ศูนย์ข่าวภูเก็ต - เยาวชนจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เยี่ยมชมเรือหลวงภูเก็ต ก่อนเดินทางกลับฐานทัพเรือสัตหีบในวันพรุ่งนี้
วันนี้ (28 มี.ค.) จังหวัดภูเก็ต ร่วมด้วย กองเรือภาคที่ 3 กองเรือยุทธการ โดยมี พลเรือโท สุพจน์ พฤกษา ผู้บัญชาการ กองเรือภาคที่ 3 กองเรือยุทธการ ได้ร่วมกับเทศบาลตำบลวิชิต เทศบาลตำบลราไวย์ เทศบาลตำบลรัษฎา เทศบาลตำบลป่าตอง ท่าเรือน้ำลึกจังหวัดภูเก็ต โรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต และ มูลนิธิกุศลธรรมภูเก็ต ซึ่งมีนักเรียน นักศึกษา ตลอดจนประชาชนทั่วไปที่สนใจได้เข้าร่วมชมนิทรรศการ และให้เยี่ยมชมเรือหลวงภูเก็ตอย่างใกล้ชิด ณ บริเวณท่าเรือน้ำลึกจังหวัดภูเก็ต เป็นจำนวนมาก
ในงานนี้ได้มีเยาวชนผู้ที่สนใจที่เดินทางมาจาก ร.ร.อิสลามบาเจาะ อ.บังนังสตา จ.ยะลา จำนวน 60 คน และประชาชน จาก อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา จำนวน 20 คน พร้อมด้วยประชาชนในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตเป็นจำนวนมาก เข้าเยี่ยมชมเรือหลวงภูเก็ต ซึ่งภายในงานได้มีเจ้าหน้าที่จากมูลนิธิกุศลธรรมภูเก็ต ได้จัดอาหาร ไอศกรีม และน้ำดื่ม เลี้ยงตลอดทั้งวัน
ทั้งนี้ เนื่องด้วย เรือหลวงภูเก็ต เป็นเรือซึ่งได้รับพระราชทานชื่อเดียวกันกับจังหวัดภูเก็ต ได้มาปฏิบัติราชการในพื้นที่ฝั่งทะเลอันดามันตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2549 จนถึงปัจจุบัน และมีกำหนดเดินทางกลับฐานทัพเรือสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ในวันที่ 1 เมษายน 2551 นี้ ในห้วงเวลาที่ผ่านมาเรือหลวงภูเก็ต ได้ปฏิบัติหน้าที่ในการรักษาอธิปไตยของชาติ และให้การช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ฝั่งทะเลอันดามัน รวมทั้งสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ของหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนมาโดยตลอด
ในวันเสาร์ที่ 29 มี.ค.2551 นี้ เวลา 09.00-11.00 น.เรือหลวงภูเก็ต จะนำประชาชนและเยาวชน ทัศนศึกษาทางทะเลบริเวณอ่าวพังงาและบริเวณใกล้เคียง และเวลา 16.00-18.30 น.เรือหลวงภูเก็ต จะนำแขกผู้มีเกียรติและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในจังหวัดภูเก็ต และสื่อมวลชนทัศนศึกษาทางทะเลบริเวณอ่าวพังงา และบริเวณใกล้เคียงและชมสาธิตการปฏิบัติการร่วมเวลาระหว่างเรือและอากาศยานของ กองทัพเรือ เพื่อเป็นการกระชับความสัมพันธ์อันดีระหว่างประชาชน และกำลังพลประจำเรือตลอดจน เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจแก่กำลังพลของเรือหลวงภูเก็ต
สำหรับเรือรบหลวงภูเก็ตนั้น ในวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ.2477 เป็นวันลงนามในสัญญาสร้าง เรือหลวงภูเก็ต (ลำที่ 1) เรือหลวงภูเก็ต เป็นเรือตอร์ปิโดใหญ่ ต่อที่อู่บริษัท กันติเอริ ริอูนิติ เดลลัดดริอาติโก เมืองตริเอสเต ประเทศอิตาลี ขนาดของเรือ ยาว 68 เมตร กว้าง 6.35 เมตร ระวางขับน้ำปกติ 413 ตัน ความเร็วสูงสุด 31.6 นอต รัศมีทำการเมื่อความเร็วสูงสุด 444 ไมล์ ทหารประจำเรือ 120 นาย ขึ้นระวางประจำการเมื่อวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ.2478
ต่อมาภายหลังจากที่เรือหลวงภูเก็ต ได้ปฏิบัติราชการทั้งในยามปกติและยามสงคราม สภาพของเรือชำรุดทรุดโทรมจนไม่สามารถซ่อมแซมให้ใช้ราชการได้อีก ต่อไปจึงได้ปลดระวางประจำการ เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ.2518 ในช่วงระยะเวลาปฏิบัติภารกิจของเรือหลวงภูเก็ต นั้น ได้เคยสร้างวีรกรรมในสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยได้ต่อสู้อากาศยานเครื่องบินข้าศึกที่จะมาทิ้งระเบิดบริเวณอ่าวสัตหีบ จนเครื่องบินข้าศึกไม่กล้าที่จะเข้าโจมตีอ่าวสัตหีบในระยะต่ำต่อไป
ต่อมาในปี พ.ศ.2522 รัฐบาลได้อนุมัติให้กองทัพเรือจัดหาเรือเร็วโจมตีปืน จำนวน 3 ลำ ตามโครงการเสริมสร้างกำลัง ทางเรือ ในการนี้กองทัพเรือได้ว่าจ้างบริษัท กานติเอเร นาวาลเล เบรดา ประเทศอิตาลี เป็นผู้ต่อเรือชุดดังกล่าว และหนึ่งในจำนวน 3 ลำ นี้ก็ได้รับพระราชทานชื่อว่า เรือหลวงภูเก็ต ดังนั้น เรือหลวงภูเก็ต ลำปัจจุบันนี้จึงเป็นลำที่ 2 โดยมีหน้าที่ในการป้องกัน เอกราชอธิปไตย และผลประโยชน์ของชาติทางทะเลอย่างเข้มแข็งอยู่ในทุกวันนี้
เรือหลวงภูเก็ต (ลำที่ 2) ได้เดินทางจากประเทศอิตาลี มาถึง จังหวัดภูเก็ต เมื่อเดือน ธ.ค.2526 และทางจังหวัดได้จัดพิธีต้อนรับ ณ ท่าเทียบเรือ ศูนย์ชีววิทยาทางทะเล และจัดงานสมโภช ระหว่างวันที่ 12-13 ธันวาคม พ.ศ.2526 เรือหลวงภูเก็ต (ลำที่ 2) เป็นเรือเร็วโจมตีปืน ชุดเดียวกับ เรือหลวงชลบุรี (ลำที่ 2) และเรือหลวงสงขลา (ลำที่ 2) กองทัพเรือได้ว่าจ้าง บริษัท กานติเอเร นาวาลเล เบรดา ประเทศอิตาลี เป็นผู้ต่อเรือชุดดังกล่าว ตามโครงการ เสริมสร้าง กำลังทางเรือ ขนาดเรือยาว 60.7เมตร กว้าง 8.8 เมตร ระวางขับน้ำ 450 ตัน อาวุธปืน 76-62 ออโตมาลารา 2 กระบอก ปืน 40/70 แท่นคู่ 1 แท่น
เครื่องควบคุมการยิงที่ทันสมัย เครื่องจักรดีเซล 3 เครื่อง เครื่องกำเนิดไฟฟ้า 4 เครื่อง ความเร็ว 29 นอต ทหารประจำเรือ 45 นาย กำลังรบทางเรือที่เข้มแข็งย่อมเป็นหลักประกัน ในการต่อต้าน การรุกราน ทางด้านทะเล ฉะนั้น กองทัพเรือ จึงพยายามเสริมสร้าง กำลังรบทางเรือ ให้เข้มแข็ง และมีประสิทธิภาพ อยู่ตลอดเวลา ปัจจุบันมี นาวาตรี พีระ สกุลเต็ม เป็นผู้บังคับการเรือ