xs
xsm
sm
md
lg

ต่อลมหายใจ “มรดกภาษา” ฟื้นชาติพันธุ์ “ชอง” ผ่านห้องเรียน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พจนานุกรมภาษาชอง

 

“หมู่แฮงก้อแป็นช่องแซ้มยังซาเหฺลาะ”

สำเนียงนี้อาจจะยังไม่คุ้นหูโดยกว้างขวางเหมือนกับภาษาถิ่นอีสาน ถิ่นเหนือ หรือถิ่นใต้ แต่หากถอดความจากประโยคข้างต้นก็จะมีความหมายว่า “พวกเราก็เป็นคนไทยเหมือนกันนะ” ซึ่งนั่นเป็น “ภาษาชอง” โดย “คนชอง” ซึ่งเป็นคนพื้นเมืองดั้งเดิมที่อาศัยในแถบจังหวัดภาคตะวันออก ตั้งแต่ระยอง จันทบุรีและตราด

ทว่า ปัจจุบันภาษาชองกำลังอยู่ในขั้นวิกฤตและสุ่มเสี่ยงต่อการสูญหายเป็นอย่างมาก โดยประจักษ์พยานที่สะท้อนวิกฤตดังกล่าวก็คือ ชาวชองที่มีบ้านเรือนใน ต.คลองพลู อ.เขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี ซึ่งถือว่ามีจำนวนมากที่สุดคือประมาณ 6,000 คน แต่มีคนที่พูดภาษาชองได้มีเพียงประมาณ 500 คนเท่านั้น
เด็กๆ ตั้งใจเรียนอย่างขะมักเขม้น
-1-


“รุ่งเพ็ชร ผันผาย” ครูภูมิปัญญาโรงเรียนวัดคลองพลู ต.คลองพลู อ.เขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี และในฐานะลูกหลานเชื้อสาย “ชอง” เท้าความถึงวิกฤตภาษาชองให้ฟังว่า เดิมทีนั้นชองเป็นภาษาที่พวกเขาใช้สื่อสารกันในสังคมเล็กๆ และเป็นภาษาพื้นเมืองของจันทบุรี แม้ว่าจะมีชาวบ้านเชื้อชาติชองจะใช้ภาษาดั้งเดิมกันเป็นการภายในอยู่บ้าง แต่เมื่อสมัยหนึ่งการเรียนภาษาถูกกำหนดว่าห้ามพูดภาษาถิ่นในชั้นเรียนเพราะเกรงว่าจะทำให้เด็กพูดภาษาไทยไม่ชัด คือเหตุผลหนึ่งที่ทำให้นักเรียนพูดภาษาชองน้อยลง จนทำให้ละเลยไม่สนใจภาษาถิ่นของตัวเอง ไม่เพียงเท่านี้วิถีชีวิตของชาวบ้านที่เปลี่ยนตามพ.ศ.ที่เวียนไปก็คือปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ภาษาชองหายไปจากชุมชนเร็วขึ้น

ด้วยเหตุนี้เองเมื่อประมาณ 4 ปีก่อน ในขณะที่ลมหายใจของภาษาชองกำลังรวยริน สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท ม.มหิดล ก็เข้ามาช่วยให้จังหวะของภาษาชองเข้าที่เข้าทางมากขึ้น โดยสร้างพจนานุกรมรวบรวมคำศัพท์ภาษาชอง จากแต่เดิมที่ชองมีแต่ภาษาพูดก็ช่วยให้มีภาษาเขียน ท้ายที่สุดก็หนุนให้ภาษาชองเข้าสู่ระบบการเรียนการสอนในโรงเรียน และจากหน้าที่นี้เองทำให้ รุ่งเพ็ชร กลายเป็นผู้มีส่วนช่วยให้เด็กเมืองจันทน์รุ่นใหม่ได้รู้ภาษาชองอันเป็นต้นกำเนิด
ครูรุ่งเพ็ชร ผันผาย ครูภูมิปัญญาโรงเรียนวัดคลองพลู
“ปัญหาที่เราพบก็คือ คนอายุน้อยกว่า 30 ปี ลงมาพูดภาษาชองน้อยลง เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีพูดชองไม่ได้ เพราะเขารู้สึกว่าไม่อยากให้ใครรู้ว่าตัวเองเป็นคนชอง และไม่เท่ห์ แต่การสร้างตำราภาษาชองเพื่อสอนเด็กในระดับ ป.4-6 ช่วยให้เด็กรู้ว่าที่มาของบรรพบุรุษคนชองนั้นเป็นมาอย่างไร และเราใช้ภาษาชองเป็นภาษาพูดมานานเท่าไหร่เมื่อรู้ความเป็นมา และรู้ว่าบรรพบุรุษของพวกเขาคือคนที่มีส่วนสร้างบ้านแปงเมืองจันทบุรี คุณค่าของชาวชองที่ปรากฏอยู่ในประวัติศาสตร์จะทำให้เด็กตื่นตัวเพื่อฟื้นภาษาท้องถิ่นมากขึ้น เรียกว่าใช้ประวัติศาสตร์จูงใจ” ครูรุ่งเพ็ชร แจกแจง
บรรยากาศในห้องเรียน
-2-


“พ่อกับแม่ไม่ได้พูดภาษาชองที่บ้าน จะพูดบ้างก็บางคำบางที”

“ตอนแรกเราไม่รู้ว่าทำไมต้องเรียน แต่ว่าเรียนแล้วก็สนุกดี ครูสอนสนุก”

“หนูไม่รู้หรอกว่าภาษาชอง เป็นของคนจันทบุรี”

เหล่านี้คือเสียงจาก ด.ญ สุชาดา คล้ายมะลิ (ปริม) ด.ญ.สุวิมล พัฒเสมา (เกต) และ ด.ญ.สุมาลี วรรณภักดี (ส้ม) นักเรียนชั้น ป.6 โรงเรียนวัดคลองพลู อ.เขาคิชฌกูฎ จันทบุรี กลุ่มเยาวชนที่เข้าเรียนกับครูรุ่งเพ็ชร

ตลอดเวลาชั่วโมงเรียนเด็กเหล่านี้มีท่าทางสนุกสนาน เพราะครูให้แสดงออกท่าทางได้อย่างอิสระ แม้ในชั่วโมงเรียนจะเข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง แต่อย่างน้อยการเรียนในรูปแบบนี้ก็เป็นแนวที่เด็กๆ ปรารถนา
ตำราเรียนภาษาชองระดับชั้น ป.4
“ครูให้เรียนภาษาชองอาทิตย์ละ 2 ครั้ง มีหนังสือให้อ่าน มีเกมให้เล่น แล้วก็ให้แสดงออก รู้สึกชอบ รู้สึกว่าไม่ยาก ครูบอกว่ากลับบ้านกลับบ้านก็ชวนพ่อกับแม่พูดด้วยจะได้ไม่ลืม เพราะเมื่อก่อนเขาไม่เคยสอนให้เราพูด” ด.ญ.สุชาดา บอกด้วยสำเนียงกลางชัดเจนแต่ท่าทางนั้นเหนียมอาย

เธอบอกว่า เพื่อในชั้นเรียนมีทั้งที่เป็นชอง และไม่ใช่คนชอง แต่ทุกคนพร้อมที่จะเรียนรู้ภาษาท้องถิ่นของจันทบุรี และเมื่อถามว่าถ้าต้องนำเสนอความเป็นชองกับเพื่อนชาติพันธุ์อื่นเธอพร้อมหรือไม่ เด็กสาวพยักหน้าน้อยๆ พร้อมรอยยิ้มใส และบอกว่า “พร้อมค่ะ” จากนั้นเสียงเด็กๆ ประสานเสียงสำเนียงชองก็เริ่มดังขึ้น สลับกับคำแปลภาษากลางที่พอจะฟังรู้เรื่อง

ครูรุ่งเพ็ชร บอกว่า ผลจากความตั้งใจตลอด 4 ปีที่ผ่านมา สะท้อนออกด้วยผลที่น่าพอใจ การมีตำราและสอนภาษาถิ่นในห้องเรียนแม้จะเป็นตัวสะท้อนอย่างหนึ่งว่า ภาษาถิ่นเราวิกฤตหนักจนต้องสอนกันใหม่ แต่ข้อดีของมันก็มีคือ ความหลากหลายของเด็กในห้องเรียนที่มีทั้งคนชอง ลูกคนอีสาน ลูกคนจีน หรือคนภาคตะวันออกที่ไม่ใช่คนชองพวกเขาได้เรียนรู้อีกหนึ่งภาษา อีกหนึ่งวัฒนธรรม และจะยังสร้างความเข้าใจในความงดงามของแต่ละถิ่นด้วย
บรรยากาศในห้องเรียน
“เราไม่ได้หยุดแค่นี้ เราหวังว่า ในอนาคตเด็กจะมีสำนึกในภาษาของตัวเองด้วย จึงช่วยสร้างกิจกรรมนอกห้องเรียนด้วยการเอาเด็กๆ มาร่วมเรียนรู้กับผู้สูงอายุ ก่อตั้งศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมท้องถิ่นของชาวชองขึ้นเพื่อให้เป็นแหล่งพบปะ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านภาษาและวัฒนธรรมของชาวชองโดยเฉพาะ เราทำไปเรื่อยๆ ก็หวังว่าวันหนึ่งสำนึกการเป็นคนชอง และสิ่งดีๆ ที่เกื้อกูลระหว่างกันจะกลับมาอีกครั้งหนึ่ง” ครูรุ่งเพ็ชร ตั้งความหวัง






หมายเหตุ-นักมานุษยวิทยาจัดชาวชองอยู่ในกลุ่มมอญ-เขมร ซึ่งเป็นสาขาย่อยของกลุ่มออสโตร-เอเชียติค ชาวชองมีภาษาพูดและวัฒนธรรมประเพณีของตนเอง แต่เดิมชาวชองอาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าเชิงเขา ปลูกบ้านเรือนอาศัยอยู่อย่างง่ายๆ และมักโยกย้ายเมื่อมีคนตายในบ้าน


 
 
รายงานพิเศษ โดย.....กองทรัพย์ ชาตินาเสียว
กำลังโหลดความคิดเห็น