รมว.ศธ.ได้ลงนามในหนังสือถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี 25 มีนาคม เพื่อส่งร่าง พ.ร.บ.เทคโนโลยีเพื่อการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ลงนามในหนังสือถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2552 เพื่อส่งร่างพระราชบัญญัติเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี
ศธ.โดยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ได้ยืนยันเสนอร่างพระราชบัญญัติเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ..... ให้ ครม.พิจารณา ภายหลังจากการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตามประเด็นการอภิปรายของคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอ ครม.คณะที่ 6 เนื่องจากเห็นว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิรูปการศึกษารอบ 2 และตรงตามนโยบายการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของ ศธ.จึงเห็นควรให้มีการตรากฎหมายว่าด้วยเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาแห่งชาติใช้บังคับโดยเร็ว
โดยที่พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ได้บัญญัติให้รัฐทำหน้าที่ส่งเสริม สนับสนุน เสนอนโยบายและแผนในการวิจัยและการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา รวมทั้งให้มีการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินคุณภาพและประสิทธิภาพของการผลิต และการใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการพัฒนาในกระบวนการเรียนรู้โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเป็นสื่อ และเพื่อให้การผลิตและการใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษาเป็นไปอย่างคุ้มค่าและเหมาะสม จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
ร่างพระราชบัญญัติเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ..... มีสาระสำคัญในการกำหนดให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง เรียกว่า “คณะกรรมการเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาแห่งชาติ” ประกอบด้วย 1.ประธานกรรมการซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิ 1 คน
2.กรรมการโดยตำแหน่งจำนวน 8 คน ได้แก่ ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ และเลขาธิการสภาการศึกษา
3.กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 8 คน ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้ง ทั้งนี้ ต้องมีผู้ทรงคุณวุฒิ ที่มิใช่ข้าราชการหรือผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานของรัฐรวมอยู่ด้วยจำนวนไม่น้อยกว่า 4 คน
ประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ มีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละ 3 ปีนับแต่วันที่ได้รับการแต่งตั้ง และอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้แต่ต้องไม่เกิน 2 วาระติดต่อกัน
คณะกรรมการชุดนี้ มีอำนาจหน้าที่ในการเสนอนโยบายและแผนเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษาและกองทุนต่อคณะรัฐมนตรี รวมทั้งเสนอแผนเกี่ยวกับการจัดสรรคลื่นความถี่ สื่อตัวนำ และโครงสร้างพื้นฐานอื่นที่จำเป็นต่อการส่งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ วิทยุโทรคมนาคมและการสื่อสารในรูปอื่น เพื่อประโยชน์สำหรับการศึกษาต่อคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ หรือคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ฯลฯ โดยให้สถาบันเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการและปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่กฎหมายกำหนด โดยให้จัดตั้งกองทุนขึ้นกองทุนหนึ่งในสถาบันเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เรียกว่า “กองทุนพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา” มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแหล่งทรัพยากรกลางใช้ในการผลิต การวิจัย และการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ทั้งนี้ ในวาระเริ่มแรก ให้รัฐมนตรีแต่งตั้งรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการคนหนึ่งปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาแห่งชาติ เพื่อดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ไปพลางก่อน
นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า ภายหลังจากที่ ครม.เห็นชอบร่างกฎหมายฉบับนี้แล้ว ก็จะเสนอไปยังสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาตามขั้นตอนต่อไป