xs
xsm
sm
md
lg

จี้ใช้ "นครปฐมโมเดล" ยกเครื่องการศึกษา เตรียมเชิญสพฐ.-สตง.แจงตำราเรียน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กมธ.ศึกษาวุฒิสภา”ยื่นข้อเสนอรัฐบาลมุ่งเน้นคุณภาพและให้โอกาสนักเรียนดีแต่ยากจน-ผลิตครูให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี แนะใช้ "นครปฐมโมเดล" ยกเครื่องการศึกษาชาติ พร้อมเตรียมเชิญ เลขา สพฐ.-สตง.แจง กมธ.เรื่องการใช้ตำราเรียนเก่า-ใหม่

ที่รัฐสภา นาย สิริวัฒน์ ไกรสินธ์ ส.ว.นครศรีธรรมราช ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา และพล.ร.อ. สุรศักดิ์ ศรีอรุณ ร่วมกันแถลงข่าวถึงกรณีที่คณะกรรมาธิการศึกษาได้มีแนวทางการปฏิรูปการศึกษานานกว่า 11 เดือน เห็นว่าคุณภาพการศึกษาของประเทศไทย มีแนวโน้มลดต่ำลงกว่าร้อยละ 50 ดังนั้นแนวทางการปฏิรูปการศึกษาจึงมีความน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง หากทางรัฐบาลไม่ให้ความจริงจังในการสนับสนุนอาจทำให้การปฏิรูปการศึกษาเกิดความล้มเหลว

ทั้งนี้ทางคณะกรรมาธิการฯขอเสนอ 3 แนวทางในการปฏิรูปการศึกษาต่อรัฐบาลเพื่อให้มีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจน คือ 1.ควรมุ่งเน้นคุณภาพและคุณธรรมของผู้เรียน 2. รัฐบาลควรเน้นความสำคัญที่ครู โดยต้องผลิต และพัฒนาครูให้มีความเข้มแข็งทั้งทางด้านคุณภาพชีวิต จิตวิญญาณ และทักษะความสามารถในการจัดการเรียนการสอน และ3.ต้องให้ความสำคัญกับโอกาสทางการศึกษา โดยเฉพาะเด็กที่ประพฤติดีแต่มีฐานะยากจน ไม่ใช่มุ่งเน้นให้การสนับสนุนแต่เด็กที่มีการเรียนดีเท่านั้น

อย่างไรก็ตามรัฐบาลยังควรนำแนวทางการศึกษาของ “นครปฐมโมเดล” ที่เป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน และสำนักงานเขตพื่นที่การศึกษานครปฐมเขต 1 ที่มีการคัดเลือกนักเรียนให้เข้าเรียนจากพฤติกรรมคุณธรรม และทำกิจกรรมเพื่อสังคม เพื่อให้โอกาสในการเข้าเรียนระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งจากการทดลองแนวทางดังกล่าวปรากฎว่า ผลจากการเรียน 3-4 รุ่นที่ผ่านมาประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี

ส่วนกรณีปัญหานักศึกษาอาชีวะ ยกพวกตีกันและปัญหานักศึกษาขายตัวนั้น พล.ร.อ.สุรศักดิ์ หนึ่งในคณะกรรมาธิการกล่าวว่า เรื่องดังกล่าวเป็นประเด็นที่ต้องให้ความสนใจ โดยทางคณะกมธ.ได้ทำการศึกษาในเบื้องต้น ถึงสาเหตุดังกล่าวนั้นพบว่า สื่อก็ถือเป็นส่วนหนึ่งที่ตีแผ่ข่าวสารดังกล่าวออกมาในแง่ลบ อีกทั้งเด็กในวัยนี้มีสภาวะเก็บกดในการแสดงออกจากการเรียนการศึกษา ดังนั้นกระทรวงศึกษาธิการควรเร่งให้การปฏิรูปการศึกษาโดยจัดสรรงบประมาณ และร่างนโยบายในการสนับสนุนให้นักศึกษาอาชีวะได้มีส่วนสำคัญในการพัฒนาศัยกภาพในด้านต่างๆของประเทศอาทิ ด้านอุตสาหกรรม

ส่วนปัญหาเรื่องการใช้ตำราเรียนเก่า-ใหม่นั้น ทางคณะกรรมาธิการจะเชิญเลขาสพฐ. และปลัดกระทรวง และ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เข้ามาร่วมชี้แจงในคณะกรรมาธิการภายในสัปดาห์หน้า
กำลังโหลดความคิดเห็น