xs
xsm
sm
md
lg

คะแนนโอเน็ต กศน.ต่ำ สมศ.แนะให้ สพฐ.จัดสอนร่วม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เผยคะแนนโอเน็ต กศน.ต่ำ ทั้งที่เป็นข้อสอบประยุกต์ใช้สอบเฉพาะ กศน.ด้าน สมศ.แนะควรจับมือ สพฐ.จัดการเรียนการสอนขั้นพื้นฐาน โดยให้โรงเรียนประจำจังหวัดของ สพฐ.จัดการเรียนการสอน ส่วน กศน.ทำหน้าที่ค้นหาเด็กตกหล่น เพื่อให้เด็กได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพมากขึ้น

นายสมหวัง พิธิยานุวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ได้มอบให้สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) จัดสอบแบบทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน หรือ โอเน็ต ให้กับนักเรียนสังกัดสำนักบริหารงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) จำนวน 17,818 คน จาก 500 ศูนย์อำเภอทั่วประเทศ ในวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษาอังกฤษ วิชาละ 100 คะแนน เพื่อพิจารณามาตรฐานในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานที่จัดโดย กศน.ซึ่งผลปรากฏว่าคะแนนเฉลี่ยรวมทั้ง 3 วิชาอยู่ที่ 30.27 คะแนน โดยวิชาคณิตศาสตร์คะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 31.63 วิทยาศาสตร์ 33.45 และภาษาอังกฤษ 26.95

“เดิม สมศ.จะพิจารณามาตรฐานการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานของ กศน. จากคะแนนโอเน็ต แต่ปรากฏว่า เด็กที่กำลังจะจบชั้น ม.6 ของ กศน.ทั่วประเทศไม่ค่อยสอบโอเน็ต จึงทำให้ไม่มีข้อมูล สมศ.จึงต้องทุ่มเงินหลายล้านบาท จัดสอบโอเน็ตฉบับประยุกต์ให้กับเด็กกลุ่มนี้ ซึ่งให้ สทศ.ออกข้อสอบโดยให้ปรับข้อสอบให้เหมาะกับเด็ก กศน.มากที่สุด แต่คะแนนภาพรวมที่ออกมาก็ยังต่ำอยู่ดี ส่วนที่มองว่าคะแนนโอเน็ตตครั้งนี้ไม่มีผลต่อเด็กทำให้เด็กไม่ตั้งใจสอบนั้น คงเป็นไปไม่ได้ เพราะได้แจ้งกับครูแล้วว่าการสอบครั้งนี้เป็นการประเมินศูนย์ ดังนั้น ครูคงต้องบอกให้เด็กทำให้เต็มที่ จะมาอ้างว่าเด็กไม่ตั้งใจสอบไม่ได้”

นายสมหวัง กล่าวว่า ในปีหน้า กศน.ควรส่งเด็กเข้าสอบทุกคน เพราะจะได้ทราบว่าคุณภาพการศึกษาเป็นอย่างไร ซึ่งหากจะรอผลการประเมินของ สมศ.อย่างเดียว คงจะแก้ปัญหาไม่ทัน เนื่องจาก สมศ.ประเมินทุก 5 ปี แต่การสอบโอเน็ตจัดขึ้นทุกปีจะทำให้ทราบการเปลี่ยนแปลงต่อเนื่อง หากพบว่าคุณภาพเด็กอยู่กับที่ก็จะได้ปรับเปลี่ยนวิธีแก้ปัญหาได้ทันท่วงที

ผอ.สมศ.กล่าวต่อไปว่า หากกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ยังคงจะให้ กศน.จัดการศึกษาขั้นพื้นฐานต่อไป ต้องมาพิจารณาร่วมกันว่าทำอย่างไรที่จะให้การเรียนการสอนมีมาตรฐานมากขึ้น ซึ่งส่วนตัวมองว่าควรให้มีการจัดร่วมกันระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และ กศน.โดยให้โรงเรียนประจำจังหวัดเป็นผู้ดำเนินการเรื่องการเรียนการสอน เพราะมีพร้อมทั้งสถานที่ และครูอาจารย์ ซึ่งอาจจะจ่ายเงินเบี้ยเลี้ยงเพิ่มเติมให้กับครู เหมือนทำงานพิเศษในวันเสาร์-อาทิตย์ ส่วน กศน.ทำหน้าที่หาเด็กที่ตกหล่นจากการศึกษาในระบบ ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้คุณภาพการศึกษาดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ในเร็วๆ นี้ สมศ.จะทำรายงานวิเคราะห์และเปรียบเทียบคะแนนโอเน็ตที่จัดสอบในครั้งนี้เสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ปัญหาต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น