xs
xsm
sm
md
lg

สามเหลี่ยมความรักแด่เจ้าสี่ขา อย่าทิ้งแมว-ทิ้งหมากันอีกเลย!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สัตวแพทย์เกรงว่ามันอาจจะอยู่ได้อีกไม่นาน

“ชีวิตของฉัน อย่างมากก็สิ้นสุดเพียงแค่ 10-15 ปีเท่านั้น โปรดคิดสักนิด ...ก่อนจะรับฉันเข้ามาในชีวิต อย่าโกรธฉันให้นานนัก และอย่าลงโทษฉันด้วยการกักขัง ...เธอมีทั้งหน้าที่การงาน ความบันเทิง และมิตรสหาย แต่ฉันนั้น...มีเพียงเธอ ก่อนจะดุด่าฉันสำหรับท่าทีที่คล้ายไม่เชื่อฟัง ดื้อดึง เกียจคร้าน ขอจงได้ถามตัวเองก่อนว่า เกิดสิ่งผิดปกติกับตัวฉันหรือไม่ บางทีการถูกทอดทิ้งไว้นานเกินไป หรือหัวใจฉันแก่ชราและอ่อนล้า โปรดดูแลฉันเมื่อยามแก่เฒ่าด้วย เพราะวันหนึ่งเธอต้องเป็นเช่นนั้น และอยู่กับฉันเมื่อช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิตมาถึง ขออย่าได้พูดเป็นอันขาดว่า ... ฉันทนดูไม่ได้ ขออย่าให้มันเกิดขึ้นต่อหน้าต่อตาเลย เพราะเรื่องราวทั้งหมดง่ายขึ้น...หากเธออยู่ด้วย สุดท้ายโปรดรำลึกเสมอว่า...ฉันรักเธอ”

ข้อความข้างต้นนี้ ถูกถ่ายเอกสารลงในกระดาษขนาด เอ4 และแปะอยู่ตามที่ต่างๆ ของโรงพยาบาลสัตว์ ม.เกษตรศาสตร์ บางเขน และสำหรับคนรักหมารักแมวแล้ว หลายคนอาจจะสะท้อนใจหรือซาบซึ้งใจกับข้อความที่ถูกแปลมาจากภาษาอังกฤษนี้ที่นัยว่า ผู้เขียนเขียนขึ้นแทนความรู้สึกของสัตว์เลี้ยงที่ไม่สามารถพูดออกมาเป็นภาษามนุษย์ให้เจ้าของฟังได้

ในขณะที่คนกลุ่มหนึ่งที่อ่านข้อความนี้จบ แล้วหันไปลูบหัวเจ้าสี่ขาของตัวเองที่หอบหิ้วมารักษาโรคภัยไข้เจ็บที่โรงพยาบาลด้วยความรักและเมตตา ก็ยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่หลังจากทราบว่าสัตว์เลี้ยงมีอาการป่วยเรื้อรัง บาดเจ็บจนรักษาไม่ได้ หรือเมื่อหายแล้วจะพิการไม่สวย หรือไม่อยากจ่ายค่ารักษา ก็ทิ้งเอาไว้เป็นภาระแก่โรงพยาบาลเสียอย่างนั้น!
ภายในห้องไอซียู โรงพยาบาลสัตว์ มก.
-1-

คิดหนักเหมือนกันตอนที่ติดต่อมาว่าอยากสัมภาษณ์พิเศษเรื่องนี้ เรากลัวว่ามันจะกลายเป็นว่า ยิ่งข่าวออกไป จะยิ่งมีคนเอาหมาเอาแมวมาทิ้งที่โรงพยาบาลมากขึ้น ซึ่งเราไม่ต้องการเช่นนั้นเลยนะคะ เพราะโรงพยาบาลคือสถานที่รักษา เราไม่มีกำลังพอที่จะดูแลหมาแมวที่ถูกเอามาทิ้งไว้ได้ เท่าที่มีอยู่ ทางโรงพยาบาลก็รับภาระมากอยู่แล้ว”

ผศ.สพ.ญ.ดร.มนชนก วิจารสรณ์ สัตวแพทย์ประจำโรงพยาบาลสัตว์ ม.เกษตร กล่าวเมื่อแรกพบกัน ก่อนจะอธิบายถึงหลักง่ายๆ ในการดูแลสัตว์เลี้ยงต่อไปว่า สามเหลี่ยมที่จำเป็นต่อการดูแลสัตว์เลี้ยงตามหลักสากลนั้น ส่วนปลายของแต่ละเหลี่ยม จะต้องประกอบด้วยส่วนสำคัญต่างๆ เริ่มตั้งแต่เหลี่ยมยอดคือ “สัตว์เลี้ยง” เหลี่ยมด้านซ้ายมือคือ “เจ้าของ” และสามเหลี่ยมด้านขวาคือ “สัตวแพทย์”

“งานดูแลสัตว์เลี้ยงจะสำเร็จได้ต้องมีสามเหลี่ยมที่สมบูรณ์ จะสามเหลี่ยมเล็กบ้างใหญ่บ้างก็ไม่เป็นไร ขอให้มีครบทั้งสามด้าน จริงๆ แล้วผู้ที่ตรวจวินิจฉัยว่าสัตว์เลี้ยงป่วยในเบื้องต้นไม่ใช่หมอ แต่เป็นเจ้าของนะคะ คือ เจ้าของจะต้องดูแล้วว่าสัตว์เลี้ยงผิดปกติแล้วถึงอุ้มมาหาหมอ เมื่อเอามาหาหมอแล้ว หมอรักษา หน้าที่การดูแล ป้อนน้ำ ป้อนข้าว ป้อนยา และห่มผ้าให้ เป็นของเจ้าของ จริงๆ การดูแลเอาใจใส่จากเจ้าของที่มีต่อสัตว์เลี้ยงนั้นสำคัญเทียบเท่า หรืออาจจะมากกว่าการรักษาของสัตวแพทย์ด้วยซ้ำไป”
ผศ.สพ.ญ.ดร.มนชนก วิจารสรณ์  (เสื้อเหลือง) ขณะรักษาสัตว์ป่วย
ผศ.สพ.ญ.ดร.มนชนก ให้ข้อมูลถึงปัญหาเรื้อรังที่โรงพยาบาลต้องประสบมานานและไม่มีทีท่าว่าจะลดลงเลยว่า เกิดจากทัศนคติผิดๆ ของผู้เลี้ยง ตลอดจนประชาชนทั่วไป เพราะมีเจ้าของสัตว์เลี้ยงไม่น้อย ที่นำสัตว์เลี้ยงมารักษาแล้วไม่มีเงินจ่าย ก็ทิ้งสัตว์เลี้ยงที่น่าสงสารเหล่านั้นไว้ที่โรงพยาบาล หรือสัตว์เลี้ยงไม่สวยเหมือนเดิม อาจจะพิการ ไม่น่ารักเหมือนอย่างเดิม เอากลับไปก็เป็นภาระ ก็ทิ้งไว้ในห้องไอซียูเสียอย่างนั้น และมีแทบทุกเดือนที่มีประชาชนผู้ที่คิดว่าตัวเองใจบุญ เก็บหมาเก็บแมวบาดเจ็บที่อยู่กลางถนนบ้าง ที่ผ่านไปพบเจอมาบ้าง แล้วมาส่งให้โรงพยาบาล และคิดว่าการกระทำดังกล่าวเป็นกิริยาบุญ

“มีทุกรูปแบบค่ะ ทั้งที่เอามารักษาไว้เป็นคนไข้ใน แล้วเจ้าของหายไปเลย ไม่มารับ อาจจะด้วยเพราะกลัวค่ารักษา หรือเอากลับไปดูแลหลังการรักษาไม่ไหว บางคนก็เอามาวางไว้ที่หน้าเคาท์เตอร์ แล้วก็เดินออกไปเฉยๆ ก็มี”
หมาไร้ชื่ออีกหนึ่งตัว ที่ถูกนำมาทิ้งไว้ที่ รพ.พร้อมจดหมายฝาก
-2-


ถึงตรงนี้ สพ.ญ.ธีรญา วิศวตันตไพบูลย์ สัตวแพทย์ประจำห้องฉุกเฉินให้ข้อมูลเสริมว่า บางกรณีเจ้าของหิ้วมาทิ้งไว้เฉยๆ กล้องวงจรปิดก็เก็บภาพได้ แต่ทำอะไรไม่ได้ ซึ่งกรณีนี้มีแทบทุกเดือนในห้องฉุกเฉิน เพราะเป็นด่านหน้า

“ที่อีอาร์จะเจอบ่อย ขนาดเราต้องทำประวัติที่อยู่และเบอร์โทรศัพท์ของเจ้าของสัตว์เลี้ยง พอเอาสัตว์มารักษากับเรา ก็มีที่ปลอมที่อยู่ ปลอมเบอร์โทรศัพท์ หรือหากไม่ปลอม โทรไปเขาก็จะปฏิเสธว่าไม่เคยเอาหมาไปรักษา อะไรแบบนี้ แถมด่าเราด้วย แล้วก็มีที่เดินอุ้มมาวางไว้หน้าเคาท์เตอร์ แล้วก็ทิ้งไปเลย เราจำหน้าได้ จำเสื้อผ้าได้ แต่ทำอะไรไม่ได้ กล้องวงจรปิดก็มีภาพนะ”

“อย่างมูลนิธิที่ทำงานด้านการช่วยเหลือบางหน่วยก็มักจะเอาหมาเอาแมวที่ป่วยหรือได้รับบาดเจ็บที่ไปเจอมาเอามาทิ้งให้เรา เราก็จะอธิบายว่าใครจะเป็นเจ้าของ ต้องมีคนรับผิดชอบนะ บางคนก็ดี ก็เข้าใจ รับเป็นเจ้าของเองบ้าง พอหายก็ไปหาคนเลี้ยง แต่บางคนเขาไม่เข้าใจ ก็พูดประมาณว่า ผมอุตส่าห์เก็บมันมาให้หมอนะ แล้วก็จะใช้มุข ผมมีงาน ไปก่อนนะ ก็เป็นภาระเราอีก หรือบางทีก็ไม่ป่วย แต่เอามาทิ้ง อันนี้ก็มีบ่อย บางครั้งมาเป็นครอก ใส่ตะกร้ามา เขียนจดหมายน้อยฝากไว้ด้วยว่าขอให้ดูแลด้วย อะไรแบบนี้”
 บางส่วนของแผลกดทับ
ผศ.สพ.ญ.ดร.มนชนก เล่าต่อว่า ที่สัตวแพทย์กล่าวว่าการนำสัตว์เลี้ยงมาทิ้งไว้ที่โรงพยาบาลแล้วเป็นภาระ ไม่ใช่ว่าหมอต้องการปัดความรับผิดชอบ แต่โรงพยาบาลคือสถานที่รักษา เราไม่ใช่สถานสงเคราะห์ แต่ถ้ามีข้อจำกัด ก็อยากให้เจ้าของสัตว์เลี้ยงบอกกับหมอ

“มีคุณยายคนหนึ่ง อุ้มแมวคู่ทุกข์คู่ยากมาหาหมอ แล้วบอกหมอว่า หมอ ยายมีแค่นี้แหละนะ ช่วยรักษามันที คือมันเป็นสามเหลี่ยมเล็กๆ ที่แม้ว่าจะมีกำลังน้อย แต่มันก็ครบ ซึ่งหมอจะพยายามจัดการรักษาให้เหมาะกับข้อจำกัด ยาบางอย่างที่แพง เราก็เลี่ยงให้ยาในประเทศซึ่งมีสรรพคุณใกล้เคียงกันแต่ราคาถูกกว่ามาก แม้อาจจะออกฤทธิ์ช้าสักหน่อย แต่ก็ใช้ได้เหมือนกัน คือในบทบาทของเรา เราช่วยเต็มที่เต็มกำลังเท่าที่เราจะทำได้ สัตว์ป่วย สัตว์เจ็บไม่ว่าจะเป็นอะไรมา เราต้องทำให้เต็มที่ แต่หลังจากนี้ การดูแลหลังการรักษา ต้องอาศัยหัวใจที่เอาใจใส่ของเจ้าของสัตว์เลี้ยง”
สัตวแพทย์เกรงว่ามันอาจจะอยู่ได้อีกไม่นาน
สัตวแพทย์ประจำโรงพยาบาลสัตว์รายนี้กล่าวต่อไปอีกว่า นอกจากกรณีเอามาทิ้งไว้หลังพามารักษา ก็มีกรณีที่ผ่านไปพบว่าป่วย ว่าเจ็บ แล้วเก็บมาส่งให้ดื้อๆ โดยคิดว่าตัวเองทำบุญ

“อยากขอร้องให้ปรับความเข้าใจใหม่ การที่คุณเอาหมาเอาแมวที่ถูกรถชนบ้าง ถูกทิ้งบ้าง หรือไปเจอว่าป่วยแล้วเจ้าของไม่ดูแลบ้าง เอามาให้เรารักษาแล้วโยนทิ้งไว้กับเราเลย ไม่ใช่คุณทำบุญนะ คือเรารักษาอยู่แล้ว แต่ชีวิตหลังจากการรักษาหายแล้ว เขาจะทำอย่างไรต่อไป คุณเอาเขามาโยนไว้ โดยไม่สนใจว่าหลังจากนี้เขาจะเป็นยังไง มันเหมือนเอาข้าวไปตั้งหน้าบ้านแล้วบอกให้พระตักใส่บาตรเอาเอง ยังไงก็ไม่ได้บุญ หากคุณคิดจะช่วย ก็ต้องช่วยให้จบ อย่างน้อยไม่เลี้ยงเอง หาบ้านให้เขา หาคนดูแลเขาหลังจากเรารักษาเขาหายก็ยังดี
 หลายคนที่คิดว่าตัวเองจะได้บุญจากการหาภาระมาให้โรงพยาบาล มักจะเอาหมาแมวมาทิ้งไว้พร้อมด้วยจดหมายประเภทนี้
“ก็มีที่ทั้งหมอ ทั้งเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล เอาไปเลี้ยงเองบ้าง เอาไปส่งต่อให้เพื่อนให้ญาติรับเลี้ยงบ้าง หรือเจ้าของสัตว์อื่นๆ สงสารก็เอาไปเลี้ยงให้บ้าง แต่แบบนี้ทำไปได้สักพักก็จะอิ่มตัว สัตว์ที่ถูกทิ้งเหล่านั้นจะทำอย่างไร ถ้าไม่มีใครรับ เขาก็ต้องมีชีวิตอยู่ในกรงผู้ป่วยใน ทีนี้ หากมีเคสป่วยและจำเป็นต้องแอดมิดเป็นผู้ป่วยใน ก็จะไม่มีกรงอยู่”

และเมื่อถามต่อว่า งบประมาณ ยา อาหาร ตลอดจนอุปกรณ์ที่ใช้ในการดูแลสัตว์ถูกทิ้งของโรงพยาบาลต้องเสียไปมากน้อยแค่ไหน ผศ.สพ.ญ.ดร.มนชนกบอกว่า ไม่เคยคิดและไม่เคยนับ

“ในทางจรรยาบรรณและมนุษยธรรมหากป่วยมา ต่อให้ไม่มีเจ้าของ หากเรามองแล้วว่ายังพอรักษาได้ เรารักษา เรื่องอาหารเรื่องยาและเรื่องคนดูแล บอกตรงๆ ก็ไม่เคยนับจริงๆ จังๆ ก็ถือเป็นภาระของโรงพยาบาลเรา”
ชิสุตัวนี้ก็ถูกทิ้ง
-3-


ระหว่างอธิบาย ส.พญ.สุนีย์ อยู่ทอง สัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านแมว ที่เดินมาร่วมวงสนทนา ก็อาสาพาเดินนำไปดูสุนัขและแมวที่ถูกนำมาปล่อยบ้าง ทิ้งบ้าง รักษาแล้วไม่มารับกลับบ้าง ที่มีทั้งสภาพที่ถูกรักษาแล้ว อย่าง “เจ้าขาว” ที่โดนรถชนจนต้องถูกตัดขา และอาศัยข้าว น้ำ และน้ำใจของคุณหมอตลอดจนเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลมาแล้วเกือบสิบปี และยังมีเจ้าแองจี้ แมวอัมพาตตัวอ้วนกลมที่โรงพยาบาลเลี้ยงเอาไว้จนสุขภาพแข็งแรงพอที่จะเป็นผู้บริจาคเลือดให้ลูกแมวเล็กๆ ที่ป่วยหรือได้รับบาดเจ็บมา
หมาที่ถูกนำมาทิ้งไว้ แล้วไม่มีใครรับไป โรงพยาบาลก็ต้องรับภาระเลี้ยงไว้
“บางตัวเขาแข็งแรงพอจะบริจาคได้ เราก็พยายามเปิดโอกาสให้เขาได้ทำบุญนะ ให้เลือดลูกแมวเล็กๆ บ้าง พวกนี้อยู่กับเรา บางตัวอยู่นานจนกลายเป็นครอบครัว ก็ดูแลเท่าที่จะทำได้ แต่ไม่ได้อยากได้เพิ่มนะคะ เราอยากให้สัตว์เหล่านี้มีเจ้าของ มีคนที่คอยดูแลเค้า คอยรักเค้า คอยหาข้าวให้กินเมื่อหิว หายาให้กินเมื่อป่วย อยากให้สัตว์ถูกทิ้งน้อยลงและหมดไป”

สำหรับหมานิรนามไร้เจ้าของรายล่าสุด ที่อาการเพียบหนักจนสัตวแพทย์หลายรายแทบไม่แน่ใจว่า มันจะมีชีวิตรอดไปได้นานสักแค่ไหนนั้น หมาเคราะห์ร้ายตัวนี้ เป็นหมาพันทางสภาพโทรมมาก มีคนนำมาทิ้งไว้ที่โรงพยาบาล เดินไม่ได้ มีแผลกดทับเหวอะหวะ ผอมบักโกรก กินข้าวกินน้ำแทบไม่ได้
เจ้าขาว หมาที่ถูกรถชนจนต้องตัดขา ก็อยู่ที่นี่มานานแล้ว
“กรณีนี้ถูกนำมาทิ้งไว้พร้อมจดหมาย บอกว่าผ่านไปเห็นมันป่วยมาก เจ้าของไม่สนใจ เลยเอามาฝากไว้กับโรงพยาบาล ให้โรงพยาบาลรักษาดูแลต่อไป เราก็พยายามรักษา แต่ดูท่าแล้วอาการค่อนข้างหนัก” ผศ.สพ.ญ.ดร.มนชนก กล่าวเศร้าๆ ก่อนจะฝากข้อคิดทิ้งท้ายเอาไว้ว่า
ส.พญ.สุนีย์กับเจ้าแองจี้ แมวอัมพาตถูกทิ้งที่ขณะนี้เป็นเป็นผู้บริจาคเลือดของโรงพยาบาล
 “อายุเฉลี่ยของหมาอยู่ที่ราวๆ 13 ปี ก่อนที่จะอุ้มเอามาเลี้ยงนั้นต้องคิดดีๆ ว่ารับภาระต่อเนื่องของชีวิต 1 ชีวิต ที่มีเกิด แก่ เจ็บ ตาย ได้ยาวนานถึง 13 ปีได้หรือไม่ สิ่งที่คุณจะต้องมีพร้อมๆ กับความคิดที่คิดอยากจะเลี้ยงสัตว์เลี้ยง คือคำว่ารับผิดชอบ คุณพร้อมจะหาอาหาร หายา พาไปทำหมัน ดูแลเมื่อเขาแก่ไหม...เมื่อคุณเลี้ยงเขา เขาผูกพันกับคุณ เขารักคุณ ได้โปรดอย่าทิ้งเขาเลยค่ะ”
กำลังโหลดความคิดเห็น