xs
xsm
sm
md
lg

“จุรินทร์” เตรียมยกระดับ ร.ร.เอกชนเทียบเท่ารัฐ เพิ่มเกณฑ์เงินกู้ หวังกระจาย นร.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“จุรินทร์” เผยรัฐบาลเตรียมแผนช่วยเหลือและพัฒนาโรงเรียนเอกชนเทียบเท่าโรงเรียนรัฐ เพิ่มสัดส่วนนักเรียนเอกชนกับรัฐจาก 20/80 เป็น 30/70 เพิ่มเกณฑ์กู้กองทุนหมุนเวียนฯ จากร้อยละ 60 เป็นร้อยละ 80 และเตรียมมอบเลขาธิการสภาการศึกษา ดูแลการศึกษาของนักเรียนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพิเศษ

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธานเปิดงาน “วันการศึกษาเอกชน พ.ศ.2552” ที่อาคารชาเลนเจอร์ 1 ศูนย์การประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี โดยกล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการ มีแผนการเตรียมช่วยเหลือและพัฒนาโรงเรียนเอกชนให้เทียบเท่ากับโรงเรียนรัฐบาลด้วยการปฏิรูปการศึกษารอบที่ 2 จะให้โรงเรียนเอกชนทั้งในและนอกระบบเข้ามามีบทบาทในการปฏิรูปมากขึ้น เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกับโรงเรียนของรัฐบาล และเตรียมรณรงค์ให้เด็กหันไปเรียนในโรงเรียนเอกชน จากเดิมสัดส่วน 20/80 เป็น 30/70

นายจุรินทร์ กล่าวว่า นโยบายเรียนฟรีทั้งในโรงเรียนของรัฐและเอกชน 15 ปี ตั้งแต่ชั้นอนุบาลไปจนถึงมัธยมปลาย โดยฟรีทั้งอุปกรณ์การเรียน ตำราเรียน ชุดนักเรียน ค่ากิจกรรมพิเศษ และค่าเทอม พร้อมกันนี้มีมติจากคณะรัฐมนตรีให้นักเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงชั้น ป.6 ในโรงเรียนรัฐบาลและเอกชนดื่มนมฟรี จะเริ่มได้ในภาคเรียนที่ 2 หรือเดือนตุลาคม 2552 และรัฐบาลจะเพิ่มกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เดิมจัดไว้ 20,000 ล้านบาท แต่ปีนี้จะเพิ่มเป็น 30,000 ล้านบาท และรัฐบาลจะส่งเสริมให้เด็กหันมาเรียนสายวิชาชีพเพิ่มมากขึ้น ซึ่งขณะนี้มีสาขาอาชีพที่เป็นที่ต้องการของตลาดกว่า 400 อาชีพ หากใครประสงค์ที่จะเรียนก็จะสามารถกู้ได้เป็นกรณีพิเศษ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวอีกว่า มีแผนเตรียมปรับเกณฑ์ให้โรงเรียนเอกชนกู้เงินจากกองทุนหมุนเวียนโรงเรียนในระบบ ที่มีงบประมาณอยู่ประมาณ 900 ล้านบาท จากเดิมให้กู้ร้อยละ 60 จากหลักทรัพย์ทั้งหมด เป็นร้อยละ 80 จากหลักทรัพย์ทั้งหมด พร้อมพัฒนาคุณภาพครูในโรงเรียนเอกชน ด้วยการให้สิทธิเข้าอมรมสัมมนาจาก สถาบันพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา (สคบศ.) และรับการนิเทศจากศึกษานิเทศก์ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อพัฒนาศักยภาพการเรียนการสอนให้กับครูในโรงเรียนเอกชน และสุดท้ายเรื่องการพัฒนาโรงเรียนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องเข้าไปดูแลเป็นพิเศษ เนื่องจากผลการเรียนของนักเรียนใน 3จังหวัดชายแดนภาคใต้ อยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของนักเรียนในภาคใต้ทั้งหมด และค่าคะแนนเอเน็ตก็อยู่ในอันดับ 74, 75 และ 76 ของประเทศ เรื่องนี้ได้มอบหมายให้เลขาธิการสภาการศึกษา เข้าไปดูแลและพัฒนาการเรียนการสอนเป็นกรณีพิเศษ




กำลังโหลดความคิดเห็น