xs
xsm
sm
md
lg

โจ๋เมาขับ-เมินกันน็อกเพิ่ม สธ.ชี้เจ็บ-ตายมากขึ้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เนต
กระทรวงสาธารณสุขวิเคราะห์ข้อมูลอุบัติเหตุจราจรปีใหม่ 2552 ในภาพรวม พบการบาดเจ็บและเสียชีวิตลดลง แต่กลุ่มเยาวชนต่ำกว่า 18 ปีมีแนวโน้มบาดเจ็บ และเสียชีวิตมากขึ้น โดยรถจักรยานยนต์ยังเป็นพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด และมีพฤติกรรมเสี่ยงสำคัญได้แก่ ไม่สวมหมวกนิรภัย เมาแล้วขับ

นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ศูนย์ประสานข้อมูลการบาดเจ็บ กระทรวงสาธารณสุข ได้วิเคราะห์การบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรช่วงเทศกาลปีใหม่ ระหว่างวันที่ 30 ธันวาคม 2551-5 มกราคม 2552 พบว่า สถิติการบาดเจ็บ การเสียชีวิต รวมทั้งการดื่มแอลกอฮอล์ขณะขับขี่ ลดลงกว่าปีที่ผ่านมา โดยผู้ขับขี่ที่บาดเจ็บรุนแรงดื่มแอลกอฮอล์ ลดลงจากร้อยละ 57 ในปีใหม่ 2551 เหลือร้อยละ 44 ในปีใหม่ 2552 ส่วนการขายสุราในเวลาห้ามขาย พบร้อยละ 7 ซึ่งน้อยกว่าเทศกาลที่ผ่านมาเช่นกัน

ในส่วนของผู้ที่เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ พบว่า ร้อยละ 80 เกิดจากการขับขี่รถจักรยานยนต์ ซึ่งเป็นพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุด คือร้อยละ 84 โดยกว่าครึ่งของผู้บาดเจ็บกลุ่มนี้จะเกิดเหตุในช่วงวันที่ 31 ธันวาคม 2551 - 1 มกราคม 2552 และมีพฤติกรรมเสี่ยงที่สำคัญ ได้แก่ ไม่สวมหมวกนิรภัย ในคนขับขี่พบร้อยละ 81 คนซ้อนท้าย ร้อยละ 93 และผู้ขับขี่เมาแล้วขับ ร้อยละ 56 นอกจากนี้ยังพบว่า พาหนะที่มีแนวโน้มการเกิดอุบัติเหตุจราจรเพิ่มขึ้นและมีผู้บาดเจ็บมากขึ้น คือ รถกระบะ และรถโดยสารสาธารณะ โดยมีพฤติกรรมเสี่ยง ได้แก่ เมาสุรา ง่วงนอน อ่อนล้า ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย และขับรถเร็ว

“กลุ่มเด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี พบว่าเป็นกลุ่มที่น่าห่วงมาก เพราะมีการบาดเจ็บและเสียชีวิตในสัดส่วนที่สูงขึ้น โดยมีถึงร้อยละ 26 ของผู้บาดเจ็บทุกกลุ่มอายุ โดยร้อยละ 88 เป็นผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ ในจำนวนนี้มีพฤติกรรมเสี่ยงคือ ไม่สวมหมวกนิรภัย ถึงร้อยละ 88 ดื่มแอลกอฮอล์ก่อนขับขี่ ร้อยละ 27” นพ.ปราชญ์กล่าว

นพ.ปราชญ์ กล่าวต่อว่า ในการลดจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรให้ได้ผลยิ่งขึ้น ควรเพิ่มความเข้มข้นการดำเนินมาตรการต่างๆ เช่น 1.การควบคุมการดื่มแอลกอฮอล์ โดยกวดขันเรื่องเมาแล้วขับให้เข้มงวดขึ้น เพิ่มและกระจายจุดตรวจในลักษณะสุ่มในพื้นที่ที่เป็นจุดเสี่ยง ในช่วงเวลา 16.01-08.00 น. ซึ่งเกิดอุบัติเหตุสูงกว่าช่วงอื่น โดยเน้นตรวจรถจักรยานยนต์ให้มากขึ้นในช่วงดังกล่าว รวมทั้งเข้มงวดกฎหมายห้ามขายเหล้าและประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบอย่างทั่วถึง 2.การควบคุมป้องกันการบาดเจ็บ โดยกำหนดช่องทางเฉพาะสำหรับรถจักรยานยนต์ในบางพื้นที่ ตรวจสอบพนักงานขับรถและรถโดยสารสาธารณะเป็นประจำ และก่อนช่วงเทศกาล กวดขันไม่ให้บรรทุกผู้โดยสารหรือสิ่งของเกินขนาด โดยเฉพาะรถกระบะ ซึ่งเสียหลักและพลิกคว่ำได้ง่าย

3.สร้างความปลอดภัยในการขับขี่และโดยสารของเด็กและเยาวชน โดยทบทวนปรับปรุงกฎหมายเรื่องอายุผู้มีใบอนุญาตขับขี่ การดัดแปลงเครื่องยนต์ การควบคุมความแรงกระบอกสูบ เป็นต้น และ 4.ควบคุมพฤติกรรมเสี่ยงอื่นๆ เช่น จัดจุดพักรถในจังหวัดที่เป็นเส้นทางหลัก ควบคู่ไปกับการตรวจสภาพรถ คนขับ คนโดยสาร มีการวิเคราะห์วางแผนแก้ไขจุดเสี่ยงในแต่ละจังหวัด ทั้งเส้นทางหลักและเส้นทางรอง ทั้งนี้ จะเสนอมาตรการดังกล่าวให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันพิจารณา เพื่อกำหนดแนวทางมาตรการที่เหมาะสม ในการลดปัญหาการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรช่วงเทศกาลต่างๆ ต่อไป

กำลังโหลดความคิดเห็น