นอกเหนือไปจากการเล่นสาดน้ำในเทศกาลสงกรานต์แล้ว “นางสงกรานต์” ก็เป็นอีกสัญลักษณ์หนึ่งที่คนส่วนใหญ่จะเห็นในช่วงเวลาดังกล่าว เพียงแต่ว่า “นางสงกรานต์” ที่คนทั้งหลายรู้จักมักจะเป็นสาวงามในชุดไทยที่อยู่กลางขบวนแห่ หรือบนเวทีประกวดตามสถานที่ต่างๆ ซึ่งก็มิใช่เรื่องแปลก เพราะ “นางสงกรานต์” นั้น มิได้มีตัวตนจริงๆ เป็นแต่เพียงคติความเชื่อที่ปรากฏอยู่ในตำนานสงกรานต์
คติความเชื่อในเรื่องดังกล่าวนี้ ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 3 โปรดให้จารึกลงในแผ่นศิลาติดไว้ที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) เป็นเรื่องเล่าถึงความเป็นมาของวันสงกรานต์ อันเป็นโบราณอุบายเพื่อให้คนสมัยก่อน ผู้ไม่รู้หนังสือได้รู้ว่า วันมหาสงกรานต์ คือ วันที่พระอาทิตย์เคลื่อนจากราศีมีนมาสู่ราศีเมษ ซึ่งสมัยนั้นถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ตามสุริยคติตรงกับวัน เวลาใด โดยสมมุติผ่านนางสงกรานต์ทั้งเจ็ดเทียบกับแต่ละวันในสัปดาห์
การที่ต้องดูจาก “นางสงกรานต์” นั้น ก็เนื่องจากคนสมัยก่อนไม่มีปฏิทินเช่นปัจจุบัน การจะรู้ว่าวันเปลี่ยนปีนักษัตร (นัก-สัด) ใหม่ตรงกับวันใดจะต้องรอให้โหรคำนวณเสียก่อน โดยแต่ละปีจะไม่ตรงกัน จากนั้นทางราชการก็จะออก “ประกาศสงกรานต์” ของปีนั้นๆ ไปป่าวประกาศแจ้งให้ราษฎรได้ทราบถึงวัน เวลาเปลี่ยนศักราชใหม่ ตลอดจนกำหนดการพระราชพิธี ศาสนพิธี วันมงคล วันอวมงคลที่ควร /ไม่ควรประกอบกิจการ เกณฑ์น้ำฝน และชื่อนางสงกรานต์ของปีนั้นๆ เป็นต้น ซึ่งประกาศสงกรานต์นี้นับว่ามีสาระประโยชน์ยิ่งต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนที่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพกสิกรรม เพราะสมัยโน้นยังไม่มีกรมอุตุนิยมวิทยาที่จะบอกถึงสภาพดินฟ้าอากาศที่จำเป็นต่อการเพาะปลูก หรือไม่มีสื่ออื่นใดที่แจ้งวันสำคัญต่างๆ ให้ทราบล่วงหน้า ประชาชนจะทราบเรื่องต่างๆข้างต้นก็จากประกาศสงกรานต์นี้เอง และคนโบราณมีความเชื่อว่า “นางสงกรานต์ทั้ง 7 นาง” จะเป็นเครื่องบอกเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในปีนั้นๆได้ด้วย ทั้งนี้ โดยดูวัน เวลา และอิริยาบถที่เสด็จมา
ในปัจจุบัน แม้เราจะไม่ต้องพึ่ง “ประกาศสงกรานต์” เช่นสมัยโน้น แต่เรื่องประกาศสงกรานต์และความเชื่อเกี่ยวกับนางสงกรานต์ ก็ยังมีผู้สนใจติดตามอ่านอยู่ ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม จึงขอนำตำนานนางสงกรานต์ พร้อมทั้งคำทำนายอันเป็นความเชื่อของโบราณมาเสนอให้ทราบเป็นความรู้ไว้
ตามตำนานกล่าวว่า นางสงกรานต์เป็นเทพธิดาลูกสาวท้าวกบิลพรหม มีด้วยกันเจ็ดนาง และเป็นบาทบริจาริกา(สนม)ของพระอินทร์ เมื่อท้าวกบิลพรหมผู้บิดาซึ่งเป็นผู้แสดงมงคลต่างๆแก่มนุษย์ เกิดไม่พอใจธรรมบาลกุมารที่มาแข่งทำหน้าที่เดียวกับตน จึงไปท้าพนันตอบปริศนากับธรรมบาลกุมาร แล้วแพ้ จึงต้องตัดเศียรออกบูชาธรรมบาลกุมารตามสัญญา แต่เนื่องจากพระเศียรของพระองค์ตกไปอยู่ที่ใด ก็จะเป็นอันตรายต่อที่นั้นไม่ว่าจะเป็นบนอากาศ บนดินหรือในน้ำ
ดังนั้น ธิดาทั้งเจ็ดจึงต้องนำพานมารองรับ และนำไปประดิษฐานไว้ในถ้ำคันธธุลี ณ เขาไกรลาส ครั้นถึงกำหนด 365 วัน ซึ่งโลกสมมุติว่าเป็นปีหนึ่งเวียนมาถึงวันมหาสงกรานต์ (ซึ่งสมัยก่อนถือเป็นวันปีใหม่) เทพธิดาทั้งเจ็ดก็จะทรงพาหนะของตน ผลัดเวรกันมาเชิญพระเศียรของบิดาออกแห่ โดยที่เทพธิดาทั้งเจ็ดนี้ปรากฏในวันมหาสงกรานต์เป็นประจำ จึงได้ชื่อว่า“นางสงกรานต์” ส่วนท้าวกบิลพรหม นั้น โดยนัยจะหมายถึง พระอาทิตย์ เพราะกบิล แปลว่า สีแดง และบางแห่งจะท้าวกบิลพรหมเรียกว่า“ท้าวมหาสงกรานต์”
นางสงกรานต์ทั้งเจ็ดนางที่ผลัดเวรกันมาแห่พระเศียรท้าวกบิลพรหมจะมีนาม อาหาร อาวุธ และสัตว์ที่เป็นพาหนะต่างกันตามแต่ละวันในสัปดาห์ ดังนี้
วันอาทิตย์ นาม ทุงสะ ทัดดอกทับทิม เครื่องประดับปัทมราค หรือปัทมราช(พลอยสีแดง)ภักษาหารมะเดื่อ หัตถ์ขวาถือจักร หัตถ์ซ้ายถือสังข์ มีครุฑเป็นพาหนะ
วันจันทร์ นาม นางโคราคะ ทัดดอกปีบ เครื่องประดับมุกดา ภักษาหารน้ำมัน หัตถ์ขวาถือพระขรรค์ หัตถ์ซ้ายถือไม้เท้า มีเสือเป็นพาหนะ
วันอังคาร นามนางรากษส (ราก-สด)ทัดดอกบัวหลวง เครื่องประดับโมรา ภักษาหารโลหิต หัตถ์ขวาถือตรีศูล หัตถ์ซ้ายถือธนู มีสุกร เป็นพาหนะ
วันพุธ นาม นางมณฑา ทัดดอกจำปา เครื่องประดับไพฑูรย์ ภักษาหารนมเนย หัตถ์ขวาถือเหล็กแหลม หัตถ์ซ้ายถือไม้เท้า มีคัสพะ(ลา)เป็นพาหนะ
วันพฤหัสบดี นาม นางกิริณี ทัดดอกมณฑา เครื่องประดับมรกต ภักษาหารถั่วงา หัตถ์ขวาถือขอช้าง หัตถ์ซ้ายถือปืน มีช้างเป็นพาหนะ
วันศุกร์ นามนางกิมิทา ทัดดอกจงกลนี เครื่องประดับบุษราคัม ภักษาหารกล้วยน้ำ หัตถ์ขวาถือพระขรรค์ หัตถ์ซ้ายถือพิณ มีมหิงสา (ควาย)เป็นพาหนะ
วันเสาร์ นาม นางมโหทร ทัดดอกสามหาว(ผักตบ) เครื่องประดับนิลรัตน์ ภักษาหารเนื้อทราย หัตถ์ขวาถือจักร หัตถ์ซ้ายถือตรีศูล มีนกยูงเป็นพาหนะ
ส่วนอิริยาบถที่นางสงกรานต์ขี่พาหนะมา อันเป็นการบอกช่วงเวลาว่า พระอาทิตย์เคลื่อนสู่ราศีเมษในช่วงเวลาใดของวันมหาสงกรานต์ จะมีด้วยกัน 4 ท่า โดยมีความหมาย ดังนี้ 1. ถ้ายืนมาบนพาหนะ หมายถึง พระอาทิตย์ยกสู่ราศีเมษ ในระหว่างเวลารุ่งเช้าจนถึงเที่ยง 2.ถ้านั่งมาบนพาหนะ หมายถึงช่วงเที่ยงจนถึงค่ำ 3.ถ้านอนลืมตามาบนพาหนะ หมายถึงช่วงค่ำไปจนถึงเที่ยงคืน 4.ถ้านอนหลับตามาบนพาหนะ หมายถึง เที่ยงคืนไปจนถึงรุ่งเช้า
จากหนังสือตรุษสงกรานต์ของ อาจารย์สมบัติ พลายน้อย ได้มีการกล่าวถึงความเชื่อที่เกี่ยวเนื่องนางสงกรานต์ วันมหาสงกรานต์ วันเนา และวันเถลิงศกไว้อย่างน่าสนใจหลายประการ ดังนี้
ความเชื่อเกี่ยวกับอิริยาบถของนางสงกรานต์ เชื่อว่า 1.ถ้านางสงกรานต์ "ยืนมา" จะเกิดความเดือดร้อนเจ็บไข้ 2.ถ้านางสงกรานต์ "นั่งมา" จะเกิดความเจ็บไข้ ผู้คนล้มตายและเกิดเหตุเภทภัยต่างๆ 3.ถ้านางสงกรานต์ "นอนลืมตา" ประชาชนจะอยู่เย็นเป็นสุข 4.ถ้านางสงกรานต์ "นอนหลับตา" พระมหากษัตริย์จะเจริญรุ่งเรืองดี
ส่วนคำทำนายเกี่ยวกับวันมหาสงกรานต์ วันเนา และวันเถลิงศก มีว่า
1.ถ้าวันอาทิตย์ เป็น วันมหาสงกรานต์ ปีนั้นพืชพันธุ์ธัญญาหารไม่สู้จะงอกงามนัก ถ้าวันอาทิตย์เป็นวันเนา ข้าวจะตายฝอย คนต่างด้าวจะเข้าเมืองมาก ท้าวพระยาจะร้อนใจ ถ้าวันอาทิตย์เป็นวันเถลิงศก พระมหากษัตริย์จะมีพระบรมเดชานุภาพ ปราบศัตรูได้ทั่วทุกทิศ
2.ถ้าวันจันทร์ เป็นวันมหาสงกรานต์ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ตลอดจนคุณหญิง คุณนายทั้งหลายจะเรืองอำนาจ ถ้าวันจันทร์เป็นวันเนา มักเกิดความไข้ต่างๆ และเกลือจะแพง นางพญาจะร้อนใจ ถ้าวันจันทร์เป็นวันเถลิงศก พระราชินีและท้าวนางฝ่ายในจะมีความสุขสำราญ
3.ถ้าวันอังคารเป็นวันมหาสงกรานต์ โจรผู้ร้ายจะชุกชุม จะเกิดการเจ็บไข้ร้ายแรง แต่ถ้าวันอังคารเป็นวันเนา ผลหมากรากไม้จะแพง ถ้าวันอังคารเป็นวันเถลิงศก ข้าราชการทุกหมู่เหล่าจะมีความสุข มีชัยชนะแก่ศัตรูหมู่พาล
4.ถ้าวันพุธเป็นวันมหาสงกรานต์ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่จะได้รับการยกย่องจากต่างประเทศ ถ้าวันพุธเป็นวันเนา ข้าวปลาอาหารจะแพง แม่หม้ายจะพลัดที่อยู่ ถ้าวันพุธเป็นวันเถลิงศก บรรดานักปราชญ์ราชบัณฑิตจะมีความสุขสำราญ
5.ถ้าวันพฤหัสบดี เป็นวันมหาสงกรานต์ ผู้น้อยจะแพ้ผู้เป็นใหญ่ และเจ้านาย ถ้าวันพฤหัสบดีเป็นวันเนา ผลไม้จะแพง ราชตระกูลจะมีความร้อนใจ ถ้าวันพฤหัสบดีเป็นวันเถลิงศก สมณชีพราหมณ์จะปฏิบัติกรณียกิจอันดีงาม
6.ถ้าวันศุกร์ เป็นวันมหาสงกรานต์ พืชพันธุ์ธัญญาหารจะอุดมสมบูรณ์ ฝนชุก พายุพัดแรง ผู้คนจะเป็นโรคตาและเจ็บไข้กันมาก ถ้าวันศุกร์เป็นวันเนา พริกจะแพง แร้งกาจะเป็นโรค สัตว์ป่าจะเป็นอันตราย แม่หม้ายจะมีลาภ ถ้าวันศุกร์เป็นวันเถลิงศก พ่อค้าคหบดีจะทำมาค้าขึ้น มีผลกำไรมาก
7.ถ้าวันเสาร์ เป็นวันมหาสงกรานต์ โจรผู้ร้ายจะชุกชุม จะเกิดการเจ็บไข้ร้ายแรง ถ้าวันเสาร์เป็นวันเนา ข้าวปลาจะแพง ข้าวจะได้น้อย ผลไม้จะแพง น้ำน้อย จะเกิดเพลิงกลางเมือง ขุนนางจะต้องโทษ ถ้าวันเสาร์เป็นวันเถลิงศก บรรดาทหารทั้งปวงจะมีชัยชนะแก่ข้าศึกศัตรู
นอกจากนี้ยังมีคำพยากรณ์อันเป็นความเชื่อทางล้านนาอีกตำราว่า ถ้าวันมหาสงกรานต์ (ซึ่งเรียกว่า วันสังกรานต์ล่อง)ตรงกับวันอาทิตย์ นางสงกรานต์ชื่อ นางแพงศรี ปีนั้นข้าวจักแพงมากนัก คนทั้งหลายจักเป็นพยาธิ(เป็นโรค) ข้าศึกจักเกิดมีกับบ้านเมือง หนอนแมลงจักลงกินพืชไร่ข้าวนา ฝนตกบ่ทั่วเมือง คนมั่งมีเศรษฐีจักฉิบหาย คนเกิดวันพุธมีเคราะห์ คนเกิดวันเสาร์มีโชคลาภ ถ้ามหาสงกรานต์ตรงกับวันจันทร์ นางสงกรานต์ชื่อมโนรา ปีนั้นงูจักเกิดมีมาก คนทั้งหลายจักเกิดเป็นพยาธิมากนัก ฝนหัวปีดี หางปีบ่พอดี ข้าวกล้าลางที่ดี ลางที่ก็บ่ดี คนเกิดวันอังคารมีเคราะห์ คนเกิดวันพุธมีโชค หากตรงกับวันอังคาร นางสงกรานต์ชื่อ รากษสเทวี ปีนั้นฝนหัวปีดี กลางปีไม่ดี ปลายปีดีมาก ข้าวไร่ข้าวนาจักเสีย ลูกไม้บ่มีหน่วยหลาย(ได้ผลน้อย) บ้านเมืองจักเกิดกลียุค แมลงมีปีกจักทำร้ายพืชผักข้าวกล้ามากนัก คนเกิดวันอาทิตย์มีเคราะห์ เกิดวันพฤหัสบดีมีโชค
หากตรงกับวันพุธ นางสงกรานต์ชื่อ มันทะหรือมณฑา ปีนั้นฝนตกบ่ทั่วเมือง หัวปีมีมาก กลางปีน้อย ข้าวในนาจะได้ครึ่งเสียครึ่ง ของบริโภคจะแพง ขุนนางขุนเมืองจะตกต่ำ คนเกิดวันศุกร์มีเคราะห์ คนเกิดจันทร์และวันเสาร์มีโชค ถ้าตรงกับวันพฤหัสบดี นางสงกรานต์ชื่อ นางกัญญาเทพ ปีนั้นฝนตกเสมอต้นเสมอปลายชอบตามฤดูกาล ผู้เป็นเจ้าเป็นใหญ่จักมีอันตราย ช้างม้าวัวควายจักตายมากนัก ไพร่ราษฎรจักอยู่ดีมีสุข ขุนใหญ่ ปุโรหิต พระสงฆ์จักเป็นทุกข์ คนเกิดวันศุกร์มีเคราะห์ คนเกิดวันอาทิตย์มีโชค ถ้าตรงกับวันศุกร์ นางสงกรานต์ชื่อ ริญโท ปีนั้น ฝนตกหัวปีดี กลางปีบ่มีหลาย เพลี้ย บุ้งจักกัดกินทำร้ายข้าวนาพืชไร่ อันตรายจักเกิดมีแก่สมณพราหมณ์ สัตว์น้ำจะแพง พืชผักจะถูก คนเกิดวันพุธจักมีเคราะห์ คนเกิดวันพฤหัสบดีมีโชค หากตรงกับวันเสาร์ นางสงกรานต์ชื่อสามาเทวี ปีนั้นฝนแล้ง แมลงต่างๆจักทำร้ายพืชไร่มากนัก ไฟจักไหม้บ้านไหม้เมือง เกิดอัคคีภัยใหญ่ ข้าวยากหมากแพง คนวันจันทร์มีเคราะห์ คนวันศุกร์มีโชค
คำว่า “สงกรานต์” มาจากภาษาสันสฤต แปลว่า “ก้าวขึ้นหรือเคลื่อนย้าย” อันหมายถึงการเคลื่อนย้ายของพระอาทิตย์จากราศีหนึ่งสู่อีกราศีหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นเป็นประจำทุกเดือน แต่เมื่อใดก็ตามที่พระอาทิตย์เคลื่อนจากราศีมีนสู่ราศีเมษ โบราณถือว่าเป็นการเคลื่อนย้ายครั้งสำคัญ เรียกว่า “มหาสงกรานต์” เพราะถือว่าเป็นการเคลื่อนเข้าสู่วันปีใหม่อันเป็นการนับตามคติเดิม ซึ่งมักจะตกอยู่ในราว 13 14 15 เมษายน ซึ่งแต่ละวันก็จะมีชื่อเรียกต่างกันคือ วันที่ 13 เมษายน จะเรียกว่า วันมหาสงกรานต์ คือวันที่พระอาทิตย์ย้ายเข้าสู่ราศีเมษอย่างที่กล่าวข้างต้น และวันนี้เป็นวันผู้สูงอายุแห่งชาติด้วย ส่วนวันที่ 14 เมษายน เรียกว่า วันเนา แปลว่า วันอยู่ คือ วันที่พระอาทิตย์เริ่มอยู่เข้าที่เข้าทางในราศีเมษแล้ว และรัฐบาลได้กำหนดให้วันนี้ เป็นวันครอบครัว ส่วนวันที่ 15 เมษายนเรียกว่า วันเถลิงศก คือวันเปลี่ยนจุลศักราช ใหม่ ทั้งสามวันนี้ กำหนดเรียกแบบตายตัวไว้ก็เพื่อให้ง่ายต่อการจดจำ แต่หากดูตามประกาศสงกรานต์ อันเป็นการคำนวณทางโหราศาสตร์ที่ละเอียดกว่าแล้ว ในบางปีอาจจะมีการคลาดเคลื่อนไม่ตรงกับที่กล่าวไว้บ้าง (สำหรับ “จุลศักราช” เริ่มหลังพุทธศักราช 1181 ปี เวลาจะหาจุลศักราช ก็เอาพุทธศักราชปีนั้นตั้ง ลบด้วย 1181 ก็จะได้จุลศักราชของปีที่ต้องการหา)
“ปีฉลู มนุษย์ผู้ชาย ธาตุดิน เอกศก จุลศักราช 1371 ทางจันทรคติ เป็นอธิกวาร ทางสุริยคติ เป็นปกติ (เอกศก คือ ปีที่จุลศักราชลงท้ายด้วย 1 และ ทางสุริยคติเป็นปกติ หมายถึง ปีนั้นๆกุมภาพันธ์มี 28 วันเป็นปกติ)
วันที่ 14 เมษายน เป็นวันมหาสงกรานต์ ตรงกับ ณ วันจันทร์ แรม 4 ค่ำ เดือน 5 เวลา 01 นาฬิกา 13 นาที 14 วินาที (ถ้าดูตามปฎิทินสากล วันที่ 14 เมษายน จะเป็นวันอังคาร แต่ ณ ที่นี้ ยังนับเป็นวันจันทร์เพราะยังอยู่ในช่วงตีหนึ่ง หากหลัง 6 โมงเช้าไปแล้ว ทางโหราศาสตร์จึงจะนับเป็นวันใหม่ คือ วันอังคาร)
นางสงกรานต์ ทรงนามว่า โคราคะเทวี ทรงพาหุรัด ทัดดอกปีบ อาภรณ์แก้วมุกดาหาร ภักษาหารน้ำมัน พระหัตถ์ขวาพระขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายทรงไม้เท้า เสด็จไสยาสน์หลับเนตรมาเหนือ หลังพยัคฆะ (เสือ)พาหนะ วันที่ 16 เมษายน เวลา 05 นาฬิกา 06 นาที เปลี่ยนจุลศักราชใหม่ เป็น 1371 ปีนี้ วันเสาร์เป็นธงชัย วันพุธเป็นอธิบดี วันศุกร์เป็นอุบาทว์ วันศุกร์เป็นโลกาวินาศ ปีนี้ วันจันทร์เป็นอธิบดีฝน บันดาลให้ฝนตก 500 ห่า ตกในโลกมนุษย์ 50 ห่า ตกในมหาสมุทร 100 ห่า ตกในป่าหินพานต์ 150 ห่า ตกในเขาจักรวาล 200 ห่า นาคให้น้ำ 2 ตัวเกณฑ์ธัญญาหาร ได้เศษ 6 ชื่อลาภะ ข้าวกล้าในภูมินา จะได้ผล 9 ส่วน เสีย 1 ส่วน ธัญญาหาร ผลาหาร จะอุดมสมบูรณ์ (ธัญญาหาร คือ ข้าวต่างๆ / ผลาหาร คือ ผลไม้ต่างๆ)เกณฑ์ธาราธิคุณ ตกราศีอาโป (น้ำ) น้ำมาก
จากประกาศสงกรานต์ข้างต้น เมื่อเทียบกับคำทำนายโบราณ จะเห็นว่า วันมหาสงกรานต์ตรงกับวันจันทร์ ท่านพยากรณ์ไว้ว่า ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ตลอดจนคุณหญิงคุณนายทั้งหลายจะเรืองอำนาจ วันอังคารเป็นวันเนา ผลหมากรากไม้จะแพง วันพุธเป็นวันเถลิงศก บรรดานักปราชญ์ราชบัณฑิตจะมีความสุขสำราญ และท่าที่นางสงกรานต์เสด็จมา คือ นอนหลับตามาบนหลังเสือ ท่านว่า พระมหากษัตริย์จะเจริญรุ่งเรืองดี
ส่วนคำทำนายทางล้านนา ถ้าวันสังกรานต์ล่องตรงกับวันจันทร์ นางสงกรานต์ชื่อมโนรา ปีนั้นงูจักเกิดมีมาก คนทั้งหลายจักเกิดเป็นพยาธิมากนัก ฝนหัวปีดี หางปีบ่พอดี ข้าวกล้าลางที่ดี ลางที่ก็บ่ดี คนเกิดวันอังคารมีเคราะห์ คนเกิดวันพุธมีโชค
ประมวลจากคำทำนายข้างต้น นอกจากผลหมากรากไม้จะแพง คนเจ็บป่วยและงูจะมีมากขึ้นแล้ว ดูเหมือนว่า หลังสงกรานต์สภาพการณ์ต่างๆน่าจะดีขึ้น และดูมีความหวังเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ถ้าจะสังเกตภาพโดยรวมของนางสงกรานต์ประกอบไปด้วย จะเห็นว่า นางสงกรานต์ปีนี้ มีนามว่า “โคราคะเทวี” อันตรงกับชื่อปีพอดี เพราะคำว่า “โค” ก็คือ “วัว” นั่นเอง อีกทั้งพระนางยังนอนหลับตามาบนหลังเสือ ซึ่งเสือนี้ แม้จะเป็นสัตว์ดุร้าย แต่ถือได้ว่าเป็นสัตว์มงคล ใช้ป้องกันภูตผีปีศาจได้ ทางจีนจึงมีรูปเสือคาบดาบไว้ที่ประตูบ้าน ดังนั้น แม้จะมีคำว่า “ราคะ” คือ ความกำหนัดยินดีในกามรมณ์ หรือการติดใจในรูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัสต่อท้ายนาม ซึ่งคล้ายจะเป็นชื่อที่ชวนหลงลุ่มหลงมัวเมาในกามคุณต่างๆ แต่เมื่อพระนางนอนหลับตามาบนหลังเสือ จึงมีนัยกลับกัน คือ กลายเป็นการเตือนให้ผู้คนอย่าหลงละเลิงไปกับสิ่งยั่วยุหรือความฟุ้งเฟ้อต่างๆ คือ ให้ “ราคะ”เหล่านี้ หลับหรือหยุดนิ่งไปเสีย โดยมี”เสือ”ซึ่งโดยปกติ “วัว” กลัวอยู่แล้วควบคุมอยู่ ซึ่งก็ตรงกับสภาพเศรษฐกิจในปีนี้พอดี ที่คนส่วนใหญ่คงต้องอยู่กันอย่างประหยัด ไม่สามารถใช้จ่ายฟุ่มเฟือยหรือมือเติบได้ และความเครียดในเรื่องเศรษฐกิจก็อาจนำมาซึ่งการเจ็บไข้ได้ป่วยที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าคำทำนายจะดีร้ายประการใด ก็เป็นเพียงการคาดการณ์ล่วงหน้า ซึ่งอาจจะเกิดหรือไม่ก็ได้ ดังนั้น หากทุกคนใช้ “สติ” ในการดำรงชีวิต และประพฤติปฎิบัติตนตามหลักศาสนาแล้ว เชื่อว่าเราก็คงเช่นเดียวกับนางสงกรานต์ปีนี้ที่มีพระขรรค์และไม้เท้าเป็นอาวุธ ที่จะช่วยป้องกันและพยุงตัวเราให้รอดพ้นจากวิกฤตต่างๆไปได้
ขอบคุณข้อมูลและภาพจากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒธรรม