จะมีสักกี่คนที่กล้าบอกว่าตัวเองคัดค้านการศึกษาในห้องเรียน และกล้าเดินหันหลังให้กับระบบโรงเรียนเพื่อแสวงหาความเป็นตัวเองกับโลกใบใหม่... “เอี้ยว ณ ปานนั้น” หรือ ชัยพร นำประทีป คือคนหนึ่งที่บอกอย่างเต็มภาคภูมิว่า เขาออกจากโรงเรียนเพราะมีทางของตัวเอง
สำหรับชื่อ “เอี้ยว ณ ปานนั้น” อาจจะยังแปลกปะแล่มสำหรับเด็กยุคเจเนอเรชัน Y แต่คนที่รักดนตรี และเด็กสยามเมื่อสิบกว่าปีก่อนจะต้องรู้จัก และเคยเจอกับเขาคนนี้มาบ้างแล้ว ด้วยเขาสร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้กับวงการดนตรีเปิดหมวกนั่นเอง
วันนี้พร้อมเปิดหมวกผู้ชายคนนี้หรือยัง?
++ออกจากโรงเรียน?
เล่าเรื่องเริ่มแรกก็คือ ผมโตมาจากครอบครัวชนชั้นกลางที่ไม่มีโลกทัศน์อะไรกับสังคมเท่าไหร่ มีพี่ชายหนึ่งคน พ่อแม่ก็เหมือนคนอื่นๆ คือ ถ้ามีเงินหน่อย และถ้าลูกมีสติปัญญาก็อยากให้เรียนสายวิทย์ฯ ผมจบมัธยมวัดสุทธิวราราม ต่อโรงเรียนช่างไทยเยอรมัน แผนกเครื่องจักรกลงานไม้ แต่ผมรู้สึกว่าบรรยากาศของโรงเรียนที่ผมเรียนมันแห้งแล้ง ไม่มีเรียนภาษาไทย ไม่มีเรียนศีลธรรม หน้าที่พลเมือง ผมต้องเข้าชอปอาทิตย์ละ 3 วัน แต่ไม่ได้รู้สึกสนุกกับวิชาที่เลือกไปเรียน
แล้วก็เหมือนมีอะไรมาดลใจ ช่วงนั้นผมเล่นดนตรีอยู่ด้วยก็มีพี่คนหนึ่งถามผมว่า “เอี้ยว อ่านหนังสือบ้างรึเปล่า?” เฮ้ย! ชีวิตผมอยู่กับหนังสือมาตลอด เขาบอกว่าที่ไม่ใช่หนังสือเรียนล่ะ เคยอ่านไหม? ผมว่างเพราะไม่เคยอ่านเลย จากนั้นผมก็ลองอ่านหนังสือที่ไม่ใช่หนังสือที่ไม่ได้คะแนน แต่อ่านแบบหว่านเลยนะ นิยาย วรรณกรรม เรื่องสั้นสารพัด แต่เล่มที่ผมรู้สึกสนิทใจที่สุดก็คือ “ปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ” จากนั้นผมก็อ่านแนวนี้เรื่อย ผมอ่าน มนุษย์ที่แท้ ปรัชญาแห่งเต๋า และหนังสือที่ไม่ได้คะแนนพวกนี้บังเอิญมันเป็นวิชาที่ไปกระตุ้นความคิดบางอย่างของผม เพราะมันให้ผมตั้งคำถามว่าความหมายของชีวิตคืออะไร
ในวัย 20 ปีผมว่าหนังสือพวกนี้ส่งผลให้เรากล้าเดินออกจากโรงเรียนโดยที่ไม่รู้สึกหวั่นไหวมากนัก ไม่เหมือนคนอื่นๆ ผมรู้สึกว่าผมกล้า ผมคิดว่าตัวเองเข้าใจชีวิต ณ วันนั้น อยากแสวงหา คิดว่ารั้วโรงเรียนกักขังคนอย่างเราไว้ไม่ได้ ก็เลยลาออก
++ชื่อ เอี้ยว ณ ปานนั้น
ผมชื่อ เอี้ยว แล้ว ณ ปานนั้น มันก็มาจากวงดนตรีชื่อ "ปานนั้น" ที่ตั้งขึ้นราวปี 2529 เราก็การรวมตัวกับเพื่อนๆ นักเรียน นักศึกษาโรงเรียนอื่นๆ ที่อยู่ในแวดวงคนทำกิจกรรม ก็รับเล่นดนตรีตามสถาบันการศึกษาและกิจกรรมงานค่ายต่างๆ มีอายุวงประมาณแค่ 2 ปีเศษ ปี 2531 เราพักงานยาว
++เส้นทางดนตรีเปิดหมวก
เส้นทางนี้มันเริ่มจากที่ผมหัดเล่นกีตาร์ตอนอายุ14 ปี เพราะพี่ชายเล่นกีตาร์ หัดแต่งเพลงตอนอายุ 16 ปี เพราะข้างบ้านแต่งเพลง ชีวิตมีแต่เรื่องบังเอิญ แต่ก็พบว่าเราชอบมันไปแล้ว หลังจากออกจากโรงเรียนเราก็คิดว่าจะเล่นดนตรีจริงจัง แต่ถามว่าเริ่มเปิดหมวกตอนไหน ก็คือช่วงที่ไปทำกิจกรรมที่ธรรมศาสตร์ มันเริ่มจากมีคนถามผมว่า “เฮ้ย! เอี้ยวไปเล่นเปิดหมวกสนามหลวงกันไหม” ผมบอกว่า ถ้าผมจะเล่นเปิดหมวกผมไม่เล่นที่สนามหลวง โน่นเลย ผมจะไปเล่นที่สยามสแควร์ อยากทดสอบปฏิกิริยาของคนว่า ถ้าผมไปเล่นแบบนั้นในอาการที่ครบ 32 จะออกมายังไง ผลออกมาก็สนุกล่ะครับ แปลกใหม่ (หัวเราะ)
ตอนที่เราลาออกรุ่นน้องก็อยากจะออกตามผม แต่พวกนั้นไม่รู้ว่าเขาออกมาจะทำอะไร แต่ผมรู้ว่าผมต้องการอะไร ก็เลยแนะนำให้มันกลับไปเรียน ผมออกมาเล่นดนตรีอย่างจริงจัง แต่ว่าก็กลัวว่าแม่จะผิดหวัง เพราะเขาคิดว่าถ้าไม่เรียนก็ต้องทำงาน แต่ตอนนั้นเราไม่อยากทำงานก็เลยไปลงเรียนรามคำแหง ระหว่างนั้นก็อ่านหนังสือที่มันไม่ได้คะแนนไปด้วย โอ้โห! ยิ่งแล้วใหญ่เลยทีนี้ ลงทะเบียนได้เทอมเดียว เลิกเรียนถาวร แล้วก็แอบฝากจดหมายน้อยกับพี่ชายไปว่า ไม่เรียนแล้ว แต่ตอนนั้นแม่ยังไม่รู้ ประมาณปี 2530 ผมก็เล่นดนตรีเปิดหมวกอย่างจริงจัง ใช้ชีวิตเปิดหมวกมาจนกระทั่งปี 2535 แม่ถึงรู้เรื่อง
++แล้ววิถีชีวิตที่เราเลือกแล้ว มีผลต่อการดำเนินชีวิตและการทำงานของเรา?
ผมเลี้ยงชีวิตด้วยงานอดิเรก วิถีชีวิตนี้คนสงสัยเยอะว่าผมใช้พอไหม จริงๆ มันก็พอนะ คือเราก็ไม่ต้องอยากมากกว่าที่เรามี ยังไงมันก็ต้องพอ สมมติว่าเปิดหมวกได้ 50 บาท ผมก็ต้องคิดจัดสรรว่าจะใช้เงินที่มีอยู่ให้ได้จนกว่าจะถึงเวลาเปิดหมวกครั้งต่อไปยังไง ก็ได้วิชาจากการเรียนหนังสือว่าทำอย่างไรถึงไม่ติดลบ บวกลบคูณหารนั่นแหละ (ยิ้ม)
สัมมาชีพที่เราเลือกแล้วเป็นหนทางหนึ่งที่เราได้เรียนรู้ว่า เออ! ยังมีคนอีกหลายคนนะที่อยากจะทำแบบเรา เพียงแต่เขามีความกลัวมากกว่าความกล้า ในขณะที่ผมมีความกล้ามากกว่าความกลัว และในขณะที่ผมเปิดหมวกก็ทำเพลงไปด้วย ตอนนั้นเริ่มมีเพลงใต้ดินออกมา โดยเฉพาะสายวรรณกรรม ผมก็ทำออกมาบ้าง เราก็เขียนเพลงตุนไว้เยอะ จากการเปิดหมวกธรรมดาก็มีผลิตภัณฑ์ออกมา เริ่มมีคนซื้อ เราก็อยู่สะดวกขึ้น
++แล้วออกเดินทางตอนไหน
ผมอยากจะบอกว่าสิ่งที่ทำให้ผมมั่นใจในการใช้ชีวิตก็คือวิชาที่อยู่นอกโรงเรียนทั้งหมด เอาที่เรามั่นคงในวันนี้ก็คือ การเดินทาง แต่สมัยนั้นที่เราเดินทางเพราะไม่มีอะไรทำ หนังสือก็ไม่ได้เรียน แต่ก็ไม่รู้สึกว่าชีวิตกลวงโบ๋ ชีวิตจะมีคุณค่าและมีประสบการณ์มากขึ้น ก็ต้องเดินทาง ขึ้นเขาลงห้วย ไกล-ใกล้ ไปมาหมด
++แต่มันก็ต้องมีช่วงหยุด
ใช่เลย! 3-4 ปีให้หลังจากแต่งงาน ทำให้เรารู้ว่าเราอยู่นิ่งๆ ภรรยาก็เป็นวิบากของผมอย่างหนึ่งที่ทำให้ผมห่างออกจากการเดินทาง (หัวเราะ) แต่ก็เป็นข้อดีที่ทำให้ผมอยู่นิ่งๆ บ้าง พอเราหยุดก็มีเวลาอ่านหนังสือมากขึ้น แรงผลักจากหนังสือที่เราเคยอ่านช่วงวัยรุ่นทำให้ผมหันมาอ่านหนังสือพระ และข้อดีก็คือ หนังสือพวกนี้พออ่านแล้วจะเตือนเราเสมอว่าต้องปฏิบัติ ผมก็เลยฝึกนั่งสมาธิ นั่งเรื่อยมา
3-4 ปีมานี้ทำให้ได้รู้ว่าการเดินทางใกล้ไกลตลอดชีวิตที่ผ่านมาจะไม่มีค่าอะไรเลย การเดินทางมากๆ อาจจะไม่เจออะไรเลยก็ได้ ทุกวันนี้ผมจึงเริ่มมีเงื่อนไขกับการเดินทางที่เกี่ยวข้องกับหลักไมล์กิโลมากขึ้น
++ชีวิตของเอี้ยว ณ ปานนั้น ณ ขณะนี้
ตอนนี้ผมอยู่บ้านผมก็มีความสุขดี ผมตื่นมาพระท่านว่าถ้าเจ๋งจริงก็ต้องจับสติให้ได้ ผมสนุกกับการวิ่งจับสติ เล่นทุกวันก็เลยไม่ได้สังสรรค์กับใครแล้ว วันๆ อ่านหนังสือ ทำงานบ้าน ซ้อมกีตาร์ รับแต่งเพลง ทำเพลง แสดงดนตรี เรื่อยๆ
ผมเชื่อว่าเราจะไม่มีตัวตนได้ เราต้องรู้จักตัวตนก่อน ถ้าเราจะรักอิสระ ปฏิเสธสังคม เราก็ต้องรู้จักสังคมก่อน ยิ่งถ้าเรารักอิสระมากเท่าไหร่ เราก็ต้องมีวินัยมากเท่านั้น อย่างเรื่องความคิด สมัยนี้เราต้องหยุดคิดบ้าง ขณะที่สมัยหนึ่งถูกสอนว่าเราต้องคิด จนมาวันหนึ่งมันก็สอนเราอีกว่า เราต้องหยุดคิดบ้าง วันหนึ่งที่เราต้องเดินทาง และเดินทางวันหนึ่ง เราก็ต้องหยุดเดินบ้าง
...เอี้ยว ณ ปานนั้น ในวัย 43 ปี บอกกับเราว่า เขาอยากกลับไปเรียนวิชาที่เขาหันหลังกลับมาอีกครั้ง ไม่ใช่เพราะรู้สึกว่าใช้ชีวิตผิดพลาดหรอก เพียงแต่ เขาอยากจะทำกีตาร์ไม้ด้วยมือของเขาเองมากกว่า...