xs
xsm
sm
md
lg

“ชาวหลีเป๊ะ” ปรับคุณภาพชีวิตรับนักท่องเที่ยว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สตูล - ผอ.โรงเรียนบ้านเกาะอาดัง ส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับนักเรียนบนเกาะหลีเป๊ะ รับการเติบโตการท่องเที่ยว เน้นการพัฒนาอาชีพ ส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ ปรับพื้นฐานการดำเนินชีวิต สร้างความภูมิใจในบ้านเกิดที่มีภาษาเป็นเอกลักษณ์ คือ ภาษาอุรักลาโว้ย

วันนี้ (3 ธ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายณัฎฐาวุฒิ คำแก้ว ผอ.โรงเรียนบ้านเกาะอาดัง ต.เกาะสาหร่าย อ.เมือง จ.สตูล (ตั้งอยู่บนเกาะหลีเป๊ะ) กล่าวว่า การศึกษาของโรงเรียนบ้านเกาะอาดังมุ่งเน้นด้านการพัฒนาชีวิตซึ่งเป็นพื้นฐานและอีกประเด็นที่สำคัญก็คือ ส่งเสริมให้มีจิตบริการเพื่อเน้นการท่องเที่ยวในหมู่เกาะอาดัง เพราะเด็กที่จบจากโรงเรียนบ้านเกาะอาดังต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีจิตในการบริการได้แก่นักท่องเที่ยวซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญของจังหวัด

กลุ่มคนบนพื้นที่เกาะนี้ยังคงใช้ภาษาดั้งเดิม คือ ภาษาอุรักลาโว้ย เป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิตอยู่ กลุ่มคนเหล่านี้ไม่นิยมใช้ภาษาไทย สิ่งหนึ่งที่เป็นภาระหลักของโรงเรียนคือต้องทำให้เด็กอ่านหนังสือให้ออก เขียนหนังสือภาษาไทยให้ได้ นอกจากนั้นต้องเน้นการใช้ภาษาอังกฤษ เพราะเมื่อโตขึ้นต้องสื่อสารกับนักท่องเที่ยวซึ่งเดินทางมาเที่ยวเกาะหลีเป๊ะในแต่ละปีมีจำนวนมาก เพราฉะนั้นเด็กต้องมีความรู้พื้นฐานด้านภาษาอังกฤษพอสมควร และอีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญคือการสร้างอาชีพให้นักเรียนซึ่งอยู่ในวัยที่ก้าวไปสู่วัยผู้ใหญ่

อาชีพดั้งเดิมของชาวเกาะหลีเป๊ะนี้ก็คือ การทำประมง และเมื่อการเปลี่ยนแปลงเข้ามาถึง การท่องเที่ยวเข้ามาสู่วิถีชีวิตผู้คน ถ้าไม่เตรียมคนไว้สำหรับอาชีพรับนักท่องเที่ยวคนเหล่านี้ก็จะกลายเป็นคนที่ไร้อาชีพไป และจะทำได้เพียงรับจ้างเท่านั้นแต่โรงเรียนจะพยายามทำให้เขาเป็นผู้ประกอบการหรือเป็นผู้นำด้านการท่องเที่ยว เช่น การเป็นมัคคุเทศก์ การทำขนมเบเกอรี่ที่จะส่งไปยังนักท่องเที่ยว ก็ยังเป็นอาชีพที่เหมาะกับคนที่นี่นอกจากการทำประมง

สำหรับเรื่องของวัฒนธรรมประเพณีที่หลายฝ่ายกำลังเป็นห่วง บวกกับความเติบโตที่กำลังก้าวเข้ามานั้น ผอ.โรงเรียนบ้านเกาะอาดัง กล่าวอีกว่า เท่าที่สำผัสกับวิถีชีวิตเขายังให้ความสำคัญกับประเพณีอยู่บ้างแต่เมื่อถามว่ามันปนเปื้อนกับอย่างอื่นมั้ยก็หลีกไม่พ้น เพราะว่าอารยธรรมที่เข้ามาสู่ชีวิตนั้นก็เป็นอารยธรรมที่สามารถเห็นได้จากสื่อโทรทัศน์ หนังสือ โดยตัวเขาเองก็อยากจะปรับ บางสิ่งบางอยากก็อาจเลือนหายไปบ้าง แต่สิ่งที่ชัดเจนอยู่ในขณะนี้ดือเรื่องของภาษา เรื่องรูปแบบและวิธีคิดที่เป็นแบบชาวเล ประเพณีสำคัญคือประเพณีลอยเรือ เรื่องของวิถีชีวิต เช่นเรื่องของการแต่งงาน งานศพ ก็ยังคงอยู่ในสภาพเดิม ยังไม่เปลี่ยนแปลง แต่สิ่งที่หายไปบ้างก็เป็นเรื่องของการแต่งกาย ซึ่งก็จำเป็นต้องตัดไปเลยเพราะความนิยมในเรื่องความทันสมัย การใช้เครื่องใช้ไฟฟ้า การมีสื่อ วีซีดีแทนที่จะมีการร้องรำทำเพลงแบบชาวก็จะหันไปเต้นตามสมัยไปเสียสิ่งนี้ที่เปลี่ยนได้ซึ่งก็เปลี่ยนไปตามยุคตามสมัยก็ไม่อยากล้าสมัย

ด้านเด็กนักเรียนโรงเรียนบ้านเกาะอาดัง บนเกาะหลีเป๊ะต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า รู้สึกภูมิใจที่มีภาษาภาษาเฉพาะถิ่นที่ไหนก็ไม่เคยมี รู้สึกว่าตัวเองมีอะไรที่ไม่เหมือนใครคือภาษา เพราะเป็นภาษาที่เกาะโดยเฉพาะ

ทั้งนี้ก็อยากจะเรียนต่อชั้น ม.4-ม.6 ด้านสายศิลป์ เพราะอยากเก่งด้านภาษาอังกฤษ อยากกลับมาเปิดร้านอาหารที่เกาะนี้ ซึ่งเป็นความฝันมาตั้งแต่ครั้งเด็ก และรู้สึกรักในพื้นที่ อยากจะอนุรักษ์วัฒนธรรมและภาษาเอาไว้สืบสานให้ลูกหลานรุ่นต่อไปได้เรียนรู้ ไม่รู้สึกละอายในภาษาถิ่น เพราะเป็นภาษาที่มีอยู่นานแล้ว และอยากอนุรักษ์เพราะเกิดเป็นชาวเลซึ่งควรภูมิใจและพูดในภาษาที่เรามีและจะสืบทอดภาษาให้แก่รุ่นต่อๆไป และอยากเรียนต่อจนจบหลักสูตรเพื่อกลับมาเป็นครูสอนที่เกาะ เพราะต้องการกลับมาพัฒนาหมู่บ้านตนเอง





กำลังโหลดความคิดเห็น