xs
xsm
sm
md
lg

เดินเล่นลานพระรูปฯ ดื่มด่ำบรรยากาศย่านดุสิต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย : หนุ่มลูกทุ่ง

พระบรมรูปทรงม้า ประดิษฐานหน้าพระที่นั่งอนันฯ
ช่วงนี้ที่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้ากำลังคึกคัก มีทั้งงานพระราชทานปริญญาบัตร และงานซ้อมสวนสนาม และอีกไม่นานคงมีการประดับไฟสวยงามสว่างไสวเนื่องในวโรกาสฉลองพระชนมพรรษา 5 ธันวามหาราช ไอ้ฉันก็ชอบความคึกคักไม่น้อยมีเทศกาลงานใดก็ตามจึงถือโอกาสไปสัมผัสบรรยากาศและเดินเที่ยวละแวกใกล้เคียงพระบรมรูปทรงม้าย่านเขตดุสิตนี้เป็นการชิมลางกันก่อนถึงงานจริง
พระที่นั่งอนันตสมาคม อดีตเคยเป็นรัฐสภาแห่งแรกของไทย
เมื่อมาถึงลานพระบรมรูปทรงม้า ก็พลาดไม่ได้ที่จะกราบสักการะขอพร “พระบรมรูปทรงม้า” หรือ “พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” เพื่อความเป็นสิริมงคลยิ่ง ซึ่งใครที่ผ่านไปผ่านมาจะรู้ว่าในทุกค่ำคืนวันอังคารซึ่งตรงกับวันพระราชสมภพและวันพฤหัสบดีอันถือเป็นวันครูจะเป็นวันที่ประชาชนนิยมมาสักการบูชามากที่สุด โดยเชื่อกันว่าเสมือนหนึ่งได้เข้าเฝ้าพระองค์จริง

สำหรับพระบรมรูปทรงม้าแห่งนี้ สร้างขึ้นตามแบบพระรูปพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทรงม้า ณ พระราชวังแวร์ซาย กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นแบบที่พระองค์ทรงโปรด โดยเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์แห่งความจงรักภักดี ที่เหล่าพสกนิกรพร้อมใจกันสร้างถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสเสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติครบ 40 ปีบริบูรณ์ย่างเข้าสู่ปีที่ 41 อันถือได้ว่ายืนนานยิ่งกว่าพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ในราชวงศ์จักรีในขณะนั้น
พระที่นั่งวิมานเมฆ ป็นพระที่นั่งที่สร้างด้วยไม้สักทองที่ใหญ่ที่สุดในโลก
ด้านหลังของพระบรมรูปทรงม้า คือ “พระราชวังดุสิต” ที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เพื่อเป็นที่เสด็จประทับชั่วคราว เนื่องจากภายในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งเป็นพระราชนิเวศน์ที่ประทับนั้นมีสิ่งปลูกสร้างอยู่อย่างแออัด ปิดทางลม และพระราชทานนามว่า “วังสวนดุสิต” ต่อมาเมื่อมีการขยายพระนครจึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างที่ประทับถาวร และพระที่นั่งต่างๆขึ้นเพื่อใช้ประกอบพระราชพิธีได้เช่นเดียวกับพระบรมมหาราชวัง แล้วจึงโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศเปลี่ยนนามเป็น “พระราชวังสวนดุสิต” จนกระทั่งรัชสมัยรัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯให้เรียกว่า "พระราชวังดุสิต" จนปัจจุบัน

ภายในพระราชวังดุสิตมีพระที่นั่งที่สำคัญคือ พระที่นั่งอนันตสมาคม, พระที่นั่งอัมพรสถาน, พระที่นั่งอภิเศกดุสิต และพระที่นั่งวิมานเมฆ สำหรับ “พระที่นั่งอนันตสมาคม” นี้จัดได้ว่าเป็น “รัฐสภา” แห่งแรกของประเทศไทย เนื่องจากในช่วงการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้ใช้พระที่นั่งองค์นี้ในการประชุมสภาผู้แทนราษฏร
พระตำหนักสวยงามในเขตพระที่นั่งวิมานเมฆ
ต่อมาเมื่อจำนวนสมาชิกรัฐสภามีมากขึ้น จึงได้ก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ขึ้นทางด้านทิศเหนือของพระที่นั่ง ซึ่งก็คือที่ตั้งรัฐสภาในปัจจุบัน ประกอบด้วยอาคาร 3 หลัง หลังแรกด้านหน้าสุดใช้เป็นที่ประชุมวุฒิสภา สภาผู้แทนราษฎร และการประชุมร่วมตามที่เราได้เห็นกันในทีวีนั้นแหละ โดยเมื่อสร้างแล้วเสร็จก็ได้ใช้เป็นที่ประชุมสภาครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2517 ส่วนอาคารหลังที่ 2 ใช้เป็นสำนักงานเลขาธิการรัฐสภาและโรงพิมพ์รัฐสภา และหลังที่ 3 ใช้เป็นสโมสรรัฐสภา ใครที่อยากจะไปเห็นรัฐสภาปัจจุบันก็ต้องรีบไปดูกัน เพราะอีกไม่นานเขาจะย้ายรัฐสภาไปยังอาคารหลังใหม่บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา ย่านเกียกกาย

อีกหนึ่งพระที่นั่งที่นักท่องเที่ยวนิยมเข้าเที่ยวชมก็คือ “พระที่นั่งวิมานเมฆ” ซึ่งเป็นพระที่นั่งที่สร้างด้วยไม้สักทองที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นพระที่นั่งถาวรองค์แรกในพระราชวังดุสิต รัชกาลที่ 5ทรงโปรดเกล้าให้รื้อพระที่นั่งมันธาตุรัตนโรจน์จากเกาะสีชังที่ยังสร้างไม่เสร็จมาสร้างในพระราชวังดุสิต และพระราชทานนามว่า "พระที่นั่งวิมานเมฆ"

ช้างเผือกทรงเครื่องคชาภรณ์พิพิธภัณฑ์สถานช้างต้น
กระทั่งในพ.ศ.2525 ซึ่งเป็นปีฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงขอพระบรมราชานุญาตซ่อมพระที่นั่งวิมานเมฆ เพื่อจัดเป็นพิพิธภัณฑ์ส่วนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปัจจุบันพระที่นั่งวิมานเมฆเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ในความดูแลของสำนักพระราชวัง

ลักษณะพระที่นั่งเป็นป็นอาคารแบบวิตอเรียแบบตะวันตกผสมไทยประยุกต์ องค์พระที่นั่งเป็นรูปอักษรตัวแอลในภาษาอังกฤษ ยกเว้นตรงส่วนที่ประทับซึ่งมีรูปร่างเป็นแปดเหลี่ยม มี 4 ชั้น ชั้นล่างสุดก่ออิฐ ถือปูน ชั้นถัดขึ้นไปสร้างด้วยไม้สักทองทั้งหมดทาด้วยสีครีมอ่อนหลังคาสีแดง และหลังคาเป็นทรงไทยประยุกต์ มีลวดลายตามหน้าต่าง และช่องลมซึ่งฉลุเป็นลายที่เรียกว่าขนมปังขิงสวยงามมากทีเดียว
งาช้างสีขาวยางโง้งสวยงาม 3 คู่ภายในพิพิธภัณฑ์สถานช้างต้น
ภายในรั้วเดียวกันกับพระที่นั่งวิมานเมฆด้านที่ติดกับรัฐสภา เป็นที่ของมรดกของชาติอีกหนึ่งแห่งก็คือ “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติช้างต้น” ซึ่ง ช้างต้น คือช้างที่ได้รับการขึ้นระวางเป็นช้างหลวงส่วนพระองค์ของพระมหากษัตริย์ โดยช้างที่ได้รับการสมโภชขึ้นระวางแล้วจะมียศเทียบชั้นเจ้าฟ้าเลยทีเดียว

โดยในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อมีการสร้างพระราชวังดุสิตแล้ว ก็มีการสร้างโรงช้างต้นภายในพระราชวังเพื่อเป็นที่อยู่พระราชทานให้แก่พระเศวตอุดมวารณ์ ช้างต้นในรัชกาล ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 7 ก็ได้มีการก่อสร้างโรงช้างต้นเพิ่มอีกหนึ่งหลังเพื่อพระราชทานแก่พระเศวตคชเดชน์ดิลก ช้างต้นในรัชกาลที่ 7 จนปัจจุบันโรงช้างต้นทั้งสองจึงกลายมาเป็นพิพิธภัณฑ์ดังปัจจุบัน
เที่ยวชมสัตว์น้อยใหญ่ในสวนสัตว์ดุสิต
ภายในมีงาช้างสีขาวยาวโง้งสวยงาม 3 คู่ด้วยกัน ซึ่งเป็นงาของพระยาช้างเผือกในรัชกาลที่ 3 รัชกาลที่4 และรัชกาลที่ 5 นอกจากนี้ภายในพิพิธภัณฑ์ยังบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับกำเนิดช้างมงคล โบราณวัตุที่เกี่ยวข้องกับช้าง การคล้องช้าง รวมทั้งจัดแสดงเครื่องรางของขลังที่พ่อหมอเฒ่าและควาญช้างนำติดตัวไประหว่างคล้องช้างด้วย อีกทั้งยังมีการจัดแสดงเกี่ยวกับพระราชพิธีสมโภชขึ้นระวางช้างต้นทำให้เราได้ความรู้กันอีกด้วย

ใกล้กันนั้นเป็นที่ตั้งของ “เขาดินวนา” หรือที่เรียกกันอย่างคุ้นปากว่า “สวนสัตว์ดุสิต” อันเป็นสวนสัตว์และสวนสาธารณะแห่งแรกของประเทศไทย ในอดีตบริเวณแห่งนี้เคยเป็นพระราชอุทยานส่วนพระองค์ในรัชกาลที่ 5 มีการขุดสระน้ำขนาดใหญ่ ขุดคูคลอง ดินที่ขุดขึ้นมาได้นำมาใช้ในการถมเนินและปลูกต้นไม้ พระองค์จึงโปรดเรียกที่นี้ว่า "เขาดินวนา" แต่เมื่อพระองค์เสด็จสวรรคต พระราชอุทยานสวนดุสิตแห่งนี้ก็ได้ถูกปล่อยร้างเป็นเวลาหลายสิบปี
เด็กๆสามารถถ่ายรูปอย่างใกล้ชิดกับเหล่าช้าง(จำลอง)ภายในเขาดิน
กระทั่งในสมัยรัชกาลที่ 8 จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลขอพระราชทานสวนดุสิต มาจัดตั้งเป็นสวนสัตว์และเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชน อีกทั้งยังทรงพระราชทานกวางดาว ลูกหลานกวางดาวที่รัชกาลที่ 5ทรงนำมาจากอินโดนีเซีย เมื่อครั้งเสด็จประพาสหมู่เกาะชวา และสัตว์อื่นอีก 2-3 ชนิด จากสวนกวางบริเวณพระที่นั่งอัมพรสถาน มาเลี้ยงไว้ในเขาดินวนา และตั้งชื่อสวนสัตว์นี้ว่า "สวนสัตว์ดุสิต" นั้นเองปัจจุบันมีสัตว์ป่าทั้งในและต่างประเทศ รวมกว่า 1,600 ตัวเลยทีเดียว

ต่อจากเขาดิน เดินต่อไปไม่ไกลเราจะเจอกับ “วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม” มีฐานะเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร เดิมชื่อวัดแหลม หรือวัดไทรทอง ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงพระราชทานนามใหม่ว่า “วัดเบญจบพิตร” ซึ่งหมายถึง วัดของเจ้านาย 5 พระองค์ที่ทรงร่วมกันปฏิสังขรณ์วัดแห่งนี้ ต่อมาเมื่อรัชกาลที่ 5 ทรงสร้างสวนดุสิตขึ้น พระองค์ทรงทำผาติกรรมสถาปนาวัดขึ้นใหม่และพระราชทานามว่า วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม อันหมายถึง วัดของพระเจ้าแผ่นดินรัชกาลที่ 5
พระอุโบสถหินอ่อนในวัดเบญจมบพิตร
ภายในวัดเบญฯแห่งนี้โดดเด่นด้วยพระอุโบสถที่สร้างด้วยหินอ่อนขาวบริสุทธิ์สวยงามมากทีเดียว ด้านในประดิษฐานพระประธานคือพระพุทธชินราชจำลอง นอกจากนี้ยังมีสิ่งสำคัญๆอีกมากมายอาทิ ศาลาสี่สมเด็จ ซึ่งเป็นศาลาจตุรมุขพื้นศิลา หลังคาประดับด้วยช่อฟ้าใบระกา เพื่อไว้เป็นที่พักผ่อนสำหรับพระสงฆ์และสามเณร ปัจจุบันถูกใช้เป็นหอกลอง หอระฆังบวรวงศ์ เป็นหอระฆังทรงไทยประกอบหินอ่อน และศาลาบัณณรศภาค เป็นศาลาจตุรมุข เป็นต้น

จากวัดเบญ หากเดินตรงไปทางเทเวศน์ ข้ามหน้าลานพระบรมรูปฯไปจะเจอกับ “กองบัญชาการตำรวจนครบาล” หรือ บชน. ซึ่งภายในบชน.นี้เองเป็นที่ตั้งของ “วังปารุสกวัน” ซึ่งเป็นวังที่รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดให้สร้างขึ้นพระราชทานแก่ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจักรพงษภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ระราชโอรสในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ เนื่องในวโรกาสที่ทรงสำเร็จการศึกษาวิชาการทหาร จากประเทศรัสเซีย เมื่อ พ.ศ. 2449
พิพิธภํณฑ์พระพุทธรูปในพระระเบียง วัดเบญจมบพิตร
ลักษณะทางสถาปัตยกรรมเป็นแบบคลาสสิก ก่ออิฐถือปูน ตามแบบวิลลาของอิตาลี ก่ออิฐถือปูน ทาสีครีม เดิมตัวพระตำหนักมี 2 ชั้น โดยชั้นล่างเป็นท้องพระโรง และห้องรับแขก ห้องพักผ่อน ส่วนชั้นบนจัดเป็นบริเวณที่ประทับส่วนพระองค์ ห้องพระชายา ห้องพระบรรทม ห้องแต่งพระองค์ ห้องสรง และห้องทรงพระอักษร ต่อมามีการต่อเติมตัวพระตำหนักเพิ่มเป็น 3 ชั้น โดยชั้นบนจัดเป็นห้องพระบรรทม ปัจุบันวังปารุสถูกใช้เป็นที่ทำการของสำนักข่าวกรองแห่งชาติ พิพิธภัณฑ์กรมตำรวจ และกองบัญชาการตำรวจนครบาล

เอาล่ะเดินเที่ยวกันมาเหนื่อยทีเดียว ซึ่งหากใครที่มาในวันอังคาร หรือวันพฤหัส หากต้องการสักการะพระบรมรูปทรงม้าล่ะก็อยู่ต่ออีกสักหน่อยเพราะในช่วงเวลาค่ำๆจะมีประชาชนมาทำพิธีสักการะบูชากันมากมาย และฉันก็ขอเตือนสักหน่อยว่า หากต้องการมาสักการะควรซื้อดอกไม้ธูปเทียนสิ่งที่ใช้บูชามาเอง เพราะที่บริเวณนี้มีพ่อค้าแม่ค้ามากมายที่ขายเครื่องบูชาเกินราคาจริงหลายเท่าตัวเลยทีเดียว
กำลังโหลดความคิดเห็น