รองเลขาธิการ กพฐ.ยืนยันโรงเรียนเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมได้แม้มีนโยบายเรียนฟรี เพราะเป็นค่าใช้จ่ายนอกเหนือจากที่รัฐหนุน เช่น ค่าจ้างครูต่างประเทศ ค่าเรียนปรับพื้นฐาน แต่ได้ปรับลดเพดานลงจากเดิมครึ่งหนึ่ง ขณะที่ค่าใช้จ่ายอื่นต้องเป็นตามสมัครใจ หากผู้ปกครองพบโรงเรียนเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่มนอกเหนือจากที่กำหนดให้แจ้งร้องเรียนได้ทันที เผยโรงเรียน กทม.เก็บเพิ่ม 138 แห่ง แต่ส่วนใหญ่เก็บลดลง
นายสมเกียรติ ชอบผล รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวชี้แจงกรณีผู้ปกครองร้องเรียนโรงเรียนเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่ม ทั้งที่รัฐบาลมีนโยบายเรียนฟรี 15 ปี อย่างมีคุณภาพว่า จากการสำรวจโรงเรียนในพื้นที่กรุงเทพฯ พบว่ามีโรงเรียนเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่ม 138 แห่ง แบ่งเป็น 8 แห่งที่เก็บค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมมากขึ้น เก็บค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมน้อยลง 121 แห่ง เก็บเพิ่มเท่าเดิม 7 แห่ง เพิ่งเปลี่ยนมาเก็บเพิ่มปีนี้ 2 แห่ง และเปลี่ยนเป็นไม่เก็บเพิ่ม 2 แห่ง ซึ่งค่าใช้จ่ายที่เก็บเพิ่มได้ จะมี 4 รายการเท่านั้น คือ ค่าใช้จ่ายโครงการพัฒนาทักษะตามความถนัดผู้เรียน ค่าจ้างครูต่างประเทศ ค่าวิทยากร ค่าเรียนปรับพื้นฐานความรู้
โดยระดับอนุบาลเก็บ 400-800 บาท ระดับประถม 300-1,000 บาท และมัธยม 500-1,000 บาท นอกจากนั้น ยังมีค่าจ้างครูเชี่ยวชาญเฉพาะ ค่าสาธารณูปโภคสำหรับห้องเรียนปรับอากาศ ค่าสอนคอมพิวเตอร์ และค่าทัศนศึกษาเพิ่มเติม ซึ่งให้เก็บเท่าที่จำเป็นและไม่เป็นการบังคับ พบมีการเก็บเฉลี่ยไม่เกิน 2,800 บาท อย่างไรก็ตาม โรงเรียนบางแห่งยังเก็บค่าสวัสดิการเพิ่มเติม เช่น ค่าประกันชีวิต ค่าประกันสุขภาพ ค่าอาหารกลางวัน ซึ่งให้เก็บเฉพาะคนสมัครใจเท่านั้น พบการเก็บเฉลี่ยไม่เกิน 2,600 บาท
นายสมเกียรติกล่าวว่า จากการดำเนินนโยบายเรียนฟรี ทำให้โรงเรียนได้รับเงินอุดหนุนรายหัวเพิ่มเติมในส่วนของเงินกิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ซึ่งเป็นเงินจำนวนไม่มาก แต่หลักเกณฑ์ในการเก็บเงินบำรุงการศึกษาเพิ่มเติมจากค่าเล่าเรียนนั้นได้ถูกปรับลดลง จาก 13 รายการ เหลือ 4 รายการ และเพดานเงินลดลงจากภาคเรียนละ 2,000 บาท เหลือ 1,000 บาท โรงเรียนจึงยังคงมีค่าใช้จ่ายบางส่วนที่ไม่ได้อยู่ในงบประมาณนโยบายเรียนฟรี แต่ก็ควรจะเก็บค่าใช้จ่ายลดลงกว่าปีก่อน
“เห็นใจโรงเรียนที่ต้องบริหารจัดการงบประมาณที่มีจำกัด แต่ก็ให้คำนึงถึงผู้เรียนเป็นสำคัญ ในการจัดเก็บค่าใช้จ่ายควรให้เป็นไปตามสมัครใจ คนที่เดือดร้อนไม่สามารถจ่ายได้ก็ไม่ควรบังคับ แต่สำหรับผู้ปกครองที่พอมีกำลังจ่ายได้ ก็ควรจะจ่ายในส่วนนี้ เพื่อคุณภาพการศึกษาที่เพิ่มขึ้น” นายสมเกียรติ กล่าว และว่า หากผู้ปกครองพบเห็นการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายนอกเหนือไปจากที่ประกาศไว้ ขอให้แจ้งมาได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 1579 หรือติดต่อมาที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
นายสมเกียรติยังกล่าวถึงความคืบหน้าการจัดซื้อหนังสือเรียนให้แก่โรงเรียนว่า ขณะนี้ดำเนินไปด้วยความเรียบร้อยดี โดยอยู่ระหว่างการจัดส่งไปที่โรงเรียน ทั้งนี้ จากการสำรวจข้อมูลยังพบว่า มีโรงเรียนขนาดเล็ก 3 แห่งที่ไม่ได้ดำเนินการจัดซื้อ เพราะได้รับการสนับสนุนจากแหล่งอื่นมาแล้ว ซึ่งจะให้นำงบประมาณซื้อหนังสือที่ไม่ได้ใช้นี้ไปเพิ่มให้กับงบประมาณพัฒนาคุณภาพผู้เรียน แต่หากเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่จะต้องส่งงบประมาณคืน
นายเฉลียว อยู่สีมารักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า สอศ. มีผู้ปกครองร้องเรียนเข้ามา 3 ราย เป็นวิทยาลัยภาคอีสาน 2 แห่ง ภาคกลาง 1 แห่ง เรียกเก็บเงิน จึงให้สำนักผู้ตรวจไปตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่ารายการที่วิทยาลัยเรียกเก็บนอกเหนือที่รัฐบาลจัดให้ และสามารถเรียกเก็บได้ไม่เกิน 1,500 บาท อย่างไรก็ตาม เพื่อความโปร่งใส จึงเชิญผู้ปกครองมาทำความเข้าใจ พอชี้แจงรายละเอียดเขาก็ยอมรับ
จากนโยบายเรียนฟรี 15 ปีอย่างมีคุณภาพ ของรัฐบาล ทำให้ผู้ปกครองเข้าใจว่า เรียนฟรี ผู้ปกครองจะไม่ต้องควักกระเป๋าเลย ซึ่งข้อเท็จจริงวิทยาลัยอาชีวะ เน้นสายอาชีพ ซึ่งนักศึกษา จะต้องซื้อเครื่องไม้เครื่องมือ หรืออุปกรณ์เป็นของตนเอง อย่างเช่น รองเท้าหัวเหล็ก อย่างไรก็ตาม หลังจากที่มีผู้ปกครองร้องเรียนเข้ามา จึงกำชับให้ผู้บริหารสถานศึกษา ไปชี้แจง ประชาสัมพันธ์ ได้เข้าใจถูกต้อง
“นโยบายเรียนฟรี ออกมาเป็นช่วงปิดเทอม จึงขาดการประชาสัมพันธ์ให้ผู้ปกครองเข้าใจ เมื่อเปิดเทอมให้ผู้บริหาร เชิญผู้ปกครอง มาฟังรายละเอียด ทั้งนี้ จะได้เข้าใจตรงกัน” นายเฉลียว กล่าวว่า สอศ.มีปัญหาตำรา เฉพาะสาขาที่มีเด็กเรียนน้อย เช่น การจัดการหญ้าสนามกอล์ฟ การเพาะเนื้อเยื่อกล้วยไม้ สำนักพิมพ์เขาไม่พิมพ์เพราะไม่คุ้มกับต้นทุน อาจารย์ผู้สอนต้องค้นข้อมูลจากหลายแหล่งแล้วมาทำเป็นตำราเรียน