทางไปเที่ยวยัง "พิพิธภัณฑ์พระพิฆเนศ" ต.ยางคราม อ.ดอยหล่อ ซึ่งถือเป็นพิพิธภัณฑ์พระพิฆเนศ เพียงแห่งเดียวในประเทศไทยเลยก็ว่าได้ แต่ก่อนที่จะเข้าไปชมด้านในของพิพิธภัณฑ์เรามาทำความรู้จักพระพิฆเนศกันเสียก่อนดีกว่า
พระคเนศ พระพิฆเนศ พระพิฆเนศวร หรือพระคณปติ เป็นนามของเทพเจ้าสำคัญองค์หนึ่งของศาสนาฮินดูหรือศาสนาพราหมณ์ เป็นโอรสของพระศิวะกับนางปารวดี หรือที่รู้จักกันว่า พระอุมา ที่มีลักษณะของร่างกายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะคือ มีกายเป็นมนุษย์ มีเศียรเป็นช้าง ผู้คนให้ความเคารพนับถือ "พระคเนศ" ในฐานะเทพเจ้าแห่งอุปสรรค ผู้บันดาลให้เกิดความสำเร็จในทุกๆด้าน
เนื่องจากเป็นที่นับถือกันมาทุกยุคทุกสมัย รูปเคารพของพระคเนศจึงมีมากมายหลายรูปแบบ ทั้งแกะจากศิลา โลหะสำริด ทองเหลือง เงิน ปูนปั้น ดินเผา ไม้ กระดาษ และงาช้าง เป็นต้น
สำหรับในประเทศไทย ปัจจุบันมีการนับถือบูชาพระคเนศในฐานะเทพสำคัญด้านต่างๆ จึงมีพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องอาทิ พระราชพิธีในราชสำนักไทยที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่สมัยพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้แก่ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระราชพิธีตรียัมพวายตรีปวาย พระราชพิธีสมโภชขึ้นระวางช้างเผือก เป็นต้น
แม้ในงานนาฏศิลป์ ดุริยางศิลป์ และงานช่างไทยก็มีการนับถือพระคเนศ โดยมีการบูชาในพิธีไหว้ครูก่อนการแสดงหรือการเรียนศาสตร์นั้นๆ ด้วยเชื่อว่าท่านเป็นเทพแห่งอุปสรรค บูชาท่านเพื่อป้องกันมิให้เกิดอุปสรรค อันจะนำไปสู่ความสำเร็จ ทั้งยังบูชาในฐานะที่ทรงมีสติปัญญาหลักแหลมอีกด้วย
ในหมู่เทพเจ้าของศาสนาพราหมณ์ พระคเนศที่มีตัวเป็นมนุษย์มีเศียรเป็นช้างนั้นนับเป็นเทพที่มีรูปลักษณ์โดดเด่นที่สุด ในการทำรูปเคารพจึงมักนิยมทำเป็นรูปบุรุษร่างอ้วนพุงพลุ้ย ในท่านั่งหรือยืนบนหลังหนูที่เป็นพาหนะของท่าน กรหรือมือมักมี 1-16 กรถืออาวุธต่างๆกันตามปางหรือตามเนื้อหาของประวัติ
แต่ที่นิยมกันคือ 4 กร แต่ละกรถือบ่วงบาศ ตะขอเกี่ยวช้าง ขนมโมทกะ และแสดงปางประทานพร ซึ่งรูปแบบหรืออิริยาบถต่างๆนี้สามารถวิเคราะห์ตีความได้ว่าเป็นพระคเนศในปางใด ทั้งยังแสดงถึงสกุลช่างศิลปกรรมที่หลากหลายตลอดจนพัฒนาการของคติความเชื่อเกี่ยวกับการบูชาพระคเนศอีกด้วย ซึ่งหลังรู้เรื่องราวคร่าวๆของพระพิฆเนศไปแล้ว ทีนี้ก็ถึงเวลาตะลุยเที่ยวพิพิธภัณฑ์พระพิฆเนศกันอย่างไม่รีรอ
สำหรับพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ถือกำเนิดโดย "ปัณฑร ทีรคานนท์" ด้วยเริ่มแรกเป็นผู้ที่เคารพนับถือพระคเนศอยู่แล้วเป็นการส่วนตัวจึงได้สะสมรูปเคารพพระคเนศในอิริยาบถต่างๆมานานกว่า 30 ปี และระหว่างนั้นก็มีเพื่อนฝูง คนรู้จักที่เคารพนับถือพระคเนศมาขอชมบ่อยครั้ง ปัณฑร จึงคิดเปิดให้ผู้ที่สนใจทั่วไปได้เข้าชมเพื่อให้ผู้ที่สนใจเข้ามาค้นคว้าศึกษาหาความรู้ต่อไป และสำหรับผู้ที่ไม่มีโอกาสได้เดินทางไปสักการะที่ประเทศอื่นก็มาที่นี่ ในประเทศไทยของเราก็มีเช่นกัน
ภายในพิพิธภัณฑ์ได้รวบรวมงานประติมากรรมรูปเคารพพระคเนศจากประเทศต่างๆทั่วโลก อาทิ ไทย อินเดีย เนปาล เขมร พม่า ลาว ศรีลังกา อินโดนีเซีย มากจัดแสดงมากกว่า 1,000 ชิ้น โดยแบ่งเป็นส่วนต่างๆ ได้แก่ “อาคารบูชา” ซึ่งแต่เดิมเคยเป็นพิพิธภัณฑ์หลังเก่าปัจจุบันใช้เป็นห้องบูชาและจัดแสดงกิจกรรมสาธิตการประกอบพิธีบูชาองค์พระพิฆเนศแบบฮินดู ในทุกวันอาทิตย์ เวลา 10.00 น.
ในอาคารบูชา จัดแสดง "เทวรูปพระพิฆเนศประทับพร้อมครอบครัว" ซึ่งแกะสลักด้วยไม้ทั้งหมด ต้องบอกเลยว่าเป็นครั้งแรกที่ "ผู้จัดการท่องเที่ยว" ได้เห็นพระพิฆเนศประทับพร้อมครอบครัว และอาจกล่าวได้ว่ามีเพียงแห่งเดียวในโลกเลยทีเดียว เพราะแม้ในประเทศอินเดียก็ไม่ปรากฏพระพิฆเนศประทับอยู่พร้อมกันทั้งครอบครัว
หลังจากสักาการะบูชาเทวรูปพระพิฆเนศประทับพร้อมครอบครัวแล้ว พวกเราเดินกลับออกมาด้านนอกอาคารบูชา ซึ่งมีรูปประติมากรรมหนู พาหนะของพระพิฆเนศอยู่ ทางพิพิธภัณฑ์แนะนำว่า หากต้องการขอพรให้ไปถึงพระพิฆเนศให้ฝากบอกเจ้าหนูไว้ โดยมีวิธีการขอพรผ่านทางหนูให้เอามือด้านหนึ่งปิดหูของหนูข้างหนึ่งไว้ แล้วกระซิบขอพรที่ข้างหูหนูอีกด้านหนึ่ง เท่านี้ เจ้าหนูก็จะนำสารไปบอกยังพระพิฆเนศแล้ว ได้ฟังดังนั้นพวกเราไม่ว่าจะเป็นชายหญิงเด็กผู้ใหญ่วัยชราก็พากันต่อแถวเข้าคิวเพื่อขอพรพระพิฆเนศผ่านทางเจ้าหนูตัวนี้กันอยู่นานสองนานเลยทีเดียว
เมื่อสมใจกับการขอพรแล้ว พวกเราก็ไปชมยัง "อาคารจัดแสดง 1 และ 2" ตัวอาคารเป็นสถาปัตยกรรมของชาวฮินดูในเกาะบาหลี รวมถึงสีของอาคารก็เป็นสีดั้งเดิมที่ชาวบาหลีใช้กัน ภายในอาคารทางด้านซ้ายมือจัดแสดงพระพิฆเนศที่รวบรวมมาจากสถานที่ต่างๆในดินแดนเอเชีย ส่วนอาคารทางด้านขวามือเมือเข้าไปจะเจอกับองค์พระพิฆเนศประทับบนชิงช้า ผู้เข้าชมสามารถไกวชิงช้าโดยการดึงเชือกไปมาเบาๆเพื่อเป็นการถวายการบูชาแด่องค์พระพิฆเนศได้ ซึ่ง "ผู้จัดการท่องเที่ยว" เห็นว่าเป็นการบูชาที่สนุกและแปลกแหวกแนวจริงๆ
ถัดไปด้านข้างจะเห็นราชรถจำลองลากด้วยหนู 5 ตัว ซึ่งแสดงถึงกิเลศทั้ง 5 ประการของมนุษย์ นอกจากนี้ภายในอาคารนี้ยังจัดแสดงองค์พระพิฆเนศทั้ง 32 ปาง และยังมีรูป "คเณศานี" หรือพระพิฆเนศในรูปแบบผู้หญิง โดยสังเกตจากรูปร่างที่มีทรวดทรงองค์เอว มีหน้าอก แกะสลักจากหินทรายสีขาว ที่หาชมได้ยากยิ่ง ซึ่งภายในอาคารจัดแสดงทั้ง 2 หลังนี้จะมีคำบรรยายแต่ละองค์พระพิฆเนศให้ผู้ที่เข้าชมได้เข้าใจกันด้วย
สำหรับ "หอพระ" เป็นอาคารหลังแรกที่สร้างขึ้น แต่เมื่อทรุดโทรมลงจึงได้มีการซ่อมแซมและดัดแปลงเป็นอาคาร 2 ชั้น ทางขึ้นมีรูปปั้นองค์รักษ์ผู้เฝ้าสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ภายในหอพระประดิษฐานองค์พระพิฆเนศประทับบนดอกบัว ที่กลีบดอกบัวทุกกลีบสลักคำว่า โอม ซึ่งเป็นคาถาศักดิ์สิทธิ์
อีกสถานที่ที่สำคัญมากคือ "เทวาลัยพระพิฆเนศ" ที่เกิดขึ้นจากความศรัทธาของเจ้าของพิพิธภัณฑ์ อิฐทุกก้อนผ่านการสวดและเขียนอักขระ ก่อนนำไปประกอบเป็นเทวาลัย โดยเทวาลัยแห่งนี้สร้างขึ้นตามคัมภีร์มารสานศาสตร์วิทยาของอินเดีย เป็นสถาปัตยกรรมที่ได้จำลองแบบเทวาลัยจากประเทศเนปาล ผสมผสานสถาปัตยกรรมพม่า และล้านนาบางส่วน
ซุ้มประตูเทวาลัยแกะสลักเป็นองค์พระพิฆเนศประทับยืนแบบตริพังพร้อมครอบครัว อันได้แก่ พระมเหสี 2 พระองค์ และโอรส 2 พระองค์ ส่วนซุ้มหน้าต่าง 4 บาน แกะสลักเป็นเรื่องราวขององค์พระพิฆเนศที่เกิดขึ้นในแต่ละยุค
ภายในได้จำลอง คณปติโลก หรือโลกอันเป็นที่ประทับขององค์พระพิฆเนศ ซึ่งได้กล่าวไว้ในคัมภีร์ว่า พระองค์ทรงประทับอยู่บนเกาะกลางมหาสมุทร ที่เต็มไปด้วยน้ำอ้อย ในเวลาที่มีลมพัดจะเกิดคลื่นซัดเอาเพชรพลอยและอัญมณีเข้าหาฝั่ง ส่วนพระองค์ประทับยืนบนดอกบัว ซึ่งมีกลีบดอกเขียนอักษรโอมภายใต้ต้นกัลปพฤกษ์
ภายในเทวาลัยนี้จึงได้ถ่ายทอดความเชื่อดังในคัมภีร์ โดยพื้นของเทวาลัยได้ใช้แผ่นโลหะดุนลายเป็นรูปดอกบัวแทนน้ำหรือมหาสมุทรน้ำอ้อย ฐานสี่เหลี่ยมกลางเทวาลัยแทนเกาะอันเป็นที่ประทับ กลับดอกบัวทุกกลีบจารึกอักษรโอมในภาษาต่างๆ ถึง 12 ภาษา ส่วนต้นกัลปพฤกษ์ถูกแทนด้วย คณปติฉัตร หรือ ร่ม
นอกจากนี้อีกหนึ่งที่ที่ชาวคณะของเราปักหลักกันอยู่นานสองนานก็คือ "ห้องเช่าบูชา" ที่ภายในมีรูปเคารพพระพิฆเนศในหลายรูปแบบให้ผู้ที่เคารพนับถือได้เช่าบูชา และด้านในสุดยังมี "เทวาลัยพระลักษมี" เทพแห่งเงินทอง ให้ได้กราบไหว้บูชากันอีกด้วย หากใครมีโอกาสได้มาเยือนเมืองเชียงใหม่ก็อย่าลืมแวะมาค้นหาเรื่องราวและชื่นชมศิลปะของเทพเจ้าเศียรช้างกันได้ที่พิพิธภัณฑ์พระพิฆเนศ ซึ่งนี่คือหนึ่งในสัญลักษณ์แห่ง"ความหวัง"ของผู้ที่นับถือทั้งหลาย
และความหวังนี่แหละคือหนึ่งในสิ่งหล่อเลี้ยงให้ชีวิตมีพลังสร้างสรรค์งานต่อไป
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นความหวังที่วาดไว้จำเป็นต้องอยู่บนพื้นฐานแห่ง"ความจริง"ด้วย
*****************************************
“พิพิธภัณฑ์พระพิฆเนศ” ตั้งอยู่ที่ 277 หมู่ 10 ต.ยางคราม อ.ดอยหล่อ จ.เชียงใหม่ เปิดทุกวัน ในเวลา 9.00-17.00 น. สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร.0-5326-9101