xs
xsm
sm
md
lg

เด็กโรงเรียนชายแดนใช้ภาษาถิ่นเกินครึ่ง ทำผลประเมินต่ำ สพฐ.นำ"ทวิภาษา"แก้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สพฐ.พบโรงเรียนแนวชายแดน 880 แห่ง นักเรียนใช้ภาษาถิ่นเกินครึ่ง ทำผลสัมฤทธิ์ด้านภาษาตกต่ำ สพฐ.สั่ง สพท.นำโครงการ“ทวิภาษา”แก้ปัญหา

คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า จากการประชุมผู้บริหารระดับสูงของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เมื่อเร็วๆ นี้ที่ประชุมได้รายงานผลการดำเนินงานโครงการพัฒนาการเรียนการสอนภาษาไทยโรงเรียนแนวชายแดนและพื้นที่พิเศษ โดยนำภาษาท้องถิ่นร่วมจัดการเรียนรู้ หรือ “โครงการทวิภาษา” ในโรงเรียนตามแนวชายแดน 30 จังหวัดทั่วประเทศ และจากการสำรวจของ สพฐ.ในโรงเรียนตามแนวชายแดน อาทิ จ.เชียงราย กาญจนบุรี ศีรษะเกษ สุรินทร์ แม่ฮ่องสอน ตาก เชียงใหม่ และน่าน พบโรงเรียนที่นักเรียนใช้ภาษาถิ่นเกินกว่าร้อยละ 50 มีทั้งสิ้น 880 แห่ง โดยยังไม่นับรวมกับอีก 21 จังหวัด ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ห่างไกล

เรื่องนี้เป็นจุดอ่อนในระบบมานาน และจากการวิจัยของธนาคารโลกยังพบว่า ในช่วงเวลาที่ผ่านมากลุ่มเด็กที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนตกต่ำมากกว่ากลุ่มอื่นก็คือ เด็กที่อยู่ตามแนวชายแดนไม่ได้พูดภาษาไทยเป็นภาษาหลัก ครอบครัวมีการศึกษาไม่สูง และยังมาจากครอบครัวที่ยากจน ดังนั้นโครงการทวิภาษาจึงถือเป็นความพยายามของหลายหน่วยงานที่จะจัดทำงานวิจัยในเรื่องนี้ ซึ่งเด็กกลุ่มนี้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ตามแนวชายแดน แต่มีการย้ายถิ่นฐานกระจายอยู่ทุกพื้นที่ ดังนั้นจะต้องมีการขยายผลให้ครอบคลุมทุก สพท. พร้อมทั้งกระตุ้นให้ ผอ.สพท.เกิดความตระหนักในเรื่องดังกล่าวให้มากขึ้นด้วย

"ทางภาคตะวันออก ภาคตะวันตก และภาคเหนือ พบมีเด็กนักเรียนใช้ภาษาถิ่น เช่น ภาษากะเหรี่ยง มอญ อยู่มาก ซึ่งจากการประเมินคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อการประกันคุณภาพผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์ด้านภาษาต่ำ ซึ่งจากที่มีการนำร่องโครงการทวิภาษาไปแล้วในนักเรียนระดับอนุบาลถึงประถมศึกษา ใน จ.กาญจนบุรี เชียงราย ก็พบว่าเด็กมีความสุขกับการเรียนมากขึ้น เพราะสามารถสื่อสารทำความเข้าใจกับครูได้เป็นอย่างดี เพราะโครงการทวิภาษาจะมีการปรับกระบวนการเรียนการสอนใหม่ เช่น จัดทำสื่อการเรียนรู้พื้นฐานเชื่อมโยงภาษาถิ่นกับภาษาไทย หรือให้คณะกรรมการสถานศึกษา ผู้นำชุมชน ร่วมกันออกแบบสื่อการเรียนรู้ต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับเด็กตามสภาพพื้นที่ ขณะเดียวกันก็จะมีการ อบรมครูให้เข้าภาษาถิ่นนั้นๆ ควบคู่ไปด้วย" เลขาธิการ กพฐ.กล่าว

ทั้งนี้โครงการทวิภาษาได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2550 โดยจัดทำโครงการนำร่องเต็มรูปแบบที่ร.ร.วัดวังวิเวการาม อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี พร้อมทั้งขณะนี้ได้ทำการทดลองกระบวนการในโรงเรียนอีก 11 แห่ง ในพื้นที่ สพท. เชียงราย เขต 4 อีกทั้ง สพท.ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล ทดลองโครงการในพื้นที่เสี่ยงภัย เพื่อใช้เป็นกระบวนการที่เต็มรูปแบบต่อไป

กำลังโหลดความคิดเห็น