xs
xsm
sm
md
lg

ค้นหาจิตวิญญาณสงกรานต์ เช็กลมหายใจการ์ตูนไทยกับ “โอม รัชเวทย์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โอม รัชเวทย์ นักเขียนการ์ตูนไทย
เมื่อรู้ว่า “โอม รัชเวทย์” นักวาดการ์ตูนไทยชื่อดัง เป็นเจ้าของลายเส้นมีชีวิตใน ส.ค.ส.ที่สำนักงานวัฒนธรรมแห่งชาติ (สวช.) ร่อนแจกในวันสงกรานต์ปีนี้ ก็อดใจพูดคุยกับชายผู้จับดินสอสลับกับตวัดปลายพู่กันมานานกว่า 30 ปีคนนี้ไม่ได้ถึงความหมายของการ์ดวันสงกรานต์ทั้ง 4 แบบที่เขาถ่ายทอดออกมาเพื่อรณรงค์ให้คนไทย โดยเฉพาะเยาวชนไทยได้รับรู้ถึงความหมายที่แท้จริงของเทศกาลสงกรานต์

ขณะเดียวกัน ด้วยผลงานชั้นครูที่ โอม รัชเวทย์ ร่วมกับ “ชัย ราชวัตร” อย่างเรื่อง พระมหาชนก และทองแดง บทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฉบับการ์ตูนนั้น ยิ่งทำให้อยากรู้ว่าในสายตานักเขียนที่ผ่านหลายมาแล้ว ทั้งยุคที่การ์ตูนไทยรุ่งโรจน์และรุ่งริ่งนั้น วันนี้ลมหายใจการ์ตูนไทยยังเต้นอยู่ในจังหวะใด

**เล่าสงกรานต์ผ่านการ์ตูน

เริ่มจากภาพแรกและภาพที่สองกับคำถามแรกว่า ภาพเด็กก่อเจดีย์ทรายที่ครอบครัวพร้อมหน้ากำลังรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ และภาพการละเล่นสาดน้ำของเด็กๆ นั้นมีความหมายเช่นไร

นักเขียนการ์ตูนชื่อดังยิ้มน้อยๆ ก่อนจะบอกว่า เรื่องเล่าในภาพวาดอาจจะมีให้เห็นอยู่บ้างในต่างจังหวัด เช่น กิจกรรมวันครอบครัว การรดน้ำดำหัว ภาพที่ผู้คนอุ้มลูกจูงหลานเอามะลิลอยน้ำไปไหว้ขอพรผู้ใหญ่ เป็นภาพที่อยู่ในความทรงจำ แต่ก็หวังว่าการ์ดเหล่านี้จะส่งถึงเยาวชนเมือง ดึงให้เห็นแก่นของวันปีใหม่ไทย และให้ผู้ใหญ่ที่เคยเติบโตมาในบรรยากาศร่มรื่น ผู้คนอ่อนช้อยนั้นได้หวนคิดถึงและอมยิ้ม


“ความเปลี่ยนแปลงในวันนี้มีจุดต่างพอสมควรในเรื่องบุคลิกของวัยรุ่นซึ่งปราดเปรียวและมีความเป็นตัวของตัวเองสูง การสร้างสรรค์ผลงานจึงจำเป็นต้องดึงจุดร่วมของทั้งสองยุคออกมาโดยอาศัยความน่ารักของเด็กทำให้กระดาษที่จะถึงมือผู้รับมีชีวิตชีวา แต่เราก็ไม่รู้ว่าเขาจะซึมซับงานเราได้ดีแค่ไหน” โอมตอบอย่างตั้งคำถาม

ส่วนภาพกิจกรรมขนทรายเข้าวัดและก่อเจดีย์ทรายนั้น ต้องการบอกเล่าให้รู้ว่า วัดเป็นที่พึ่งพิงของชาวบ้าน คนเดินเข้าออกวัดทรายก็จะติดตัวออกมาด้วย ดังนั้นประเพณีการขนทรายเข้าวัดจึงเหมือนเอาของที่เราเอาออกมากลับไปคืน แต่บรรยากาศที่จะสร้างความประทับใจคือต้องใช้เด็กเป็นสื่อ และทำให้คนเข้าถึงได้ง่าย เช่นเดียวกับการสาดน้ำที่ใช้เด็กเป็นสื่อถึงความนุ่มนวลและน่ารักของประเพณี


“จริงๆ แล้วภาพทุกภาพมาจากข้อมูลเก่าจะไม่ได้มีมากไปกว่าเดิม เช่น รดน้ำดำหัว เล่นน้ำอย่างสุภาพ ถามว่าภาพลบมีไหม ก็มี แต่ในฐานะการ์ตูนเราไม่สามารถเสนอภาพลบของวันสงกรานต์ได้ ทั้งๆ ที่มันมีให้เราเห็นอยู่ อาจจะเป็นเรื่องสนุกสำหรับคนรุ่นใหม่ด้วยซ้ำ แต่ก็ต้องมีต้องมีลิมิต” นักเขียนการ์ตูนอธิบาย

สหรับภาพนางสงกรานต์ปีนี้ที่มีนามว่า “โคราคะเทวี” พระหัตถ์ขวาถือพระขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายถือไม้เท้า เสด็จไสยาสน์หลับเนตรมาเหนือหลังพยัคฆะหรือเสือเป็นพาหนะ คืออีกหนึ่งโจทย์ที่ทำให้นักเขียนการ์ตูนไทยอย่างโอมต้องตีความ

“รูปนางสงกรานต์จริงๆ แล้วตามข้อมูลก็คือต้องนอนหลับตาบนหลังเสือ ข้อมูลจะมีไม่มาก เราเขียนรูปนางสงกรานต์มาหลายรูปปีที่ผ่านมาค่อนข้างจะหวือหวา ถ้ามีครุฑเป็นพาหะก็ต้องบินโฉบ เขียนเสือต้องออกแอคชั่นหน้ากลัว ปีนี้เลยคิดใหม่ให้เสือยืนนิ่งๆ ให้จุดสนใจไปอยู่ที่นางสงกรานต์ สร้างจุดเด่นให้มีความเคลื่อนไหวแม้จะรู้ว่าหลับ” โอม รัชเวทย์ บอก

**การ์ตูนไทยในแบบเรียน

หากย้อนถึงหนังสือแบบเรียนในดวงใจของใครหลายคนอย่าง “มานี มานะ” ซึ่ง โอม รัชเวทย์ มีโอกาสได้เขียนภาพประกอบในนิตยสารอะเดย์ แม้ว่าในต้นฉบับที่ใช้ของกระทรวงศึกษาธิการใช้นั้นจะไม่ใช่ลายเส้นของเขา กระนั้นเขาก็ยอมรับว่า มานี มานะ และผองเพื่อนเป็นบรรยากาศของแบบเรียนที่น่าจดจำ แต่ในยุคสมัยที่เปลี่ยนไป เขามีหน้าที่สร้างแบบเรียนไทยด้วยการ์ตูนไทยยุคใหม่ผ่านวรรณคดีลำนำ ในวิชาภาษาไทยสำหรับนักเรียนชั้นประถมปีที่ 1-6 ที่จะใช้ในปีการศึกษา 2552 นี้ โดยหวังว่าจะช่วยกระตุ้นความคิดเชิงบวกให้เด็กยุคใหม่บ้าง

“กำลังเขียนแบบเรียนให้กระทรวงศึกษาธิการอยู่ ซึ่งยอมรับว่าเป็นงานที่นักเขียนการ์ตูนไม่ค่อยสนใจมากนัก แต่สำหรับเราให้ความสนใจอันดับหนึ่ง คิดว่าแบบเรียนที่มีภาพดีๆ จะเสริมจินตนาการให้เด็กได้ดีมาก ถ้ารูปนั้นดีรสนิยมทางศิลปะของเด็กไทยก็จะดี ขณะเดียวกัน ถ้ามันไม่ดี ศิลปะของเด็กบ้านเราก็จะด้อยลง”

โอม รัชเวทย์ บอกว่า เขาคล้ายจะผูกขาดการเขียนการ์ตูนอันเกี่ยวเนื่องกับเทศกาลหรือประเพณีไทยมาหลายปีแล้ว เหตุผลหนึ่งเพราะนักเขียนการ์ตูนไทยรุ่นใหม่ยังมีน้อยเพราะช่วงหนึ่งการ์ตูนไทยหายไปจากวงการการ์ตูนเกือบ 20 ปี แม้เขาเองจะเกิดในยุคที่การ์ตูนญี่ปุ่นเข้ามา แต่พื้นฐานการ์ตูนเลือดไทยในตัวยังข้นขลัก ญี่ปุ่นจึงเข้ามามีอิทธิพลได้เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่สำหรับนักเขียนการ์ตูนรุ่นใหม่จะมีส่วนผสมของญี่ปุ่นมากกว่าไทย ซึ่งเขาเองก็เข้าใจได้

“ที่เขาบอกว่าเด็กไทยเลิกเขียนและอ่านการ์ตูนไทยแล้วเราเข้าใจ หน้าที่ของเราก็คือจะทำอย่างไรให้การ์ตูนไทยมาผสมกับการ์ตูนสมัยใหม่ ให้เขารู้สึกว่ายังมีความเป็นไทยอยู่ ไม่ใช่ว่าเป็นญี่ปุ่นทั้งหมด ซึ่งหนังสือเรียนจะช่วยตรงนี้ เราไม่ปฎิเสธญี่ปุ่น แต่เราทิ้งไทยไม่ได้เพราะมันเป็นรากฐาน ถ้าเราเป็นคนต่างชาติอยากรู้จักประเทศไทยก็อยากให้เขารู้จัก ไทยคอมมิค เหมือนที่เรารู้จักมังงะของญี่ปุ่น ถ้าเปิดอินเทอร์เน็ตมาแล้วพบว่าการ์ตูนไทยเหมือนการ์ตูนญี่ปุ่นก็ไม่จำเป็นต้องรู้จักประเทศไทยผ่านการ์ตูนแล้ว” นักเขียนการ์ตูนไทยให้ทัศนะ

**อยากสร้างชาติด้วยการ์ตูน

มุมมองของคนวาดการ์ตูนมองญี่ปุ่นต้นแบบของเด็กไทยวันนี้ ให้แง่มุมที่ว่า ญี่ปุ่นสร้างชาติด้วยการ์ตูน สังเกตจากเขาจะสร้างการ์ตูนให้ยิ่งใหญ่ก่อน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือฟุตบอลญี่ปุ่นในสมัยหนึ่งไม่ได้เก่งกาจมากมาย แต่ก็สร้างการ์ตูนให้ยิ่งใหญ่เพื่อที่ผลักดันหรือเป็นแรงจูงใจให้คนในชาติอยากไปถึงจุดนั้น หากอยากจะทำหรืออยากเป็นอะไรตามฝัน เขาสร้างการ์ตูนให้สำเร็จก่อน ซึ่งหากไทยทำได้เช่นนั้น เราจะมีฐานรากที่แข็งแรง และเด็กจะมีความคิดสร้างสรรค์และมีทางของตัวเอง

“ญี่ปุ่นใช้การ์ตูนสื่อทุกอย่างแม้แต่สงคราม การตีความว่าการ์ตูนสำคัญกับสังคมไหม ถ้าให้ความสำคัญของการ์ตูนหรือเปล่า ถ้าเห็นการ์ตูนก็สร้างชาติได้ แต่ถ้าไม่เห็นก็ใช้สื่ออื่นสร้างไป วันนี้ก็มีทั้งทีวีที่ละครเต็มหน้าจอ” นักเขียนการ์ตูนไทย กล่าวสรุป

การเดินทางมาถึงยุคปลายของเส้นทางนักเขียนการ์ตูน กระตุ้นให้ โอม รัชเวทย์ ไม่อาจขีดเขียนอะไรโดยทิ้งขว้างได้ ยิ่งคิดว่าอาจจะมีเยาวชนคนหนึ่งที่อาจกลายเป็นนักเขียนการ์ตูนได้จากงานของเขายิ่งต้องแสดงความเป็นแม่แบบของการ์ตูนไทย ทำงานด้วยความรับผิดชอบ และสร้างสร้างความประทับใจให้คนรุ่นหลัง

แบบเรียนระดับประถม....ก็ทำแล้ว

หนังสือพุทธการ์ตูน....ก็ทำแล้ว

สิ่งที่คนทำน้อยคืองานการ์ตูนระดับนักศึกษาหรือช่วงวัยทำงาน ซึ่งเขาไม่แน่ใจว่าในวันที่โลกการ์ตูนก้าวเร็วแบบนี้ ลายเส้นของเขาจะยังสร้างความประทับใจให้คนเจเนอเรชั่นใหม่ได้หรือไม่ คงต้องจับตาคอยกันต่อไป


การ์ดวันสงกรานต์ 4 แบบที่จัดทำขึ้นเพื่อรณรงค์สงกรานต์โดยสวช.
การ์ดวันสงกรานต์ 4 แบบที่จัดทำขึ้นเพื่อรณรงค์สงกรานต์โดยสวช.
การ์ดวันสงกรานต์ 4 แบบที่จัดทำขึ้นเพื่อรณรงค์สงกรานต์โดยสวช.
ผลงานบางส่วนในลำนำวรรณคดีไทยระดับชั้นป.1-6
ผลงานบางส่วนในลำนำวรรณคดีไทยระดับชั้นป.1-6
ผลงานบางส่วนในลำนำวรรณคดีไทยระดับชั้นป.1-6
กำลังโหลดความคิดเห็น