xs
xsm
sm
md
lg

กระบี่เตรียมใช้งบ 60 ล.สร้างอุทยานประวัติศาสตร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กระบี่ - จังหวัดกระบี่เตรียมสร้างอุทยานประวัติศาสตร์ โครงการตามรอยพระเศวตอดุลยเดชพาหน ช้างเผือกทรงคู่บารมีเชือกแรก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาราชภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ที่อำเภอลำทับ ใช้งบประมาณ 60 ล้านบาท

นายศิวะ ศิริเสาวลักษณ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2552 จังหวัดกระบี่พร้อมด้วยนายชวน ภูเก้าล้วน ประธานคณะที่ปรึกษาผู้ว่าฯ นายพรเทพ สีบุญเรือง ประธานโครงการตามรอยพระเศวตฯ ได้ลงพื้นที่สำรวจพื้นที่สาธารณะประโยชน์ประจำหมู่บ้าน ป่าพรุเหรียง หมู่ 2 ตำบลดินอุดม อำเภอลำทับ จังหวัดกระบี่ ซึ่งเป็นสถานที่ที่จะทำการก่อสร้างอุทยานประวัติศาสตร์ โครงการตามรอยพระเศวตอดุลยเดชพาหน ช้างเผือกทรงคู่บารมีเชือกแรก ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาราชภูมิพลอดุลยเดชมหาราช

สำหรับโครงการดังกล่าวใช้งบประมาณจำนวน 60 ล้านบาท ทำการก่อสร้างอาคาร 1 หลัง 3 ห้อง พร้อมตกแต่งและอุปกรณ์ สร้างสถานที่เลี้ยงช้าง สถานที่พะเนียตคล้องช้าง และสร้างคอกช้าง พร้อมก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็กเป็นเส้นทางชมธรรมชาติรอบบริเวณ

ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ กล่าวอีกว่า ทางจังหวัดได้รับการจัดสรรงบประมาณ 5 ล้านบาท เป็นงบประมาณปี 2553 ทำการสำรวจพื้นที่ วางแผนผัง เขียนแบบแปลนโดยโครงการตามรอยพระเศวตอดุลยเดชพาหน ช้างเผือกทรงคู่บารมีเชือกแรก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาราชภูมิพลอดุลยเดชมหาราช สร้างขึ้นเพื่อตอบสนองพระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตามโครงการปล่อยช้างคืนสู่ป่า และเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้พระเศวตอดุลยเดชพาหน ช้างเผือกทรงคู่บารมีเชือกแรก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาราชภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ที่คล้องได้ที่บ้านหนองจูด ตำบลดินอุดม อำเภอลำทับ จังหวัดกระบี่ เมื่อ พ.ศ. 2499 โดยนายแปลก ฟุ้งเฟื่อง และนายปลื้ม สุทธิเกิด ราษฎร อำเภอลำทับจังหวัดกระบี่

ทำการคล้องได้เป็นลูกช้างติดแม่อยู่ในโขลงช้างป่า พร้อมกับช้างอื่นๆ อีก 5 เชือก โดยในตอนนั้นพระเศวตอดุลยเดชพาหนฯ ได้ชื่อว่า “พลายแก้ว” มีความสูง 1.60 เมตร เมื่อพระราชวังเมือง ได้ตรวจสอบคชลักษณ์แล้วพบว่าเป็นช้างสำคัญ จึงนำมาเลี้ยงไว้ที่สวนสัตว์ดุสิต เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2500 จากนั้น พล.ท.บัญญัติ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ประธาน องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยในตอนนั้นได้นำช้างพลายแก้วขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2501 เพื่อประกอบพิธีขึ้นระวางเป็นช้างต้น

จากนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์โรงช้างต้นที่พระเศวตวชิรพาหล ช้างเผือกในรัชกาลที่ 6 เคยยืนโรงมาก่อน ให้เป็นที่ยืนชั่วคราว เพื่อใช้ประกอบพระราชพิธีสมโภช และขึ้นระวางช้างเผือกประจำรัชกาลในวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ.2502 ณ โรงช้างต้นพระราชวังดุสิต

“พระเศวตอดุลยเดชพาหนฯ เป็นพระยาช้างเผือกประจำรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นช้างสำคัญในตระกูลพรหมพงศ์ จำพวกอัฏฐทิศ ชื่อ กมุท สีกายดังดอกกมุท หรือบัวสายแดง ได้รับพระราชทานนามเต็มว่า พระเศวตอดุลยเดชพาหน ภูมิพลนามนาคบารมี ทุติยเศวตกรีกมุทพรรโณภาส บรมกทลาสนวิศุทธวงศ์ สรรพมงคลลักษณคเชนทรชาต สยามราษฎรสวัสดิประสิทธิ์ รัตนกุญชรนิมิตบุญญาธิการ ปรมินทรบพิตรสารศักดิเลิศฟ้า”

ปัจจุบัน พระเศวตอดุลยเดชพาหนฯ ย้ายไปยืนโรง ณ โรงช้างต้น วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยเคลื่อนย้ายคุณพระเศวตอดุลยเดชพาหนฯ เมื่อวันที่ 17-18 มีนาคม พ.ศ.2547 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพระราชพิธีสมโภชโรงช้างต้น เมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ.2547 เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ในปี พ.ศ.2549 ทรงมีกระแสพระราชดำรัสให้จัดสร้าง คชาภรณ์ หรือเครื่องทรงช้างต้นชุดใหม่ พระราชทานแก่พระเศวตอดุลยเดชพาหนฯ เนื่องจากคชาภรณ์ชุดเดิมที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานให้ เมื่อ พ.ศ.2502 มีสภาพเก่า และมีขนาดเล็กเกินไป โดยสำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม รับสนองพระบรมราชโองการจัดสร้างเครื่องคชาภรณ์ชุดใหม่
กำลังโหลดความคิดเห็น