xs
xsm
sm
md
lg

ประเดิม 7 วันอันตราย ตายแล้ว 36 ราย! อุบัติเหตุ 392 ครั้ง เชียงรายครองแชมป์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เผยวันแรกช่วง 7 วันอันตรายเทศกาลสงกรานต์ เกิดอุบัติเหตุทางถนน 392 ครั้ง เสียชีวิต 36 คน บาดเจ็บ 410 คน มี 7 จังหวัด เสียชีวิตสูงสุดจังหวัดละ 2 คน เชียงรายครองแชมป์อุบัติเหตุและบาดเจ็บสูงสุด สาเหตุเมาแล้วขับ กำชับทุกจังหวัดเข้มตั้งจุดตรวจถนนสายหลักเป็นพิเศษ ห้ามขายของมึนเมาในเขตเล่นน้ำสงกรานต์

นายอนุชา โมกขเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในฐานะกรรมการและเลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2552 แถลงสถิติอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ว่า จากการเฝ้าระวังช่วง 7 วันอันตราย (10-16 เม.ย.) พบว่า วันแรกมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นรวม 392 ครั้ง น้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา 85 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 36 คน น้อยกว่าปีที่ผ่านมา 9 คน มีผู้บาดเจ็บ 410 คน น้อยกว่าปีที่ผ่านมา 147 คน สาเหตุเกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือ เมาสุรา จักรยานยนต์ยังเป็นพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง บนถนนสายรอง

จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุดมี 7 จังหวัด ได้แก่ ระยอง บุรีรัมย์ เชียงใหม่ ตาก สุพรรณบุรี สมุทรสาคร และ กรุงเทพฯ จังหวัดละ 2 คน จังหวัดเชียงราย เกิดอุบัติเหตุและบาดเจ็บสูงสุดคือ 21 ครั้ง 22 คน ตามลำดับ จังหวัดที่ยังไม่เกิดอุบัติเหตุ 5 จังหวัด ได้แก่ นนทบุรี ยโสธร ยะลา สกลนคร และอำนาจเจริญ

นายอนุชา กล่าวว่า ในวันที่ 2 ของวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ (11 เม.ย.) พบว่ายังมีประชาชนจำนวนมากเดินทางกลับภูมิลำเนา จึงขอกำชับให้ทุกจังหวัดเข้มงวดจัดตั้งจุดตรวจในเส้นทางสายหลักเป็นพิเศษ ควบคุมรถกระบะที่บรรทุกคนจำนวนมากและใช้ความเร็วในการเดินทาง รวมถึงการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ และมาตรการ 3 ม. 2 ข. 1 ร อย่างจริงจัง พร้อมกำชับเจ้าหน้าที่ประจำด่านตรวจ ให้ตรวจสอบรถโดยสารสาธารณะเป็นพิเศษ โดยเรียกตรวจใบอนุญาตขับรถและสังเกตความพร้อมของผู้ขับขี่

นอกจากนี้ ให้กำหนดมาตรการเสริมความปลอดภัยและควบคุมการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่เขตเล่นน้ำสงกรานต์ เพื่อลดความเสี่ยงเกิดอันตรายกับผู้เล่นน้ำและผู้ใช้รถใช้ถนน ทั้งนี้ ประชาชนที่ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะให้สังเกตอาการผู้ขับขี่ หากพบว่าดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีลักษณะคล้ายคนเมา มีอาการง่วงนอน โทรศัพท์ขณะขับรถ หรือขับรถด้วยความคึกคะนอง ให้รีบแจ้งสายด่วนศูนย์ปลอดภัยคมนาคม 1356 สายด่วนกรมการขนส่งทางบก 1584 และสายด่วนนิรภัย ปภ.1784
กำลังโหลดความคิดเห็น