xs
xsm
sm
md
lg

กทม.ประกาศรื้อชุมชนป้อมมหากาฬ ชาวบ้านลั่นยอมตายไม่ยอมย้าย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บ้านไม้โบราณชุมชนป้อมมหากาฬ
กทม.ไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรหม ประกาศเดินหน้ารื้อย้ายชุมชนป้อมมหากาฬ ตามพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดิน เมินมติ “ยุคอภิรักษ์” พัฒนาพื้นที่เป็นแหล่งเรียนรู้เชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่มีชีวิต พร้อมลงพื้นที่คุยกับชาวบ้านวันนี้ “ประกอบ” แย้มเล็งใช้พื้นที่ย่านบางแวก รองรับ ด้าน “สุขุมพันธุ์” ยันทำตามคำสั่งศาลปกครอง รับปากดูแลชาวชุมชนให้ดีที่สุด ขณะที่ชาวป้อมฯ ยืนยันยอมตายไม่ยอมย้ายออกจากพื้นที่ เตรียมตบเท้าบุกพรรคประชาธิปัตย์

วันนี้ (1 มิ.ย.) ที่ห้องประชุมนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (กทม.) นายประกอบ จิรกิติ รองผู้ว่าฯ กทม.เป็นประธานการประชุมหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาการเวนคืนที่ดินของภาครัฐในกรณีชุมชนชุมชนป้อมมหากาฬ เขตพระนคร ซึ่งเป็นปัญหาที่เรื้อรังมานานกว่า 10 ปี ร่วมกับผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา และสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นต้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการประชุมได้มีกลุ่มชาวบ้านจากชุมชนป้อมมหากาฬจำนวนกว่า 30 คนเดินทางมารวมตัวกันที่บริเวณด้านหน้าศาลาว่าการ กทม.แต่ปฏิเสธที่จะเข้าร่วมประชุม โดยอ้างว่า กทม.ไม่ได้เชิญตัวแทนชุมชนเข้าประชุม และไม่แจ้งหัวข้อ หรือวาระการประชุมให้ทราบแต่อย่างใด และล่าสุด ได้มีประกาศจากกองจัดการกรรมสิทธิ์ สำนักการโยธา กทม.ลงวันที่ 20 เม.ย.2552 เรื่องการตั้งคณะกรรมการเจรจารื้อย้ายชุมชนป้อมมหากาฬมาติดที่หน้าชุมชนอีกด้วย

นายวิมล แดงสะอาด ผู้ประสานงานชุมชนป้อมมหากาฬ กล่าวว่า ตนต้องการยื่นหนังสือขอเข้าพบ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม.แต่เพียงผู้เดียว เพื่อทราบนโยบายการแก้ไขปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยของประชาชนจากปากของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ เองว่าจะเอาอย่างไร ภายหลังจากที่ในสมัยของนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน อดีตผู้ว่าฯ กทม.คนที่ผ่านมา ได้มีการลงนามข้อตกลงร่วม 3 ฝ่าย ระหว่าง กทม. ม.ศิลปากร และชาวชุมชนที่จะดำเนินการร่วมกันพัฒนาพื้นที่ชุมชนเป็นพื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์และเป็นแหล่งเรียนรู้เชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่มีชีวิต

นายวิมล กล่าวอีกว่า หากชาวชุมชนยังไม่ได้ความชัดเจนจากผู้ว่าฯ กทม.และหาก กทม.ยังยืนยันจะเวนคืนรื้อย้ายชุมชนเช่นเดิม ชาวบ้านจะรวมตัวกันไปยังที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อเรียกร้องขอความเป็นธรรมเนื่องจากพรรคประชาธิปัตย์มีนโยบายช่วยเหลือเรื่องที่อยู่อาศัยของประชาชนเป็นหนึ่งในนโยบายหลัก และยืนยันว่า จะสู้จนถึงที่สุดตามแนวทางต่อไป

“เราอยากเรียกร้องให้แก้กฎหมายกฤษฎีกาการเวนคืนที่ดินซึ่งไล่คนเมืองให้ออกไปอยู่นอกเมือง กรณีชุมชนป้อมมหากาฬจะเป็นกรณีศึกษาต่อไปเพื่อไม่ให้ชุมชนอีก 22 แห่งบนเกาะรัตนโกสินทร์ถูกกระทำเหมือนๆ กัน เราเป็นชุมชนบ้านไม้เก่าแก่อยู่มาเป็นร้อยปี ถามว่าภาครัฐอยากทำลายประวัติศาสตร์เพื่อการท่องเที่ยวอย่างเดียว โดยไม่สนใจชาวบ้านอย่างเราไม่ได้ เราไม่ยอมไป เราเกิดที่นี่เราก็ขอตายที่นี่”

อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มชาวบ้านได้รวมตัวกันอยู่นานกว่า 1 ชั่วโมง ตัวแทน กทม.ได้แก่ นายถนอม อ่อนเกตุพล ที่ปรึกษาผู้ว่าฯ จึงได้ออกมารับหนังสือ พร้อมชี้แจงกับชาวบ้านว่า กทม.ไม่มีธงว่าจะดำเนินการอย่างไรกับชุมชนป้อมมหากาฬ หากแต่อยู่ระหว่างการหารือกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ได้ข้อสรุปถึงกระบวนการและวิธีการปฎิบัติที่ดีที่สุด และจะปฏิบัติงานทุกขั้นตอนอย่างโปร่งใสและเปิดเผย ส่วนเรื่องการแก้ไขข้อกฎหมายนั้นก็เป็นอีกข้อเสนอหนึ่งในหลายๆ ข้อเสนอ ซึ่งจะต้องพิจารณาด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ ชุมชนป้อมมหากาฬ เขตพระนคร เป็นชุมชนเก่าแก่ที่อยู่ในเขตเกาะรัตนโกสินทร์มาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ปัจจุบันมีบ้านเรือน 53 หลังคาเรือน มีครอบครัวอาศัยอยู่ 92 ครอบครัว จำนวนประชากรประมาณ 269 คน

นายประกอบ เปิดเผยภายหลังการประชุม ว่า ที่ประชุมเห็นพ้องตรงกันถึงความจำเป็นที่จะต้องเดินหน้าโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์พื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ ที่ประกอบด้วย การปรับปรุงคูคลองเมือง ป้อมกำแพงเมือง และพื้นที่ระหว่างคูคลองเมืองกับป้อมกำแพงเมือง ซึ่งป้อมมหากาฬอยู่ในพื้นที่โครงการด้วย และที่สำคัญ ที่ประชุมจำเป็นตามข้อกฎหมายในเรื่องของ พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดินที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงเป็นอื่นไปได้ แต่อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมขอให้ กทม.เร่งเข้าทำความเข้าใจกับชาวชุมชนถึงความจำเป็น รวมถึงการหามาตรการรองรับปัญหาของชาวชุมชนที่จะมีขึ้นหลังการย้ายออกจากพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็น เรื่องของที่อยู่อาศัย อาชีพ หรือการศึกษาของบุตรหลานชาวชุมชน เป็นต้น โดยในวันพรุ่งนี้ (2 มิ.ย.) สำนักการโยธา กทม.จะลงพื้นที่พูดคุยกับประชาชนสำรวจความต้องการทั้งกรณีการจัดหาที่อยู่ใหม่ ซึ่งได้ประสานหน่วยราชการอื่น อาทิ การเคหะแห่งชาติ กรมธนารักษ์ เบื้องต้นเล็งจัดที่ดินย่านบางแวก ของกรมธนารักษ์จำนวน 14 แปลง และมีระบบสาธารณูปโภคพร้อมเป็นทางเลือก ด้านอาชีพหากต้องการเป็นลูกจ้างของกทม.ก็จะพิจารณาตามความสามารถ ส่วนลูกหลานของชาวบ้าน ก็สามารถที่จะได้รับการดูแลจากโรงเรียนในสังกัด กทม.ได้ เช่นกัน

“หลังชาวชุมชนย้ายออกไปหมดแล้วจะร่วมกับกรมศิลปากรเพื่อเข้าไปสำรวจพื้นที่อย่างจริงจัง โดยเฉพาะเรื่องอาคารสิ่งปลูกสร้างในชุมชนที่มีความเก่าแก่ว่าจะอนุรักษ์แล้วบูรณะหลังใดบ้าง แต่หากไม่ทรงคุณค่าลงก็คงต้องรื้อออกหมด ส่วนอาชีพทำประทัด ดอกไม้ไฟของชาวชุมชนที่ทำกันมานานแล้วนั้น ปัจจุบันวิถีชีวิตของบริเวณดังกล่าวไม่มีความจำเป็นแล้ว อย่างไรก็ตาม กทม.ยังไม่ได้ตั้งเป้าว่าจะทำการรื้อย้ายชุมชนป้อมมหากาฬเมื่อใด แต่คิดว่าชาวชุมชนคงจะเข้าใจ” นายประกอบ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า กทม.จะรับผิดชอบเรื่องการรื้อย้ายหรือค่าสินไหมทดแทนหรือไม่ รองผู้ว่าฯ กทม.กล่าวว่า ประชาชนในพื้นที่ป้อมฯ มีประมาณ 200 คน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ 1.ในส่วนของเป็นเจ้าของในพื้นที่ ซึ่งได้โอนกรรมสิทธิ์ให้ กทม.แล้วย้ายไปอยู่ที่อื่นแล้ว 36 หลังคาเรือน และบางส่วนยังเช่าพื้นที่เป็นที่อยู่อาศัยกว่า 20 หลังคาเรือน ทั้งนี้ ในส่วนเจ้าของดั้งเดิมได้รับค่าสินไหมทดแทนไปแล้ว ส่วนที่เหลือที่ยังเหลืออยู่ ซึ่ง กรมศิลป์ เข้าไปสำรวจแล้ว ก็ไม่ใช่ทุกหลังที่จะอ้างสิทธิ์เรื่องการบ้านพักชุมชนเก่าที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ เพราะบ้านพักอาศัยนั้นเพิ่งมามีภายหลัง ทั้งนี้ตนเห็นว่า ควรให้กรมศิลป์เข้ามาร่วมสำรวจอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งหากสำรวจซ้ำเห็นว่าควรอนุรักษ์ก็จะอนุรักษ์ไว้ ซึ่งน่าจะมีบางส่วนเท่านั้น

ขณะที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าวว่า กทม.ยืนยันที่จะเดินหน้าตามคำสั่งศาลปกครองที่วินิจฉัยให้เวนคืนที่ดินในชุมชนป้อมมหากาฬทั้งหมด เพื่อประโยชน์ในการจัดทำสวนสาธารณะและอนุรักษ์โบราณสถานของชาติ ส่วนการดูแลชาวชุมชนนั้นเป็นหน้าที่ของ กทม.ก็จะต้องดูแล และการที่ชาวชุมชน ระบุว่า จะขอยอมตายที่นี่ไม่ยอมย้ายไปไหนนั้นตนอยากให้เคารพสิทธิของส่วนรวมด้วย แต่ไม่ได้หมายความว่าตนจะไม่เคารพสิทธิส่วนบุคคล แต่เมื่อศาลติดสินมาเช่นนี้ กทม.จะดำเนินการต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น